18 กันยายน 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 ด้านการบริการภาครัฐระดับดี ประเภทนวัตกรรมการบริการ จากผลงาน “แอปพลิเคชันสร้างสุขภาพที่ดี” หรือ “Life Dee” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสาธารณสุขเข้ากับข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อการบริการกับประชาชนทุกระดับ โดยมีการรับมอบรางวัลฯ จาก ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ กรรมการพัฒนาระบบราชการ กพร. ในงานเสวนาวิชาการและพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 ในหัวข้อ “Transforming Public Service for Sustainability : พลิกโฉมบริการภาครัฐสู่ความยั่งยืน” ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพคเมืองทองธานี

นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่แอปพลิเคชันสร้างสุขภาพที่ดี หรือ Life Dee ได้รับรางวัลเลิศรัฐด้านนวัตกรรมการบริการ และถือเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย ซึ่งที่ผ่านการออกแบบและพัฒนาร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและทีม GISTDA ซึ่งแอปพลิเคชันนี้ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคนไทยในสังคมที่ห่วงใยในเรื่องสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้าง มีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลาย อาทิ การแจ้งเตือนมลพิษของแต่ละพื้นที่เช่น ค่าฝุ่น PM2.5 จากข้อมูลดาวเทียม ค่าคุณภาพอากาศ AQI และ PM10 จากสถานีตรวจวัดภาคพื้นดินของกรมควบคุมมลพิษ ข้อมูลสภาพอากาศที่แสดงข้อมูลฝนและอุณหภูมิ ณ ตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้ของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้ผู้ใช้สามารถวางแผนกิจกรรมประจำวันได้อย่าง GISTDA ได้พัฒนาการใช้แผนที่สถานบริการสุขภาพผ่าน Application “WHERE” ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่จะช่วยค้นหาสถานบริการสุขภาพที่อยู่ใกล้เคียงตำแหน่งผู้ใช้มากที่สุด โดยผู้ใช้สามารถค้นหาสถานบริการสุขภาพตามประเภทสถานพยาบาล พร้อมแสดงรายละเอียดที่อยู่และเบอร์โทรติดต่อได้อย่างถูกต้องแม่นยำ นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ห้องปลอดฝุ่น ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ทางกรมอนามัย และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดทำห้องปลอดฝุ่นในระดับพื้นที่ เพื่อดูแลป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง (หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว) ฟีเจอร์คลินิกมลพิษออนไลน์ มุ่งเน้นให้บริการความรู้ฝุ่น PM2.5 และการดูแลสุขภาพของประชาชน ตลอดจนฟีเจอร์การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการรับสัมผัส PM2.5 พร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตน รวมถึงข้อมูลสาระความรู้เกี่ยวกับฝุ่นและสุขภาพ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเกิดความตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสามารถป้องกันตนเองเบื้องต้น และวางแผนกิจกรรมประจำวันได้

ด้าน นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า รู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่แอปพลิเคชัน Life Dee ได้รับรางวัลนี้ กรมอนามัย มีความมุ่งมั่น และตั้งใจที่อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ผ่านการใช้เครื่องมือที่เข้าถึงง่ายและสามารถใช้ได้กับทุกคน จึงร่วมกับทาง GISTDA พัฒนาแอปพลิเคชันตัวนี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินคาดการณ์และแจ้งเตือนสถานการณ์ PM2.5 ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริหารจัดการ การป้องกัน และเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมกันพัฒนา สร้างการรับรู้ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศกับข้อมูลด้านสาธารณสุข ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม 

โดยกรมอนามัยได้นำ แอปพลิเคชัน Life Dee ไปขยายผลการใช้งานกับหน่วยงานสาธารณสุขในระดับพื้นที่ ได้แก่ สสจ.ทั่วประเทศ 77 แห่ง  สสอ. รพสต. และ อสม. รวมถึง อปท.  ซึ่งมีการวัดผลลัพธ์หลังจากการดำเนินโครงการไปแล้ว 1 ปี พบว่าได้รับผลตอบรับการใช้งานจากในระดับพื้นที่เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นประชาชนกลุ่มเปราะบาง (หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มคนทำงานกลางแจ้ง) และกลุ่มประชาชนทั่วไปทราบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพรายวันในบริเวณที่อยู่อาศัยหรือบริเวณใกล้เคียง สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ และวิธีการดูแลป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ รวมถึงหากมีอาการเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการสุขภาพและบริการการรักษาในโรงพยาบาลในบริเวณใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที กลุ่มบุคลากรสาธารณสุข สามารถใช้ข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังสถานการณ์ PM2.5 ประเมินความเสี่ยงต่อ

รวมถึงสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย การวางแผน และการตัดสินใจในการจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับพื้นที่ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีองค์ความรู้ สามารถนำข้อมูลไปสื่อสารความเสี่ยงให้แก่ผู้ปกครองท้องถิ่นหรือผู้ดูแลท้องถิ่น เพื่อประชาสัมพันธ์องค์ความรู้แก่ชุมชน ลูกบ้าน เฝ้าระวังผลกระทบจากฝุ่นละออง ช่วยลดการเกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ชุมชนมีความรู้ในการดูแลสุขภาพ แจ้งสถานการณ์รวมถึงแนะนำดูแลผู้อยู่ภายใต้การปกครองโดยช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ในระยะถัดไปจะมีการขยายข้อมูลการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพไปสู่เรื่องอื่น ๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ เป็นต้น เพื่อให้การคุ้มครองสุขภาพประชาชนมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สำหรับ ดร.ฌานิกา สุขวัฒนวิจิตร ผู้จัดการโครงการพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อสุขภาวะยั่งยืน กล่าวเสริมว่า จุดเด่นของการบริการนี้ คือ เป็นการต่อยอดแอปพลิเคชันเช็คฝุ่น ที่แรกของประเทศไทย โดยรวมระบบข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ระบบการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ และระบบบริการสุขภาพมาไว้ด้วยกัน ซึ่งประชาชนทุกระดับ สามารถเข้าถึงบริการและข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยที่ผ่านมา GISTDA มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “เช็คฝุ่น” ซึ่งเป็นการบูรณาการข้อมูลเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลปริมาณฝุ่น เพื่อการหลีกเลี่ยงได้เพียงอย่างเดียวแต่พบว่าผู้รับบริการหลายกลุ่มยังไม่สามารถเลียกเลี่ยงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและยังไม่มีการตรวจสอบได้ว่าสุขภาพของตนเองในพื้นที่เสี่ยงนั้นอยู่ในระดับไหน และเมื่อเกิดปัญหาไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงที GISTDA จึงได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ควรจะนำมาต่อยอดในแอปพลิเคชันไลฟ์ดี เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้นและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยปัจจุบันมีผู้รับบริการผ่านแอปพลิเคชัน มากกว่า 6,000 คน และมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 66 ที่ผ่านมาอีกด้วย

นอกจากนั้น เรายังได้รับคัดเลือกจาก UN ให้นำเสนอแนวคิดของการพัฒนาแอปในการประชุม United Nations/World Health Organization International Conference on Space and Global Health ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นการผลักดันแนวคิดไปสู่มาตรฐานระดับโลก ทั้งนี้ ในอนาคตเรายังมีแผนในการขยายผลแอปพลิเคชันไลฟ์ดีในการเฝ้าระวังสุขภาวะในโรคอื่น ๆ ทั้งโรคติดต่อและไม่ติดต่อ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น โรคลมแดด และโรคไข้เลือดออก รวมถึงการเข้าถึงบริการ สาธารณะของกลุ่มผู้พิการ และผู้สูงอายุ อีกด้วย