รัฐบาลตั้งวอร์รูม คณะทำงาน แก้ปัญหาน้ำท่วม แจ้งเตือนภัยล่วงหน้า “ประเสริฐ”เตรียมหารือ”คลัง”ใช้แอปฯ “ทางรัฐ ”จ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม “อุตุฯ”เตือนภัยพายุดีเปรสชั่นถล่มทั่วไทย
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 ก.ย.67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 1/2567 จากนั้น นายภูมิธรรม แถลงภายหลังการประชุมว่า ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องสำคัญคือ 1. ติดตามประมวลข้อมูลสถานการณ์และบูรณาการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาฝเพื่อให้สำนักงานสถานการณ์กับสู่สภาวะปกติ 2. บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และคาดการณ์ วิเคราะห์สภาพสภาพอากาศ จากการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อการแจ้งเตือนสร้างการรับรู้
3. ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การเตรียมที่พักอาศัยการจัดส่งอาหารและอุปกรณ์ยังชีพอย่างเพียงพอ 4. เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนรับทราบทันต่อเหตุการณ์ 5. เชิญหน่วยงานและบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหา 6. รายงานผลการดำเนินงาน ตามที่ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการศูนย์มอบหมาย
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า ที่จะเกิดขึ้น เราคาดว่า ฝนและพายุที่จะเข้าในภาคเหนือและภาคอีสานภายในกลางเดือนต.ค. น่าจะหมดลง ส่วนภาคกลางก็จะค่อยๆหลากไป ประมาณเดือนต.ค.หรืออาจจะช้ากว่านั้น พายุฝนอาจจะเกิดขึ้นที่ภาคใต้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เราจะดำเนินการเฉพาะหน้าในการจัดการปัญหาต่อเนื่อง จนจบภายในปีนี้ และเชื่อว่าไม่น่ามีผลกระทบกับประชาชน โดยจะใช้ห้องประชุมนี้เป็นวอร์รูมในการประสานงานต่างๆใครมีปัญหาอะไรสามารถแจ้งมาที่ศูนย์นี้ได้ทันที
ในการประชุมได้มีการตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมา และในที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ได้อนุมัติงบประมาณ 3,000 ล้านบาทในการเข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ซึ่งเป็นการยืนยันมติในกรอบเดิมเพื่อให้ประชาชนได้สามารถเข้าถึงเพื่อให้ประชาชนสามารถได้เข้าถึงการดูแลเยียวยาอย่างทันท่วงที แต่กรอบนี้เราทราบกันดีว่าเป็นกรอบเดิมที่ใช้ทำงานกันอยู่ แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อปัญหาประชาชน จึงได้ตั้งคณะทำงานมาชุดหนึ่ง เพื่อหาข้อสรุปในการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมจากสิ่งที่ได้ให้ไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เป็นคณะที่ให้ไปศึกษาดูว่าทั้งรูปแบบปริมาณและจำนวนปริมาณที่ดูแลประชาชนจะสามารถจบได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อจะนำเสนอให้ครม.มีมติเห็นชอบในการที่จะดูแลให้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการตั้งคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ โดยจะมีกระทรวงดิจทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมประชาสัมพันธ์และตัวแทนสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะใช้กรมประชาสัมพันธ์เป็นแม่ข่ายในการดำเนินการตรงนี้ทั้งหมด ในการดูแลประชาชนให้จบภายใน 1 เดือนนี้ และจะมีการชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะๆ ตอนนี้ตนอยากให้ทุกฝ่ายพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ประชาชน เพราะทุกข์ของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ถ้าเราสามารถหลีกเลี่ยงได้ ในการที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานมีกำลังใจในการทำงานก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ตอนนี้รัฐบาลก็ให้กำลังใจคนที่อยู่หน้างานทั้งหมด
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งจะมีทั้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA ) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมอุตุนิยมวิทยา โดยให้กระทรวงดีอีรับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งเราสามารถตรวจทิศทางของลม และมรสุมที่เข้ามาได้ จะได้เตือนภัยให้ประชาชนรู้ล่วงหน้า การทำงานของเราจะต้องใช้วิธีการเยียวยาและป้องกัน ซึ่งนายกฯ สั่งการว่า ทรัพย์สินและประชาชนเป็นความสำคัญอันดับแรก โดยจะมีหน่วยเฉพาะหน้าจะเข้าไปดำเนินการอันดับแรก วิธีการทำงานของเราคือให้หน่วยราชการทุกหน่วยที่อยู่หน้างาน ไปช่วยดูแลจัดการประชาชนอย่างเต็มที่ และแจ้งมาที่ศูนย์ ตอนนี้ทุกหน่วยจัดกำลังของตนเองเข้า ไปดูแลทั้งหมดแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาให้จบภายใน 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่งให้ประสบความสำเร็จ
ผู้สื่อข่าวถามว่า พายุครั้งนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมน้ำไหลอีก เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากมีได้อยู่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ริมตลิ่งอาจจะล้นมากหน่อย เมื่อถามว่า ประชาชนต้องยกของขึ้นที่สูงก่อนหรือไม่ หรือจะต้องรอการแจ้งเตือนจากภาครัฐ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราจะดำเนินการทันที ซึ่งการการแจ้งเตือนมีอยู่แล้วโดยเฉพาะพื้นที่ไหนที่มีความเสี่ยง เพื่อที่จะดูแลประชาชน ซึ่งจริงๆเราอยากเห็นการทำนายของกรมอุตุนิยมวิทยาที่เป็นลักษณะที่เป็นที่เฉพาะด้วย ไม่ใช่ว่าจะพูดภาพกว้างอย่างเดียวอยากให้มีการชี้เป้าพวกเราก็จะได้ทำงานง่าย
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อเป็นช่องทางในการเยียวยาจ่ายเงินน้ำท่วมให้กับประชาชน ซึ่งเป็นแนวคิดของนายกรัฐมนตรี ว่า แอปพลิเคชันทางรัฐ สามารถรองรับการลงทะเบียนของประชาชนได้อยู่แล้ว ขณะนี้ศักยภาพในการรองรับลงทะเบียนของประชาชนมากถึงหลายสิบล้านคน ซึ่งล่าสุด การลงทะเบียนโครงการดิจิทัลลอลเล็ต มีมากกว่า 30 ล้านคน ส่วนการจ่ายเงิน และการเยียวยาสามารถทำได้ แต่ต้องเชื่อมกับระบบพร้อมเพย์เข้ามาช่วย ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกระทรวงการคลังอีกครั้ง ต้องรอกระทรวงการคลังลงรายละเอียดในเรื่องนี้ก่อน
