วันที่ 18 ก.ย.67 ที่ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานอนุกรรมการของคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักการโยธา เปิดเผยเหตุผลในการเสนอให้ตัดงบประมาณและโครงการบางส่วนของสำนักการโยธาว่า โครงการที่ถูกตัดงบ ปี 2568 คือ โครงการจ้างผู้ควบคุมงานก่อสร้างโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ วงเงินประมาณ 44 ล้านบาท และโครงการจ้างผู้ควบคุมงานก่อสร้างโรงพยาบาลบางนา วงเงินประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบกำหนด ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ผ่านการสร้างโรงพยาบาลลาดกระบังมาแล้วโดยสำนักการโยธาเป็นผู้ควบคุมงานเอง ไม่มีการจ้างผู้ควบคุมงานเพิ่มเติม จึงสงสัยว่า เหตุใดการสร้างโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์และโรงพยาบาลบางนา กทม.จึงต้องจ้างผู้ควบคุมงาน ขณะที่ได้รับคำชี้แจงจาก กทม.ว่า สาเหตุที่ต้องจ้างผู้ควบคุมงานเพราะบุคลากรไม่เพียงพอ ซึ่งสำนักการโยธามีโครงการที่ต้องดำเนินการกว่า 50 โครงการ มีบุคลากรกว่า 100 คน ซึ่งตนมองว่า การควบคุมงานใช้บุคลากรเพียง 1-2 คน และโครงการที่มีก็ไม่ใช่โครงการใหญ่หรือมีความสลับซับซ้อนทั้งหมด จึงเสนอให้ตัดงบประมาณจ้างผู้ควบคุมงาน 2 โครงการดังกล่าวไป และสภากทม.ก็มีมติเห็นชอบ
ส่วนโครงการจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแผ่นดินไหวอาคารสูง สังกัด กทม. วงเงินประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อพิจารณาติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวบนอาคารสูง เช่น โรงพยาบาลสังกัด กทม. เพื่อประเมิน ตรวจสอบโครงสร้างของอาคารว่าสามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้หรือไม่ ตนเห็นว่ายังไม่จำเป็นเร่งด่วน เพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงถึงขนาดนั้น และยังไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงถึงขนาดต้องติดตั้งเครื่องดังกล่าว รวมถึงยังไม่มีโรงพยาบาลใดในประเทศไทยดำเนินการเรื่องนี้ จึงเสนอให้ตัดทั้งโครงการ และสภากทม.ก็มีมติเห็นชอบ
ที่ผ่านมาพบว่า กทม.จ้างที่ปรึกษาและผู้ควบคุมงานในหลายโครงการ ซึ่งตนเห็นด้วย เพราะหลายโครงการต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาควบคุมงาน เช่น โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ เป็นต้น ส่วนโครงการสร้างตึกอาคารทั่วไปตนเห็นว่า กทม.มีผู้เชี่ยวชาญและผู้ควบคุมงานอยู่แล้ว และมีประสบการณ์ดำเนินงานมากมาย จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเสียงบประมาณจ้างผู้ควบคุมงานโครงการลักษณะนี้เพิ่มเติม
ด้านนางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ กล่าวว่า ส.ก.จากพรรคประชาชนทั้งหมด 11 คน โหวตค้านการตัดงบจ้างผู้ควบคุมงานทั้ง 2 โรงพยาบาลดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา ฝ่ายบริหาร กทม.ถูกอภิปรายในสภากทม.เรื่องก่อสร้างล่าช้า จากการสอบถามฝ่ายบริการ กทม.พบว่า ติดขัดปัญหาและรายละเอียดหลายประการ เช่น สำนักการโยธามีภาระงานมาก บุคลากรไม่เพียงพอ และการออกแบบโรงพยาบาลต้องใช้เวลาและความเชี่ยวชาญ เพื่อออกแบบได้รวดเร็ว ไม่เสียเวลาปรับแก้ ฝ่ายบริหาร กทม.จึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยการจ้างผู้ควบคุมงาน และขอขยายเวลาก่อสร้างในปีนี้ เพื่อให้งานก่อสร้างลุล่วงตามกำหนด ไม่ล่าช้า แต่สภากทม.กลับโหวตไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ ดังนั้น คาดว่าเรื่องการก่อสร้างโรงพยาบาลก็จะถูกนำมาอภิปรายว่าล่าช้าอีกในครั้งต่อไป ไม่สิ้นสุด เพราะฝ่ายบริหารกทม.ยังไม่มีทางออก พยายามเสนอแนวทางแก้ไขแล้ว แต่ไม่ได้เสียงตอบรับ จึงสงสัยว่า เหตุผลแท้จริงของการตัดงบดังกล่าว มีนัยแฝงนอกจากการจ้างผู้ควบคุมงานก่อสร้างหรือไม่
"ฝ่ายบริหารกทม.โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง เหมือนถูกบีบไร้ทางออก สร้างช้าก็โดน ของบขยายเวลาเพื่อแก้ไขก็โดน ขณะที่บุคลากรก็ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม กทม.อาจพิจารณาใช้งบกลางทดแทนส่วนโครงการที่ถูกตัดงบได้ แต่เชื่อว่าจะไม่ใช้ เพราะงบมีจำกัด และสามารถอ้างได้ว่ามีการเสนอแนวทางแก้ไขแล้ว แต่สภากทม.ไม่เห็นชอบ การก่อสร้างจึงล่าช้าต่อไป"
นางสาวภัทราภรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแผ่นดินไหวอาคารสูงในสังกัด กทม. ที่ตนเป็นผู้เสนอค้านไม่ให้ตัดโครงการออก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนในโรงพยาบาล 5 แห่ง แต่ก็ถูกคว่ำในสภากทม. รวมถึงโครงการจ้างเหมาเอกชนเก็บขนมูลฝอยทั่วไปไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน เพื่อแก้ปัญหาขาดบุคลากรจัดเก็บขยะมากกว่า 800 คน ก็ถูกโหวตคว่ำอีกเช่นกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ กทม.จะใช้งบกลางดำเนินการหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไร