วันที่ 17ก.ย.67 นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ อดีตผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยได้ โพสต์ข้อความ  ผ่านเฟซบุ๊ก่ว่า  

จากการใช้เวลาตามคดีพี่น้องที่เสียชีวิต ในเหตุสลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งเต็มไปด้วยความซับซ้อน ต้องพูดคุยกับหลายหน่วยงาน และผลักดันให้แต่ละหน่วยงานเชื่อมต่อข้อมูลกัน เพราะเรื่องถูกซุกไว้ใต้พรม ไม่มีการไต่สวนสาเหตุการตายโดยศาลมาตลอด 10 ปี ซึ่งโดยส่วนตัวผมเชื่อว่าคดีนี้น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่ง ของการรัฐประหาร 2557 

บ่ายวันนี้ ผมได้รับแจ้งความคืบหน้า หลังมีการประสานงานกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อมูลโดยสรุป ดังนี้

16 เมษายน 2553  มีมติคณะกรรมการคดีพิเศษ 3/2553 ให้การกระทำผิดทางอาญา กรณีก่อการร้าย การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการอันเกี่ยวกับการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายในช่วงปลายปี พ.ศ.2552 เป็นต้นไปในราชอาณาจักร รวมถึงความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน เป็นคดีพิเศษ 

กรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนในกรณีดังกล่าวไว้แล้ว โดยได้ตรวจสอบ 

1.รายการสำนวนการสอบสวน มีการไต่สวน ในชั้นศาล จำนวน 31 ศพ โดยศาลมีคำสั่งว่าวิถีกระสุนมาจากฝั่งทหาร หรือแนวทหาร รวม 17 ศพ และศาลไต่สวนมีคำสั่งว่า ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ รวม 14 ศพ

2.รายการสำนวนการสอบสวน พบยอด ชันสูตร 68 ศพ โดยพบว่า ทุกสำนวนมีการชันสูตรพลิกศพ ตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว แต่จากการตรวจสอบ ได้มีการชันสูตรพลิกศพโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ที่พบศพ ร่วมกับ แพทย์นิติเวช ทุกราย แต่ไม่ได้มีการดำเนินการไต่สวนการตาย ในชั้นศาล 

เนื่องจากการสอบสวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่ฯ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ที่พบศพจึงไม่ได้ชันสูตร ๔ ฝ่าย ( พงส., อัยการ,ฝ่ายปกครองและแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ) เพื่อส่งศาลไต่สวนการตาย ตามป.วิอาญามาตรา ๑๕๐ วรรคสาม 

อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และสรุปสำนวนเสนอพนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการตามกฏหมาย

โดยพนักงานอัยการ ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องหรืองดการสอบสวน  พร้อมได้ส่งสำนวนการสอบสวน กลับมาที่ คณะพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีภายในอายุความ

ผมมีคำถามในใจหลายประเด็น จะใช้ข้อมูลนี้เป็นสารตั้งต้นใช้ตรวจสอบความถูกต้อง กับข้อมูลที่ฝ่ายประชาชนมีอยู่ และหารือฝ่ายกฎหมาย รวมถึงญาติผู้เสียชีวิต ขับเคลื่อนการติดตามความยุติธรรมต่อไป