“เปิดชื่อปธ.กมธ.21 คณะวุฒิฯ" เป็นไปตามโผล็อกสว.กลุ่มสีน้ำเงินเข้าวินทั้งหมด แฉกมธ.พัฒนาการเมืองฯสู้กันเดือดเขี่ย “นันทนา”พ้นทาง จับตา “อังคณา-นิฟาริด” ชิงดำเก้าอี้ตัวสุดท้ายสว.อิสระจะได้สักเก้าอี้หรือไม่ ตะลึง “อลงกต วรกี”ยึดเก้าอี้ประธานกมธ.ติดตามงบประมาณ
วันที่ 17 ก.ย.2567 รายงานข่าวจากวุฒิสภาเปิดเผยว่า วันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายที่เปิดโอกาสให้สว.ได้เลือกแบบสมัครใจใครจะอยู่ในคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาทั้ง 21 คณะ ปรากฏว่า ส่วนใหญ่การเลือกจบลงด้วยดีไม่มีความขัดแย้ง แต่ได้มีการวางตัวประธานกมธ.ไว้ลงตัวแล้ว 20 คณะจาก 21 คณะโดยสว.กลุ่มสีน้ำเงินได้รับการวางตัวเป็นประธานกมธ.เหลือเพียงคณะเดียวที่ยังตกลงกันไม่ได้
รายงานข่าวเปิดเผยว่า กมธ.ที่สู้กันดุเดือดในการเลือกครั้งนี้คือ คณะพัฒนาการเมืองการมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสารีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค มีผู้สมัครมากที่สุดในจำนวนกมธ.21 คณะ คือ 23 คน มีการเกณฑ์คนกันมาเพื่อต้องการให้ฝ่ายตรงข้างพ่ายแพ้ มีการชิงไหวชิงพริบกันดุเดือดกว่ากมธ.คณะอื่นๆ สุดท้ายตกลงกันไม่ได้เพราะต้องเลือกให้เหลือเพียง 18 คนตามข้อบังคับ
ทั้งนี้ ทำให้ผู้สมัครทั้ง 23 คนต้องมาลงคะแนนเลือกกันเองใครได้คะแนนต่ำต้องถูกคัดออก ผลปรากฏว่า สว.กลุ่มอิสระ 5 คน รวมถึง น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ได้ 10 คะแนนต้องออกจากกมธ. ทำให้สว.กลุ่มสีน้ำเงิน และสว.กลุ่มอิสระมีคะแนนเท่ากันฝ่ายละ 9 คน ทำให้ยังไม่มีการวางตัวประธานกมธ.ได้ในครั้งนี้ ต่างจากคณะอื่นที่วางตัวไว้ครบหมดแล้ว จึงต้องไปเลือกใหม่ในครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม สว.กลุ่มสีน้ำเงินหนุนนายนิฟาริด ระเด่นอาหมัด เป็นประธานกมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ขณะที่กลุ่มสว.อิสระหนุน นางอังคณา นีละไพจิตร เป็นประธานกมธ. ดังนั้นการประชุมครั้งหน้าต้องเลือกสว.ที่อาวุโสมากที่สุดมาเป็นประธานชั่วคราว ปรากฏว่า นายนายนิฟาริด อายุ 69 ปีถือว่ามากที่สุด ถ้าลงคะแนนกันใหม่ หากคะแนนเท่ากันประธานชั่วคราวสามารถใช้สิทธิออกเสียงชี้ขาดได้อีก 1 คะแนน จึงต้องจับตามองว่า นายนิฟาริดจะลงคะแนนเลือกตัวเองเป็นประธานการพัฒนาการเมือง หรือไม่
สำหรับประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา 21 คณะประกอบด้วย
1.พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา ประธานกมธ.ทหารและความมั่นคงของรัฐ
2.นายธวัช สุระบาล ประธานกมธ.การเกษตรและสหกรณ์
3.นายชีวภาพ ชีวธรรม ประธานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4.นายกมล รอดคล้าย ประธานกมธ.การศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
5.พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย ประธานกมธ.การกฎหมาย และการยุติธรรม
6.นายกัมพล สุภาแพ่ง ประธานกมธ.การเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง
7. ประธานกมธ.การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสารีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค
8.นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ประธานกมธ.การสาธารณสุข
9.นายพรเพิ่ม ทองศรี ประธานกมธ.พลังงาน
10.พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ประธานกมธ.การบริหารราชการแผ่นดิน
11. นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานกมธ.การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม
12. นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ประธานกมธ.การคมนาคม
13. นายอภิชาติ งามกมล ประธานกมธ.การปกครองท้องถิ่น
14. นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธานกมธ.การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม
15.นายพิศูจน์ รัตนวงศ์ ประธานกมธ.ท่องเที่ยวและกีฬา
16.นายนิเวศน์ เจริญพันธุ์วรกุล ประธานกมธ.เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม
17. นายนิรัตน์ อยู่ภักดี ประธานกมธ.ต่างประเทศ
18.นางเอมอร ศรีกงพาน ประธานกมธ.ศาสนา
19 นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานกมธ.แรงงาน
20.พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ประธาน กมธ.กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต
21.นายอลงกต วรกี ประธานกมธ.ติดตามบริหารงบประมาณ