วันที่ 18 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่อาคารเกษตรภิวัฒน์ ฟาร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา รศ.ดร.อนันต์  ทองระอา อธิการบดี มทส.พร้อม ผศ.ดร.อารักษ์  ธีรอำพน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและคณะทำงาน เปิดตัว “ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรม” ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice ; GAP) ทำให้ได้ไข่ผำ สด สะอาดได้มาตรฐาน ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคและคำนึงถึงการจัดการฟาร์มแบบ Bio-Circular-Green ด้วยการนำไข่ผำที่ในอดีตเป็นเพียงผักพื้นบ้านมายกระดับให้เป็นผักเศรษฐกิจใหม่และพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชมูลค่าสูง การใช้ทรัพยากรการผลิต อาทิ น้ำเลี้ยง น้ำล้าง ปุ๋ย และแรงงานน้อย ขณะที่ทรัพยากรการผลิตบางส่วนสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้อีก จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในปัจจุบันไข่ผำถูกมองเป็น Super Food  Future Crop เพราะมีฤทธิ์ทางเภสัชมากและคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะโปรตีน หากเลี้ยงด้วยเทคโนโลยีที่ มทส. แนะนำสามารถให้โปรตีนสูงถึง 61.7% ของน้ำหนักแห้ง ไข่ผำเป็นพืชน้ำที่จัดการด้านเขตกรรมได้ง่าย ศัตรูน้อย แตกหน่อเร็ว อายุเก็บเกี่ยวสั้น จึงทำรอบเลี้ยงได้ง่ายและได้ถี่ หากผู้เลี้ยงมีการจัดการฟาร์มและการตลาดที่ดีจะสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น ไข่ผำเหมาะเป็นโรงงานผลิตพืชอาหารโปรตีนสูงสำหรับครัวเรือน ชุมชนและอุตสาหกรรมอาหารในระดับชุมชนแลภูมิภาคทั่วโลก

 

ด้านผศ.ดร.อารักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า กระแสการให้ความสนใจบริโภค “ไข่น้ำ” หรือ “ไข่ผำ” (Wolffia) ถูกมองเป็น Future Food จัดเป็นอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  “ไข่ผำ” มีจุดเด่นคือ ย่อยและดูดซึมง่าย ใยอาหารสูง แคลอรี่และไขมันต่ำ ไขมันดีมีมากกว่าโปรตีนสัตว์ เหมาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ควบคุมค่าคอเลสเตอรอล ผู้ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยโปรตีนจากสัตว์ได้ กลุ่มผู้สูงวัยที่ต้องการโปรตีนเสริมมวลกล้ามเนื้อแต่ย่อยง่าย กลุ่มผู้มีปัญหาระบบขับถ่าย เป็นต้น  

 

 

โดย มทส.ทำการวิจัยและบริการวิชาการเกี่ยวกับ “ไข่ผำ” ตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน เริ่มจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไข่น้ำปลอดภัยแบบใช้น้ำน้อยทั้งน้ำเลี้ยงและน้ำล้าง ศึกษาสภาพแวดล้อมการเลี้ยงไข่ผำแบบบ่อลอยในระบบเปิด กึ่งปิดและระบบปิด การเลี้ยงด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยไฮโดรโปนิกส์ การเลี้ยงในแนวระนาบและแนวตั้ง การเลี้ยงภายใต้สภาพแสงแดดและแสงไฟเทียม ขณะที่เทคโนโลยีการแปรรูปเน้นการหาสภาวะที่เหมาะสมการทำไข่น้ำอบแห้งพร้อมใช้และการพัฒนาอาหารจากไข่ผำ ศึกษาสัณฐานวิทยาของไข่ผำซึ่งเป็นพืชดอกที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ลักษณะการเจริญเติบโตและการกระจายพันธุ์ จากการสนับสนุนทุนวิจัยของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เพื่อวิจัยและพัฒนาโครงการ “การขยายขนาดระดับการผลิตไข่น้ำปลอดภัยโปรตีนสูงด้วยเทคโนโลยีบูรณาการเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร” จึงเป็นที่มาของ “ฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรม” พัฒนาโดย มทส. เป็นเทคโนโลยีการผลิตไข่ผำปลอดภัยโปรตีนสูงแบบผสมผสาน ประกอบด้วย 5 ระบบหลัก ดังต่อไป

สำหรับ การผลิตไข่ผำปลอดภัยโปรตีนสูงแบบผสมผสาน ประกอบด้วย 5 ระบบหลัก ดังต่อไป 1.ระบบ DFT/AP (Deep Flow Technique with Air Plus) เป็นการเลี้ยงไข่ผำด้วยปุ๋ยไฮโดรโปนิกส์ สูตร SUT-NS6 ระดับความเข้มข้น 0.5 มิลลิซีเมนต์/เซนติเมตร ได้ผลผลิตไข่ผำสดคุณภาพสูง ปลอดภัย โปรตีนสูงมากกว่า 40 % ของน้ำหนักแห้ง มีสีเขียวสม่ำเสมอ ไร้กลิ่นไม่พึงประสงค์  2.ระบบการเก็บเกี่ยวกึ่งอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยว ประหยัดต้นทุนเวลา แรงงานและน้ำ 3.ระบบเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศและน้ำเลี้ยง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการวิเคราะห์ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบในกระบวนการผลิตไข่ผำของฟาร์มได้อย่างแม่นยำ  4.ระบบทำความสะอาดไข่ผำสด เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ไข่น้ำ สด สะอาด ปลอดภัย พร้อมใช้และยืดอายุการเก็บรักษา การวางจำหน่าย โดยใช้ทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด และมีการวางระบบน้ำล้างไปใช้ประโยชน์ในส่วนอื่นของฟาร์มต่อไป 5.ระบบการอบแห้งและทำผง มีการศึกษาสภาวะการอบไข่ผำให้แห้งโดยยังคงให้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูง สีไข่ผำเขียวสม่ำเสมอ ระดับความชื้นของไข่ผำอบแห้งเป็นไปตามความต้องการของการใช้ประโยชน์ 

ซึ่งฟาร์มไข่ผำต้นแบบระดับอุตสาหกรรม โดย มทส.ถูกออกแบบ ติดตั้ง วางผังและวางระบบฟาร์มแบบสั่งตัด  การจัดการฟาร์มง่ายแต่สอดคล้องกับมาตรฐาน GAP การวางผังฟาร์มเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด บนหลักการ waste, 0 mile และ less for mire (ทำน้อยได้มาก) เป็นฟาร์มต้นแบบที่มีกำลังการผลิตบ่อขนาดกลางและขนาดใหญ่สูงสุดเท่ากับ 0.5 ตันสดต่อปีต่อบ่อ 20 ตร.ม และ 2.6 ตันสดต่อปีต่อบ่อ 100 ตร.ม. ตามลำดับ เหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เกษตรกรสูงวัย วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการเกษตรรายเล็กและรายใหม่ สามารถนำต้นแบบนี้ไปขยายผลเชิงพาณิชย์ นอกจากเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้แล้ว ยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบต้นน้ำ/ไข่น้ำปลอดภัยโปรตีนสูงเสถียรสำหรับอุตสาหกรรมอาหารคนและอาหารสัตว์อีกด้วย

ทั้งนี้จากผลสำเร็จจากผลงานวิจัยทำให้ทุกภาคส่วน อาทิ ประชาชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตไข่ผำปลอดภัยโปรตีนสูงเชิงพาณิชย์ของ มทส.   ซึ่งมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของประเทศเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเกษตรแห่งอนาคต ผ่านช่องทางการสัมมนาทางวิชาการ การร่วมพัฒนางานวิจัย การเรียนการสอน การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยการจัดหลักสูตรอบรม การให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เป็นต้น โดย มทส.สร้างโอกาสทางการตลาดของอุตสาหกรรมอาหารโปรตีนจากพืช ด้วยการเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้ผลิตไข่ผำสดพร้อมใช้ไข่ผำอบแห้งตามสั่งกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการวัตถุดิบที่มีความเสถียรทั้งคุณภาพและปริมาณ ในราคาที่แข่งขันกับโปรตีนพืชชนิดอื่นได้  สำหรับประชาชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  ผศ.ดร.อารักษ์ ธีรอำพน อีเมล์ [email protected] โทรศัพท์ 06-3645-6494,  สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส.นครราชสีมา