"ฝ่ายค้าน" เผยยังไม่ตัดสินใจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแพทองธาร" ขอรอดูจังหวะและข้อมูลเป็นหลัก ยืนยันไม่มีใบสั่งให้ปิดปากให้ร้ายรัฐบาล เมินดึงพปชร.เข้ากลุ่มฝ่ายค้าน  ด้านนายกฯ ลงนามแต่งตั้งจิรายุนั่งที่ปรึกษาทำหน้าที่พีอาร์ผลงานรัฐบาล ขณะที่"คปท." บุกทำเนียบฯ ต่อต้านระบอบชินวัตร"

     ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 17 ก.ย.67 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดอภิปรายเพื่อตรวจสอบรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 หรือ มาตรา 152 ว่า ต้องดูสถานการณ์อีกครั้ง ทั้งนี้การตรวจสอบรัฐบาลไม่ได้จำกัดอยู่ที่การอภิปรายทั่วไป หรือไม่ไว้วางใจ แต่สามารถตรวจสอบผ่านกระทู้ถามสดได้ ทั้งนี้การอภิปรายนั้นมีกรอบระยะภายใน 1 สมัยประชุม ซึ่งขณะนี้ยังไม่ปิดโอกาส แต่เข้าใจว่าขณะนี้มีเหตุการณ์ภัยพิบัติ รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาก่อน ดังนั้นเมื่อถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมค่อยเปิดอภิปรายสามารถทำได้ อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะอภิปรายแบบไม่ลงมติ หรือไม่ไว้วางใจ สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่เนื้อหาสาระและข้อมูลเป็นหลัก
     
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ฝ่ายค้านโดนวิจารณ์ว่าไม่ตั้งใจทำหน้าที่ เมื่อเทียบกับสมัยรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หากเทียบกัน 1 ต่อ 1 ระหว่างสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี กับสมัย นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และสมัยของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื้อหาการอภิปรายเรามีมากขึ้น ตนคิดว่าไม่ควรเอาการอภิปรายนโยบายไปเทียบกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเป็นคนละระดับกัน ดังนั้นขอให้รอดูดีกว่าหากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
     
เมื่อถามว่า พรรคประชาชนมีใบสั่งห้ามพูดบางเรื่องหรือไม่เช่นเรื่องการครอบงำ นายปกรณ์วุฒิ  กล่าวยืนยันว่า ไม่มีใบสั่ง และที่จริงแล้วหากลองฟังดีๆ ส.ส.ของพรรคมีคนพูดเรื่องการครอบงำหลายคน แต่อาจจะไม่สังเกต ตนยืนยันว่าไม่มีใบสั่งมาทางนี้ แต่อาจจะมีใบสั่งมาทางนั้นที่ไม่ยอมให้เราพูดถึงบุคคลบางคนก็ได้ ส่วนความคืบหน้าการเสนอชื่อผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ตนได้รับการประสานว่ามีการเสนอชื่อไปแล้ว คงใช้ระยะเวลาระดับหนึ่งเหมือนกัน
    
 นายปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวถึงการร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ที่บางส่วนเป็นฝ่ายค้าน ว่า  จริงๆ แล้ว หากพูดว่าจะร่วมกันแล้วก็อาจจะยาก เพราะเราเป็นส.ส.ด้วยกัน แต่ตอนนี้ได้มีการประสานกับวิปรัฐบาลด้วยว่าค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนว่าพรรคพลังประชารัฐ จะมีส่วนหนึ่งที่อยู่ในโควตาพรรคร่วมรัฐบาล อีกส่วนมาอยู่กับพรรคฝ่ายค้าน 
    
 ดังนั้นต้องรอความชัดเจน ซึ่งตอนนี้ฝ่ายค้านพูดคุยแบ่งโควตากันเท่าที่ให้ได้จนกว่าจะได้ความชัดเจนอีกครั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคพลังประชารัฐทั้งพรรคอยู่ฝั่งไหน เพราะเราเข้าใจสถานการณ์ของเขา เนื่องจากเป็นเรื่องการจัดการภายใน เราคงไปก้าวก่ายไม่ได้ เพียงแต่ขอให้ชัดเจนว่าตกลงแล้วอยู่ฝั่งไหนกี่คน เราก็พอที่จะแบ่งสันปันส่วนด้วยความมีน้ำจิตน้ำใจในฐานะเพื่อนส.ส. และหากทราบความชัดเจนว่าอยู่ฝั่งไหนกี่คนก็จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น โดยความชัดเจนดังกล่าวจะเห็นได้จากการลงมติในสภาว่าจะอยู่ฝ่ายค้านกี่คน
    
 มีรายงานว่า น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลเป็นไปด้วยความถูกต้อง รวดเร็วทันต่อสถานการณ์และสามารถสร้างความเข้าใจอันดีให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานของรัฐบาล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
    
 นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้ง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของรัฐบาล และอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอและให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
     
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กองทัพธรรม และศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้นัดรวมตัวหน้าบริเวณทำเนียบรัฐบาล เพื่อต่อต้านระบอบชินวัตร พร้อมเรียกร้องคืนความเป็นธรรมให้กับประเทศไทย โดย สน.นางเลิ้ง แจ้งปิดการจราจร ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกพณิชยการฯ - แยกสวนมิสกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

     ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี  ว่า ตนมาแถลงข่าววันนี้ ในฐานะตำแหน่งที่ปรึกษาของนายรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวที่ที่ประชุมครม.มีมติแต่งตั้งในวันนี้ ซึ่งตนไม่ตื่นเต้น แต่กังวลเพราะเป็นสถานที่ใหม่ อยู่ในทำเนียบรัฐบาลต้องระมัดระวังมากขึ้น ส่วนการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่นๆ ซึ่งรวมถึงโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ที่ประชุมครม.ยังไม่มีมติแต่งตั้งข้าราชการการเมือง เพราะอยู่ระหว่างการกลั่นกรองรายชื่อในการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ และต้องมีการตรวจสอบประวัติอย่างเข้มข้น ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องมีการตรวจสอบประวัติอย่างเข้มข้นถึง 14 หน่วยงาน อาทิ กรมบังคับคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แม้กระทั่งผู้ที่เคยทำงานในองค์การมหาชนหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็ต้องถูกตรวจสอบประวัติอย่างเข้มข้นเช่นกัน โดยตนคาดว่าการประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้าจะทยอยเสนอรายชื่อข้าราชการทางการเมือง และมีมติแต่งตั้งออกมา
  
   ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะให้ นายจักรภพ เพ็ญแข ทำหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ล่าสุดจะเป็นนายจิรายุมาทำหน้าที่ดังกล่าว นายจิรายุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าเปลี่ยนไปได้อย่างไร ที่จริง ใครก็ทำงานได้ สำหรับนายจักรภพให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ขณะที่ นายชัย วัชรงค์ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำปรึกษาเช่นกัน ซึ่งตนก็รับฟังทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ส่วนตนยังรอคำสั่งอย่างเป็นทางการ โดยค่อยว่ากันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
   
  ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมจะตรวจเฉพาะแค่ประวัติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ครั้งนี้เพิ่มการตรวจสอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง กรมบังคับคดี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ องค์การมหาชน สำนักงานที่เป็นทั้งนิติและเป็นนิติบุคคลของผู้ที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งเคยสังกัด