ส่วนแอปฯ ทางรัฐ จะเป็นแอปฯ ในการพัฒนากระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า มีแน่นอน เนื่องจากแอปฯ ทางรัฐ เป็นแอปฯ หลัก ต่อไปก็จะเป็นซุปเปอร์แอป ฯ และหลังจากมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ในเรื่องต่าง ๆ แอปฯ นี้ ก็จะการให้บริการภาครัฐในเรื่องอื่น ๆ ด้วย และจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่ใช่เป็นการใช้แบบครั้งคราว เช่นเดียวกับการพัฒนาแอปฯ ก็จะมีอย่างต่อเนื่อง
วันเดียวกัน น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “ดีเปรสชัน” ฉบับที่ 4 (196/2567) ระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น. พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 114.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และคาดว่าในช่วงวันที่ 20–21 ก.ย. จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักมากบางแห่ง และมีลมแรงในช่วงวันที่ 20–23 ก.ย.
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 18–21 ก.ย. ร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่าในระหว่างวันที่ 16 ส.ค.–18 ก.ย. เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 30 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ระยอง ชุมพร ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง สตูล รวม 151 อำเภอ 676 ตำบล 3,596 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 141,387 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 45 ราย และได้รับบาดเจ็บรวม 24 คน ซึ่งปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 10 จังหวัด รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 38 อำเภอ 181 ตำบล 912 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 28,651 ครัวเรือน รายละเอียด ดังนี้
1.เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย และ อ.เมืองฯ รวม 7 ตำบล 43 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,968 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 14 ราย ได้รับบาดเจ็บ 2 คน ระดับน้ำลดลง 2.สุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.กงไกรลาศ รวม 3 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 361 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง 3.พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ และอ.เมืองฯ รวม 7 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 576 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว 4. หนองคาย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สังคม อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ อ.เมืองฯ และ อ.รัตนวาปี รวม 18 ตำบล 77 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,885 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
5.อุดรธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.นายูง อ.น้ำโสม อ.หนองหาน อ.เมืองฯ อ.โนนสะอาด รวม 12ตำบล 34 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 42 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง 6.บึงกาฬ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.โซ่พิสัย อ.บึงโขงหลง อ.เซกา อ.พรเจริญ อ.ปากคาด อ.เมืองฯ อ. บุ่งคล้า และ อ.ศรีวิไล รวม 35 ตำบล 202 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว 7.อ่างทอง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.วิเศษชัยชาญ รวม 3 ตำบล 16 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 346 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว 8.พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน และ อ.บางไทร รวม 77 ตำบล 391 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,617 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
9.ตรัง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ และ อ.วังวิเศษ รวม 4 ตำบล 11 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 102 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว 10.สตูล เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนโดน อ.เมืองฯ อ.ท่าแพ อ.มะนัง และ อ.ละงู รวม 15 ตำบล 103 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,751 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว รถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่างขนาด 200 KVA รถบรรทุกเล็ก รถลากเรือเคลื่อนที่เร็ว เรือท้องแบน อุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ เสื้อชูชีพ จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ พื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในภาคอื่นที่ไม่มีสถานการณ์ภัย เข้าร่วมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ภัยขึ้น
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รายงานเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง และปักหลักช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลังจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยประชาชนสามารถติดตามการรายงานสถานการณ์ ข่าวสารสาธารณภัย ได้ทาง Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X @DDPMNews ติดตามการประกาศแจ้งเตือนภัยได้ทางแอปพลิเคชัน “Thai Disaster Alert” ทั้งระบบ IOS และ Android และหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง