วันที่ 18 ก.ย.ที่รัฐสภา น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน แถลงเปิดเผยผลการประชุม กมธ.ว่า วันนี้มีการพิจารณากรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นการรับเรื่องต่อมาจากกรณีที่ นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. ยื่นหนังสือถึงนายชัยธวัช ตุลาธน อดีตผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดย กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานอัยการ เข้าชี้แจง
น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า ทั้งนี้ที่ประชุมมีวาระการพิจารณา ได้แก่ 1.ทวงถามความคืบหน้าการไต่สวน และการชันสูตรพลิกศพ ที่ยังไม่ได้รับความชัดเจน 2.กมธ.ได้เชิญตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองมาหารือ ซึ่งมีประเด็นที่เห็นตรงกัน คือเสนอหลักการให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร เพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทำได้อย่างลุล่วง 3.กมธ.จะเรียกเอกสารและสำนวนคดีทั้งหมด ทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ ดีเอสไอ กลับคืนมาสู่ กมธ. เพื่อส่งมอบต่อให้กับทนายความ และญาติผู้เสียชีวิต
ด้านนางธิดา กล่าวว่า ตนและคณะประชาชนทวงความยุติธรรม รวมทั้งญาติวีรชน และทนาย ต้องขอบคุณ กมธ.และพรรคประชาชนที่ได้ร่วมกันนำเสนอทำให้เกิดจุดของการที่จะเริ่มต้นทวงความยุติธรรมอย่างเป็นทางการจริงๆ เราไม่รู้ว่ามันจะได้ผลแค่ไหน แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยเราได้มอบหนังสือที่มีรายละเอียดทั้งหมดของผู้สูญเสียให้ กมธ. ตัวเลขที่เราได้แจ้งให้ทราบก็คือ มีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพและศาลวินิจฉัยว่าเป็นการตายโดยกระสุนฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 18 คน และในส่วนที่ศาลวินิจฉัยว่าไม่รู้ว่าใครทำให้ตาย 14 คน แต่อีก 60 กว่าศพไม่มีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ซึ่งแปลว่าไม่สามารถส่งต่อขึ้นฟ้องศาลได้ อันนี้เป็นตอนต้นของกระบวนการยุติธรรมที่ถูกบล็อกในยุคที่รัฐประหาร เพราะก่อนหน้านี้ได้ขับเคลื่อนมาด้วยดี ดังนั้นในที่ประชุมได้มีการขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลรายละเอียดมาเพื่อให้เราสามารถปรับปรุงข้อมูลร่วมกัน และดูว่าจะดำเนินการต่อได้อย่างไร
นางธิดา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในส่วนปลายทางคดีที่ได้เคลื่อนไปแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งในส่วนของนักการเมืองไปหยุดอยู่ที่ ป.ป.ช. ส่วนของทหารก็ไม่รับคำร้อง เพราะต้องส่งไปที่อัยการทหาร ดังนั้นเราหวังว่า กมธ. จะสามารถช่วยแก้เรื่องนี้ได้ เพราะความยุติธรรมเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและเป็นจุดสุดท้ายของความอดทนของประชาชน การก้าวข้ามความขัดแย้งโดยซุกปัญหาไว้ใต้พรม คงไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง สิ่งที่เราทำทั้งหมดไม่ใช่ทำเพื่อทวงอดีต แต่เป็นการทำเพื่ออนาคตไม่ให้มีการฆ่าคนกลางถนนฟรีๆ แล้วไม่มีการชำระคดี อย่างไรก็ตามข้อเสนอของเราที่จะนำคดีไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ยังไม่ใช่ในเวลานี้ แต่ถ้าในประเทศเราหาความยุติธรรมไม่ได้ ตนก็ต้องเดินไปถึงจุดนั้น