วันที่ 17 ก.ย.67 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ โพสต์คลิปช่องยูทูป suthichai live หัวข้อ ใครติวนายกฯอิ๊งค์ ร่วม ASEAN Summit? พร้อมระบุข้อความว่า...

ต้นเดือนหน้าระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) และสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ที่สปป.ลาว (ประธานอาเซียนหมุนเวียนในปีนี้) ซึ่งจะมีทั้งผู้นำอาเซียน สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาประชุมร่วมกัน ซึ่งก็จะเป็นเวทีพิสูจน์ความสามารถจริงของผู้นำทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง

ในการประชุมของอาเซียนในวันแรก ผู้นำอาเซียนก็จะแสดงวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำในพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการด้วยคำกล่าวหรือสุนทรพจน์ (speech) ที่น่าสนใจและกินใจผู้ฟัง โดยเฉพาะผู้นำใหม่ที่ขึ้นเวทีนี้เป็นครั้งแรก ก็จะถูกจับตามองเป็นพิเศษ

ในพิธีเปิดนี้ ผู้นำอาเซียนส่วนใหญ่ก็จะอ่านสุนทรพจน์หรือคำกล่าวของตนเองที่ทีมงานได้เตรียมไว้ให้ (prepared speech) แบบคำต่อคำ (verbatim) และหลายประเทศก็จะแจกจ่ายคำกล่าวหรือสุนทรพจน์ดังกล่าวเหล่านั้นให้ผู้สื่อข่าวไว้ล่วงหน้าด้วย

หลังจากพิธีเปิดแล้ว ผู้นำอาเซียนจะประชุมถกเถียงกันแบบปิด (Retreat) โดยไม่มีถ้อยแถลงที่เตรียมมาแบบในช่วงแรกอีกประมาณ 90 นาที ซึ่งในช่วงนี้ ผู้นำแต่ละคนก็จะแสดงตัวตน ความรู้ความสามารถในการสื่อสารและโต้ตอบกับผู้นำคนอื่น ๆ อย่างชัดเจน ทั้งนี้ก็เพื่อผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของชาติตนหรือประเด็นที่ยังเห็นต่างกันอยู่แต่ไม่ได้เปิดเผยให้สื่อมวลชนหรือสาธารณะทราบเพราะอาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ในช่วง Retreat นี้ ผู้นำอาเซียนที่มีประสบการณ์ ก็จะรู้ได้ว่าผู้นำคนไหนเก่งไม่เก่งในเรื่องอะไร คนไหนมีความรู้ดีไม่ดี คนไหนเข้าใจอะไรหรือไม่เข้าใจอะไร อ่อนด้อยกว่าหรือเก่งกว่าขนาดไหน ที่สำคัญคือมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรที่จะต้องชิงความได้เปรียบในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกันต่อไป

เวที Retreat ของอาเซียนแบบนี้ถือได้ว่าเป็นสนามแข่งขันแสดงความสามารถกันในระดับ Asian Games ของการต่างประเทศได้เลยทีดียว

ในวันถัดไปก็เป็นเรื่องการประชุมในประเด็นเฉพาะ (issues specific) นับสิบประเด็น เช่น เรื่องความขัดแย้งในภูมิภาคและในโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาส และการสู้รบในพม่า เป็นต้น รวมทั้งเรื่องความขัดแย้งและการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเฉพาะด้านที่จะต้องถกในรายละเอียด เช่น เรื่องการทุ่มตลาด การขึ้นกำแพงภาษี โลกร้อน ภัยคุกคามไซเบอร์ สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีและโลกดิจิทัลรวมทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำและเรื่องทางสังคมอื่น ๆ ซึ่งก็จะเป็นเวทีเปิดที่ผู้นำทั้งหลายจะได้แสดงความสามารถให้สาธารณะชนได้เห็นอย่างชัดเจน

ในวันสุดท้ายบนเวที East Asia Summit ก็จะมีอีก 8 ประเทศ ทั้งสหรัฐฯ จีน รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มาร่วมประชุมเพื่อผลักดันและปกป้องผลประโยชน์ต่าง ๆ ของตนด้วย

เวที East Asia Summit นี้ จึงเปรียบได้เหมือนเวทีระดับ Olympics ของการเมืองโลกก็ว่าได้ ผู้นำคนไหนเตรียมตัวมาไม่ดี อ่อนด้อยประสบการณ์ มีทีมงานที่ไม่พร้อม ก็อาจจะพลาดท่าถูกนับหลายครั้งหรือถูกน็อคได้ ซึ่งก็จะกระทบไม่ใช่แต่เฉพาะความเป็นผู้นำของตน แต่จะกระทบต่อผลประโยชน์ของชาตินั้น ๆ และของคนในชาตินั้น ๆ โดยรวมด้วย

คุยกันในเรื่องนี้ที่จะเป็นบทพิสูจน์ความสามารถจริงของผู้นำครับ