ศน. จัดกิจกรรม “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” เปิดเสบียงบุญภาคเหนือ กราบพระธาตุดอยกองมู ทำบุญวัดพระนอน ตะลอนใส่บาตรสะพานซูตองเป้ จ.แม่ฮ่องสอน
   

วันที่ 19 กันยายน 2567 เวลา 07.00 น. พระปลัดจิตตพัฒน์ อคฺคปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดภูสมะ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา มอบหมายให้นายธีทัต พิมพา รองอธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ ภายใต้แนวคิด "ครอบครัวหิ้วตระกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน" กราบพระธาตุดอยกองมู ทำบุญวัดพระนอน ตะลอนใส่บาตรสะพานซูตองเป้ ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรม ณ วัดภูสมณาราม อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
     

นายธีทัต พิมพา รองอธิบดีกรมการศาสนา เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้พิจารณาเห็นว่า เพื่อเสริมสร้างศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม ขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรมด้วยการบ่มเพาะปลูกจิตสำนึกให้พุทธศาสนิกชนรักและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติ ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา ฟื้นฟูประเพณีเข้าวัดปฏิบัติธรรม ในวันธรรมสวนะกลับคืนสู่สังคมไทย รวมทั้งเป็นการขยายโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เจริญจิตตภาวนา นอกเหนือจากวันธรรมสวนะ และในโอกาสต่างๆแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจพร้อมทั้งกระจายรายได้ให้กับท้องถิ่นและชุมชนรอบวัด โดยนำเอามิติด้านศาสนามาเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนตามนโยบาย One Family One Soft Power จึงได้จัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” กราบพระธาตุดอยกองมู ทำบุญวัดพระนอน ตะลอนใส่บาตรสะพานซูตองเป้ ในวันที่ 19 กันยายน 2567 ณ สะพานซูตองเป้ วัดภูสมณาราม อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งนอกจากจะขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรมแล้วยังเสริมสร้างความอบอุ่นและความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน และสามารถนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต 
     

รองอธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อว่า ภายในงานดังกล่าว ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม และมีการส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงนำสินค้าวัฒนธรรมของชุมชนมาจัดจำหน่าย อาทิ อาหารพื้นเมือง เสื้อผ้า ของที่ระลึก และผลิตภัณฑ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เกิดกระแสเงินหมุนเวียนขึ้นในชุมชนรอบวัด เป็นการส่งเสริม soft power ในมิติศาสนา ด้วยพลังศรัทธาจากท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากจากทุนทางศาสนาและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมเข้าวัดทำบุญถวายเพลพระ และถวายเครื่องสมณบริขารและเครื่องอุปโภคบริโภคแด่พระภิกษุสามเณรที่ประสบภัย ณ วัดพระนอน ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน โดยมี พระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เนื่องจากได้รับรายงานว่า วัดพระนอนเป็นพื้นที่ประสบภัย (อัคคีภัย) กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ซึ่งมีภารกิจส่งเสริมสนับสนุน บรรเทาความเดือดร้อนจากภัยต่าง ๆ และความขาดแคลนในเบื้องต้นของพระภิกษุสามเณร ให้มีความเป็นอยู่ตามสมควรแก่สมณภาวะ พร้อมกันนี้ ได้ถวายเครื่องสมณบริขารและเครื่องอุปโภคบริโภคแด่พระภิกษุสามเณรที่ประสบภัยและขาดแคลนอีก จำนวน 4 วัด ได้แก่ วัดนาป่าแปก ตำบลหมอกจำแป่ วัดม่วยต่อ ตำบลจองคำ วัดศิลาหลวงเรไร ตำบลปางหมู วัดผาอ่าง ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นการเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น เหมาะสมตามเหตุการณ์ สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ตามปกติ
     

สำหรับสะพานซูตองเป้ เป็นสะพานไม้ไผ่มีความยาวประมาณ 800 เมตร เชื่อมระหว่างวัดภูสมณารามและหมู่บ้านกุงไม้สัก ต.ปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ทอดข้ามทุ่งนาและลำน้ำแม่สะงา เป็นสะพานที่พระสงฆ์ สามเณร และชาวบ้านร่วมศรัทธากันสร้าง โดยแรกเริ่มเกิดจากการอธิษฐานของพระสงฆ์ที่จะสร้างเส้นทางเพื่อใช้เดินบิณฑบาตไปยังบ้านกุงไม้สักได้โดยง่าย ชาวบ้านที่มีศรัทธาได้นำเสาบ้าน เสารั้วเก่า ๆ ที่เหลือใช้มาถวายวัดและร่วมกันสร้างสะพานนี้ขึ้นจนสำเร็จดังคำอธิษฐานไว้ จึงตั้งชื่อว่า “ซูตองเป้” ซึ่งเป็นภาษาไทยใหญ่ มีความหมายว่า “อธิษฐานสำเร็จ” นับว่าเป็นสะพานไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นศูนย์รวมศรัทธาสำคัญของศาสนิกชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียง ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสความสวยงามทางธรรมชาติและชมทิวทัศน์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาล ตลอดจนพากันไปยืนอธิษฐานบนสะพานเพื่อให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่พึงปรารถนา นอกจากนี้ ยังมีศาสนสถานที่สำคัญและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เช่น วัดพระธาตุดอยกองมู เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ที่ดอยกองมู เป็นปูชนียสถาน ประกอบด้วย พระธาตุเจดีย์ ศิลปะไทใหญ่-พม่า จำนวน 2 องค์ ประกอบด้วย พระเจดีย์องค์ใหญ่สร้างโดย จองต่องสู่ เมื่อ พ.ศ. 2403 เป็นที่บรรจุพระธาตุของ พระโมคคัลลานะ เถระ พระอัครสาวกเบื้องซ้าย ซึ่งนำมาจากเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ส่วนพระธาตุเจดีย์องค์เล็กสร้างเมื่อ พ.ศ. 2417 โดยพระยาสิงหนาทราชา เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก บรรจุพระธาตุของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา ซึ่งนำจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า,  วัดจองคำ ได้รับกลิ่นอายจากศิลปะไทใหญ่อย่างชัดเจน โดยเฉพาะองค์พระเจดีย์ หรือที่ชาวไทใหญ่เรียกกันว่า “กองมู” ในองค์พระเจดีย์ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้, วัดจองกลาง มีพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งจัดแสดงวัตถุโบราณมากมาย เช่น ตุ๊กตาแกะสลักทั้งรูปคนและรูปสัตว์หลายร้อยตัวที่บอกเล่าถึงเรื่องราวในพระเวสสันดรชาดกโดยช่างฝีมือชาวพม่า เป็นต้น
     

รองอธิบดีกรมการศาสนา กล่าวทิ้งท้ายว่า กิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” เป็นการขับเคลื่อน Soft Power ด้านเฟสติวัลและด้านท่องเที่ยว ด้วยมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้ไหว้พระเสริมสิริมงคลแก่ตนและครอบครัวเข้าวัดใกล้ชิดพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการเรียนรู้ผ่านมุมมองของการถ่ายภาพ ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้เยาวชนได้สัมผัสวัฒนธรรมไทยในมุมมองใหม่ ด้วยการผนวกเทรนด์ของสังคมปัจจุบันเข้ากับการท่องเที่ยวในมิติทางศาสนา และยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนโดยรอบวัด ทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ เช่น ชุดอาหารใส่บาตร พวงมาลัย ดอกไม้ไหว้พระ โรงแรมที่พัก ร้านค้า ร้านขายของที่ระลึกโดยรอบวัด ร้านอาหาร คาเฟ่ ตลอดจนรถโดยสารสาธารณะ ส่งเสริมให้ประชาชนสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทยในอดีต ด้วยการเข้าวัดในวันธรรมสวนะเพื่อทำบุญ ตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ สมาทานรักษาศีล สวดมนต์ไหว้พระ ฟังพระธรรมเทศนา เจริญจิตตภาวนา และสนับสนุนสินค้าของชุมชนบริเวณรอบวัด เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้กับประชาชนและชุมชนอีกด้วย