“กรมทางหลวงชนบท” ขยายถนนชัยพฤกษ์ จ.นนทบุรี ระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร แก้ไขการจราจรติดขัดจากกรุงเทพฯ สู่ นนทบุรี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต

เมื่อวันที่ 18 ก.ย.67 นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการขยายถนนชัยพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี ระยะทาง 6.892 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 84 ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระอุดม สะพานข้ามคลองบางภูมิ และงานขยายผิวจราจร คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2567 โดยใช้งบประมาณรวม 902 ล้านบาท

ถนนชัยพฤกษ์เป็นถนนสายหลักในแนวตะวันออก – ตะวันตก พื้นที่ฝั่งเหนือของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมโยงกับพื้นที่ย่านธุรกิจ และศูนย์ราชการตามแนวถนนแจ้งวัฒนะ เป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร ซึ่งยังพัฒนาไม่เต็มรูปแบบ มีปริมาณจราจรกว่า 40,000 คันต่อวัน เนื่องจากการเจริญเติบโตของการใช้ที่ดินในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่สองข้างทางมีการพัฒนา และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ถนนชัยพฤกษ์มีสภาพการจราจรที่ไม่คล่องตัว และมีแนวโน้มที่จะติดขัดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโครงการก่อสร้างถนนราชพฤกษ์ - ถนนกาญจนาภิเษก (แนวเหนือ - ใต้) แล้วเสร็จ จะทำให้ถนนชัยพฤกษ์สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่จังหวัดปทุมธานีได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการดึงดูดปริมาณจราจรให้เข้ามาใช้เส้นทางถนนชัยพฤกษ์มากตามไปด้วย ทช.จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวโดยมีรูปแบบการดำเนินโครงการก่อสร้างเป็นงานก่อสร้างถนนคู่ขนานระดับดิน ขนาด 2 ช่องจราจร กว้างช่องจราจรละ 3.25 - 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2 เมตร ต่อทิศทางจากเชิงลาดสะพานพระราม 4 ถึงทางแยกต่างระดับถนนราชพฤกษ์ และงานปรับปรุงขยายผิวจราจรช่วงจากทางแยกต่างระดับถนนราชพฤกษ์ถึงถนนบางกรวย - ไทรน้อย พร้อมงานก่อสร้างทางเท้า ระบบระบายน้ำ และระบบไฟฟ้าแสงสว่าง

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการขยายถนนชัยพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี แล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนเดินทางสัญจรไป - มาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะการกระจายปริมาณจราจรออกนอกเมืองในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งได้ทำการขยายช่องจราจรบนถนนชัยพฤกษ์จาก 6 ช่องจราจรเป็น 10 ช่องจราจรตามรูปแบบเต็มโครงการ (Ultimate Stage) ตลอดแนวเส้นทางนั้นจะเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรโดยการใช้พื้นที่ภายในเขตทางเดิมให้เต็มประสิทธิภาพ และเป็นการเสริมโครงข่ายถนนของพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นบนถนนชัยพฤกษ์ได้อีกด้วย