วันที่ 19 ก.ย.2567 เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ประสบอุทกภัยว่า กรณีการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย โดยไม่เก็บค่าน้ำ ค่าไฟเฉพาะเดือนก.ย.นั้น อยากให้ขยายกรอบเวลาช่วยเหลือออกไปมากกว่า 1เดือน ขณะที่การจ่ายเงินเยียวยาค่าซ่อมแซมบ้านกรณีได้รับความเสียหายรุนแรงสูงสุด 230,000บาท การจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม 5,000-9,000บาท ตามระยะเวลาที่ถูกน้ำท่วม มีขั้นตอนยุ่งยาก กว่าจะได้เงินเยียวยาต้องรอ 90วัน อยากให้เร่งดำเนินการโดยเร็วกว่านี้  และอยากให้รัฐบาลเจรจาธนาคารต่างๆเพื่อพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ประชาชน รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นจ่ายเงินเยียวยาช่วยผู้ประสบภัยอีกทาง นอกจากเงินเยียวยาจากรัฐบาล นอกจากนี้อยากทราบว่า รัฐบาลจะมีมาตรการรับมือความเสี่ยงพายุซูริกระหว่างวันที่ 19-23ก.ย.นี้อย่างไร ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินมีความคืบหน้าอย่างไร และการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเพื่อให้คนและเครื่องมือมีความพร้อมมีการดำเนินการหรือไม่


ด้านน.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ตอบกระทู้ถามสดแทนนายกฯว่า รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนช่วยประชาชนอย่างทันทีทันใด ในส่วนที่จะไม่เรียกเก็บค่าไฟผู้ประสบอุทกภัยเดือนก.ย.นั้น จะพิจารณาตามสถานการณ์จริง ถ้ายังมีปัญหารุนแรง ประชาชนยังไม่ฟื้นตัว ก็สามารถปรับขยายมาตรการได้ ขอให้สบายใจ รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจในการแบ่งเบาภาระประชาชน ส่วนเงินเยียวยา 5,000-9,000บาท ที่ใช้เวลาจ่ายเงิน 90 วัน  เป็นระยะเวลาตามกระบวนการราชการกำหนดกรอบไม่ให้เกิน 90 วัน แต่จะเร่งจ่ายเงินให้เร็วกว่านั้นแน่นอน เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีมาตรการฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งการสนับสนุนพันธ์ข้าว พืชไร่ ในการเพาะปลูก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กังวลใจอยากให้เยียวยาเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนพอใจมากที่สุด

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า ส่วนระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน ยืนยันมีการเตือนกันแทบทุกระยะที่น้ำขึ้น แต่ข้อมูลอาจไม่ถึงประชาชน ทำให้ต้องเร่งทำงาน จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ ต้องหาทางออกพัฒนาระบบให้ดีขึ้น จะต้องทำระบบเตือนภัยฉุกเฉินให้ประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน  ขณะนี้ปภ.อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้างวางระบบเตือนภัยฉุกเฉิน เพื่อส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังกระทรวงดีอี

“คาดว่าจะเสร็จสิ้นกลางปี2568 ยอมรับว่าช้า แต่ต้องเข้าใจกระบวนการปฏิบัติของฝ่ายปฏิบัติที่ต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบราชการทุกขั้นตอน แต่จะพยายามเร่งมือให้เร็วกว่านี้ เพื่อให้ก่อนกลางปี2568 จะมีระบบเตือนภัยฉุกเฉินใช้ในการเตือนภัยพิบัติในพื้นที่เกิดเหตุ  ขอให้วางใจเชื่อมั่นรัฐบาลว่า ระบบเตือนภัยในปัจจุบัน ทุกคนไม่ว่าจะมีมือถือหรือไม่มี จะได้รับการแจ้งเตือนภัยเรื่องภัยธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกัน”น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว