ถ้อยแถลงของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ความตอนหนึ่งระบุว่า “ผมสงสัยมากทำไมคนไทยกินหมูแพง ทั้งๆที่หมูนำเข้าจากบราซิลที่มาตั้งไกล แล้วมาขายในไทยถูกกว่าหมูในประเทศ ไม่ต้องมองเรื่องเป็นหมูเถื่อน แต่ให้มองว่าทำไมถึงขายถูกกว่าหมูในประเทศ” คำกล่าวเช่นนี้สะท้อนแนวความคิดที่จะทำลายห่วงโซ่การผลิตหมูของเกษตรกรไทยตลอดจนผู้คนนับล้านในห่วงโซ่นี้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
เหตุผลที่หมูบราซิลมีราคาถูกกว่าหมูไทยเป็นเพราะการผลิตหมูในประเทศแถบอเมริกาใต้และยุโรปล้วนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าหมูไทย เนื่องจากประเทศเหล่านั้นเป็นแหล่งเพาะปลูกธัญพืชอันดับต้นๆ ของโลก มีการปลูกพืชในลักษณะเกษตรแปลงใหญ่ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง มีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย แค่พืชวัตถุดิบอย่าง “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ของบราซิลอยู่ที่ กก.ละ 4-5 บาท ขณะที่ของไทยราคาพุ่งไปถึง กก.ละ 10-11 บาท บางช่วงเวลาก็ไปถึง 12-13 บาท แต่ละปีไทยใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราว 8 ล้านตัน ลองคำนวณดูต้นทุนตัวนี้ตัวเดียว ไทยก็มีต้นทุนการผลิตหมูที่สูงกว่าบราซิลถึงเท่าตัวแล้ว ตรงนี้จึงเป็นจุดแรกที่ท่านรัฐมนตรีต้องแก้ไข โดยทำให้ราคาข้าวโพดลงมาใกล้เคียงกับบราซิลให้ได้มากที่สุด จึงจะช่วยให้ราคาหมูซึ่งเป็นผลผลิตปลายทางถูกลงและแน่นอนว่าต้องบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกชนิดรวมถึงลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอื่นๆ ที่ไทยขาดแคลน เช่น ถั่วเหลือง และกากถั่วเหลืองด้วย
ขณะเดียวกันมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารที่ประเทศไทยคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก จึงออกกฎหมายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงโดยเด็ดขาด หากแต่ในแถบอเมริกามีการอนุญาตให้ใช้อย่างกว้างขวางเพื่อเพิ่มเนื้อแดงในหมู เป็นการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรของเขา ขณะที่เทคนิควิธีการเลี้ยงหมูของไทยยังมีมาตรฐานสูงทำให้หมูไทยไม่เหม็นสาปเหมือนหมูยุโรป-อเมริกา ใครที่เคยเป็นนักเรียนนอกแถบนั้นล้วนทราบดี
นอกจากนี้ หากท่านศึกษาให้ดีจะพบว่าแต่ละประเทศล้วนให้ความสำคัญและปกป้องเกษตรกรของเขา ดังเช่นที่สหรัฐฯ ไม่ยอมรับไก่บราซิลที่มีราคาถูกที่สุดในโลก เพื่อไม่ให้เข้าไปตีตลาดไก่ในสหรัฐ หรือญี่ปุ่นที่ขายข้าวญี่ปุ่นกันประมาณกก.ละกว่า 100 บาท ก็ไม่ยอมนำเข้าข้าวไทยที่กก.ละกว่า 30 บาท เพื่อปกป้องชาวนาของญี่ปุ่น แล้วเหตุใดรัฐมนตรีของไทยจึงคิดตรงข้าม และปฎิเสธที่จะปกป้องเกษตรกรผู้ผลิตอาหารให้ประชาชนในชาติ
อีกทั้งถ้ามองในมุมของการพัฒนา แทนที่จะเอาเงินออกไปซื้อของนอกประเทศ สู้เราพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูให้ทัดเทียม “อุตสาหกรรมไก่” ที่ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันยกระดับคุณภาพการผลิต เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก จนเนื้อไก่กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท ไม่ดีกว่าหรือ?
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงเรื่องใหญ่อย่างการยกระดับอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ ก็ขอฝากท่านรมต.ให้ทบทวนแนวความคิดก่อน ว่าหากจะให้ผู้บริโภคซื้อหมูได้ราคาถูกลง ต้องไม่ใช่การเปิดประเทศนำเข้าหมูนอกมาทำลายอาชีพเกษตรกรและประชาชนในห่วงโซ่นี้ แต่ควรใช้การ “บริหารจัดการต้นทุน” การผลิตเนื้อหมูในแต่ละข้อต่อของห่วงโซ่การผลิตให้ต่ำลงจนใกล้เคียงกับประเทศบราซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อต่อกลุ่มแรกหรือกลุ่มต้นน้ำ ซึ่งขอถือโอกาสนี้อธิบายห่วงโซ่การผลิตหมูอย่างย่อๆ ดังนี้
กลุ่มแรก : เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ >> พ่อค้าพืชไร่ >> โรงงานอาหารสัตว์ >> กลุ่มนี้ถือเป็นต้นน้ำของการเลี้ยงหมู โดยเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รำข้าว มันสำปะหลัง ฯลฯ ล้วนอยู่ในกลุ่มนี้หมด เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผู้ปลูกข้าวโพดจะขายข้าวโพดให้แก่พ่อค้าพืชไร่นำไปกำจัดความชื้น แล้วรวบรวมขายให้กับโรงงานอาหารสัตว์ จากนั้นโรงงานอาหารสัตว์จะกระจายอาหารสัตว์ไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ในขั้นตอนวัตถุดิบอาหารสัตว์นี้ ถือเป็นต้นทุนหลักของการเลี้ยงหมู คิดเป็นสัดส่วนถึง 65%
กลุ่มถัดมา : เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู >> โรงเชือด >> จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยในช่วงเวลาปกติ คาดการณ์กันว่ามีอยู่ราวๆ 2 แสนราย ในขั้นตอนของการเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมู ต้องมีลูกหมูสายพันธุ์ดี แข็งแรง เป็นผลผลิตตั้งต้นให้เกษตรกร จากนั้นยังต้องมีโรงเรือนที่ดี มีระบบป้องกันโรคที่เข้มงวด ที่สำคัญต้องเข้าสู่ฟาร์มมาตรฐานกรมปศุสัตว์ เพื่อให้ทุกปัจจัยส่งเสริมผลการเลี้ยงที่ดี ได้มาตรการอาหารปลอดภัยตามข้อกำหนดของรัฐ เมื่อได้หมูขุนตามขนาดที่ตลาดต้องการแล้ว ก็จะนำหมูเข้าโรงชำแหละ แล้วนำชิ้นส่วนเนื้อหมูเข้าสู่กระบวนการขาย
กลุ่มสุดท้าย : จุดจำหน่ายร้านค้าส่ง >> ตลาดสด/เขียง >> ร้านอาหาร >> ผู้บริโภค ในขั้นตอนของการขายก็จะเหมือนสินค้าทั่วไป เมื่อหมูถูกชำแหละเป็นชิ้นส่วนแล้ว จะมีการขนส่งเข้าสู่ศูนย์ค้าส่งขนาดใหญ่ / ตลาดค้าส่ง แล้วกระจายสู่ร้านค้าปลีก / เขียง / ร้านอาหาร และถึงมือผู้บริโภคในที่สุด
เห็นข้อต่อของทั้งห่วงโซ่แล้ว ท่านรัฐมนตรีจะบริหารจัดการต้นทุนพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์เหล่านี้ได้หรือไม่ ก็คงขึ้นอยู่กับความสามารถของท่านแล้ว ไม่แน่ว่านี่จะเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ราคาข้าวโพดไทยใกล้เคียงกับบราซิลซึ่งจะถือว่าเป็นความสำเร็จชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลแพทองธารได้เลยทีเดียว ยิ่งถ้าหากท่านสามารถเปิดตลาดส่งออกไก่เนื้อไปยังสหรัฐอเมริกาได้ในขณะที่เขาปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ของเขาสุดชีวิต ท่านก็คงถูกบันทึกให้เป็น “ซูเปอร์ รมว.พาณิชย์” ของประเทศไทยไปตลอดกาล
โดย : สมคิด เรืองณรงค์