วันที่ 18 ก.ย.67 ที่ห้องประชุม 108 ชั้น 1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 1/2567  

จากนั้น นายภูมิธรรม แถลงภายหลังการประชุมว่า ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องสำคัญคือ  1. ติดตามประมวลข้อมูลสถานการณ์และบูรณาการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สำนักงานสถานการณ์กับสู่สภาวะปกติ 2. บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และคาดการณ์ วิเคราะห์สภาพสภาพอากาศ จากการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อการแจ้งเตือนสร้างการรับรู้ 

3. ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การเตรียมที่พักอาศัยการจัดส่งอาหารและอุปกรณ์ยังชีพอย่างเพียงพอ 4. เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนรับทราบทันต่อเหตุการณ์ 5. เชิญหน่วยงานและบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหา 6. รายงานผลการดำเนินงาน ตามที่ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการศูนย์มอบหมาย

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ภารกิจในการช่วยเหลือประชาชน เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า ที่จะเกิดขึ้น เราคาดว่า ฝนและพายุที่จะเข้าในภาคเหนือและภาคอีสานภายในกลางเดือนต.ค. น่าจะหมดลง ส่วนภาคกลางก็จะค่อยๆหลากไป ประมาณเดือนต.ค.หรืออาจจะช้ากว่านั้น พายุฝนอาจจะเกิดขึ้นที่ภาคใต้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เราจะดำเนินการเฉพาะหน้าในการจัดการปัญหาต่อเนื่อง จนจบภายในปีนี้ และเชื่อว่าไม่น่ามีผลกระทบกับประชาชน โดยจะใช้ห้องประชุมนี้เป็นวอร์รูมในการประสานงานต่างๆใครมีปัญหาอะไรสามารถแจ้งมาที่ศูนย์นี้ได้ทันที

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในการประชุมได้มีการตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมา และในที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ได้อนุมัติงบประมาณ 3,000 ล้านบาทในการเข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ซึ่งเป็นการยืนยันมติในกรอบเดิมเพื่อให้ประชาชนได้สามารถเข้าถึงการดูแลเยียวยาอย่างทันท่วงที แต่กรอบนี้เราทราบกันดีว่าเป็นกรอบเดิมที่ใช้ทำงานกันอยู่ แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อปัญหาประชาชน จึงได้ตั้งคณะทำงานมาชุดหนึ่ง เพื่อหาข้อสรุปในการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมจากสิ่งที่ได้ให้ไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เป็นคณะที่ให้ไปศึกษาดูว่าทั้งรูปแบบปริมาณและจำนวนปริมาณที่ดูแลประชาชนจะสามารถจบได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อจะนำเสนอให้ครม.มีมติเห็นชอบในการที่จะดูแลให้ 

นายภูมิธรรม กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการตั้งคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ โดยจะมีกระทรวงดิจทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  กรมประชาสัมพันธ์และตัวแทนสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะใช้กรมประชาสัมพันธ์เป็นแม่ข่ายในการดำเนินการตรงนี้ทั้งหมด ในการดูแลประชาชนให้จบภายใน 1 เดือนนี้ และจะมีการชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะๆ ตอนนี้ตนอยากให้ทุกฝ่ายพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ประชาชน เพราะทุกข์ของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ถ้าเราสามารถหลีกเลี่ยงได้ ในการที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานมีกำลังใจในการทำงานก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ตอนนี้รัฐบาลก็ให้กำลังใจคนที่อยู่หน้างานทั้งหมด 

นายภูมิธรรม กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งจะมีทั้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA ) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมอุตุนิยมวิทยา โดยให้กระทรวงดีอีรับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งเราสามารถตรวจทิศทางของลม และมรสุมที่เข้ามาได้ จะได้เตือนภัยให้ประชาชนรู้ล่วงหน้า การทำงานของเราจะต้องใช้วิธีการเยียวยาและป้องกัน ซึ่งนายกฯ สั่งการว่า ทรัพย์สินและประชาชนเป็นความสำคัญอันดับแรก โดยจะมีหน่วยเฉพาะหน้าจะเข้าไปดำเนินการอันดับแรก วิธีการทำงานของเราคือให้หน่วยราชการทุกหน่วยที่อยู่หน้างาน ไปช่วยดูแลจัดการประชาชนอย่างเต็มที่ และแจ้งมาที่ศูนย์ ตอนนี้ทุกหน่วยจัดกำลังของตนเองเข้า ไปดูแลทั้งหมดแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาให้จบภายใน 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่งให้ประสบความสำเร็จ 

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในเรื่องของการแจ้งเตือนภัยประสานงาน จะมีการประสานกับโอเปอเรเตอร์ค่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆ เพื่อจะสามารถเตือนภัยประชาชนได้ทันที โดยกระทรวงดีอีจะเป็นผู้ประสานงาน อย่างไรก็ตามหลังจากการประชุมวันนี้ จะมีการปฏิบัติทันที ห้องนี้จะเป็นห้องวอร์รูมที่ดูแลเรื่องนี้ทั้งหมด ทุกฝ่ายสามารถมาติดต่อเรื่องนี้ได้ ในส่วนของรัฐบาลก็จะมีการบรีฟงานตลอดเวลาและต่อเนื่อง ในส่วนของเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะมีการจะมีการบรีฟสถานการณ์ตลอดเวลาและต่อเนื่อง เพื่อที่จะรายงานให้กับตนและนายกฯ ให้รับทราบ ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ตนมีอำนาจในการสั่งการล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอประชุม และเจ้าหน้าที่สามารถรายงานให้ตนทราบภายหลังได้กับสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า รับทราบถึงพายุที่จะเข้ามาหรือไม่ และมีการเตรียมรับมืออย่างไร เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาชี้แจงว่า วันที่ 20 -22 ก.ย. พายุลูกนี้จะขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นจังหวัดบึงกาฬ นครพนม โดยพายุลูกนี้จะเคลื่อนตัวผ่านประเทศเวียดนามและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  

ทั้งนี้จะมาถึงประเทศไทยบริเวณแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยจะเปลี่ยนเป็นพายุดีเปรสชั่น ซึ่งผลกระทบพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบทั้งหมด หลังจากนั้นจะลดระดับเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ภาคอีสานตอนกลางไปจนถึงภาคเหนือตอนบน จะได้รับผลกระทบมากหน่อย โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตาก เพราะฉะนั้นพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบนจะได้รับผลกระทบมาก ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่มาก ซึ่งภาคอื่นก็ได้รับผลกระทบด้วยเหมือนกันโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตกเกือบทุกจังหวัดจะได้รับผลกระทบด้วย

เมื่อถามว่า ฝนที่ตกลงมาจะไปเติมปริมาณน้ำ ให้มากขึ้นไปอีกหรือไม่ อุติกล่าวว่า เติมอยู่แล้ว บางแห่งอาจจะเกิน 100 มิลลิเมตรเพราะ ตกซ้ำๆ หลายวัน ซึ่งน่าจะเกิน 100 มิลลิเมตรหลายพื้นที่ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเส้นทางที่พายุเคลื่อนผ่าน 

เมื่อถามว่า พายุครั้งนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมน้ำไหลอีก เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากมีได้อยู่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ริมตลิ่งอาจจะล้นมากหน่อย 

เมื่อถามว่า ประชาชนต้องยกของขึ้นที่สูงก่อนหรือไม่ หรือจะต้องรอการแจ้งเตือนจากภาครัฐ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราจะดำเนินการทันที ซึ่งการการแจ้งเตือนมีอยู่แล้วโดยเฉพาะพื้นที่ไหนที่มีความเสี่ยง เพื่อที่จะดูแลประชาชน ซึ่งจริงๆเราอยากเห็นการทำนายของกรมอุตุนิยมวิทยาที่เป็นลักษณะที่เป็นที่เฉพาะด้วย ไม่ใช่ว่าจะพูดภาพกว้างอย่างเดียวอยากให้มีการชี้เป้าพวกเราก็จะได้ทำงานง่าย