พะเยาอ่วม! น้ำป่าไหลทะลักท่วมบ้านเรือน เร่งอพยพชาวบ้าน-นักศึกษา ออกจากพื้นที่ มท.1ยันควบคุมได้ไม่ต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ ครม. อนุมัติงบกลาง 3 พันล้านบาท ช่วยน้ำท่วม ภูมิธรรม ประสาน สำนักงบ-กฤษฎีกา ปรับฐานเยียวยาช่วยผู้ประสบภัย ขณะที่ สอท. ชี้น้ำท่วมภาคเหนือกระทบเศรษฐกิจ 2.5 หมื่นล้าน GDP หด 0.05%
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุมครม. เห็นตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 และขออนุมัติงบประมาณรายจ่าย งบประจำปี 2567 งบกลางจำนวน 3,045 ล้านบาท โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยช่วยเร่งรัดขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบให้เหมาะสมกับสถานการณ์และลดขั้นตอนเอกสารที่ต้องยื่น เพื่อให้การช่วยเหลือต่างๆเข้าถึงประชาชนโดยรวดเร็ว และในที่ประชุมตนได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการเร่งพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเพิ่มเติมจากกรณีปกติที่ดำเนินการอยู่แล้ว หากมีเรื่องใดมีความจำเป็นต้องเสนอที่ประชุมครม.ก็เร่งให้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงระบบการแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องของงบประมาณช่วยเหลือน้ำท่วม 3,000 ล้านบาท ที่ประชุมครม.มีการอนุมัติแล้วหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อนุมัติเรียบร้อยแล้วตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมา ซึ่งจะพยายามเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งในที่ประชุมครม.ก็ได้มีการกำชับ เรื่องเอกสารต่างๆที่จะทำให้เสียเวลา ก็พยายามให้หน่วยงานต่างๆร่วมมือกันให้ชาวบ้านได้รับเงินรวดเร็วขึ้น
ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานว่า ได้สั่งกำลังพล โดยแม่ทัพแต่ภาคก็ดูแลให้เร็วที่สุด ซึ่งทุกหน่วยงาน ได้ทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะจ.หนองคายเราสามารถอพยพประชาชนออกมาได้จำนวนมากพอสมควร ส่วนเรื่องการเยียวยา ในวันที่18ก.ย.นี้ ตนจะประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ เพราะเงินที่ช่วยเหลือไม่เพียงพอต่อความเสียหาย ซึ่งขณะนี้ กำลังหามาตรการอยู่ระหว่างสำนักงานงบประมาณ สำนักงานกฤษฎีกา และสำนักนายกฯ กำลังดูเรื่องเหล่านี้อยู่
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.พะเยา ว่า ผู้ว่าฯจ.พะเยา ได้รายงานสถานการณ์ว่าควบคุมได้ ไม่ต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ และขณะนี้น้ำเริ่มลดลงแล้ว ขอยืนยันว่า มีมาตรการเตือนภัยทุกรูปแบบ รวมถึงมาตรการเฝ้าระวัง ถ้าประชาชนอยู่ในพื้นที่ ไม่อพยพก็มีการเตรียมพร้อมอย่างดีและมีเจ้าหน้าที่คอยลาดตระเวนดูแลทรัพย์สินให้
เรื่องเงินเยียวยา การชดใช้ความเสียหายตามหลักเกณฑ์ ของกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และเรื่องที่นายกฯให้แนวทางไว้น่าจะเห็นชอบในหลักการแล้ว หรือเรื่องยกเว้นค่าไฟฟ้าพื้นที่ประสบภัย เดือนก.ย.การลดอัตราค่าไฟฟ้า 30% ในเดือนต.ค.
เมื่อถามถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานที่อีก 3 วันมวลน้ำจากจ.หนองคาย จะไหลไปจ.อุบลราชธานี เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องป้องกันได้มีการหารือ กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ซึ่งทางปภ. ทำได้เพียงการบรรเทา เพราะงบประมาณเรื่องการป้องกันขอไปไม่เคยได้ ถูกตัดหมด และตนได้ชี้แจงกับนายกฯไปแล้ว ซึ่งนายกฯก็คงต้องหาวิธีปรับ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมจ.พะเยาว่า น้ำเข้ามาตั้งแต่เวลา 04.00 น. โดยทาง ปภ. ได้แจ้งว่าได้อพยพประชาชนแล้ว ขณะเดียวกันได้แจ้งเตือนไปยังพื้นที่ ที่น้ำจะไปถึง เช่น จ.เลย ที่กำลังมีความเสี่ยงอยู่ และจ.หนองคาย ที่ได้รับผลกระทบแล้ว ซึ่งอาจจะขยายพื้นที่เพิ่มเติม จึงขอให้ ติดตามสถาน การณ์และเชื่อฟังเจ้าหน้าที่ หากได้รับการเตือนขอให้รีบขนย้าย และไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด
ส่วน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ประชุมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย และจังหวัดภาคเหนือตอนบน ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วม และผู้ประกอบการในภาคเหนือตอนบน 25,000-27,000 ล้านบาท
ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการ ค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ เบื้องต้นประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.05% ของ GDP โดยภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด มีมูลค่าความเสียหายถึง 7,168 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 89.6% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 693 ล้านบาท (8.66%) และภาคอุตสาหกรรมเสียหาย 139 ล้านบาท (1.74%) และจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ เชียงราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 3,632 ล้านบาท รองลงมาคือ พะเยา 2,034 ล้านบาท และสุโขทัย 1,359 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะฝนตกหลังเขื่อนที่อาจสร้างผลกระทบเพิ่มเติม
ด้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เลื่อนชำระหนี้ 1 ปี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สาขาในสังกัดในพื้นที่ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2567
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดเหตุระทึกเมื่อช่วงกลางดึก หลังมีมวลน้ำก้อนใหญ่ไหลทะลักเข้าท่วมลำห้วยแม่กาห้วยเคียน บ้านห้วยเคียน หมู่ 16 ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา และไหลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านชุมชนหอพัก ถนนบ้านเรือน บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ฝั่งตะวันตก หมู่ 16 ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา สูงกว่า 2 เมตรโดยเจ้าหน้า ที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ นำผู้อพยพให้ได้รับความปลอดภัย