"นายกฯ" เยี่ยมรังนกกระจอก สั่งอาหารเลี้ยงนักข่าวทำเนียบฯ บอกชอบก๋วยเตี๋ยวเนื้อเหมือนพ่อ "พร้อมพงศ์" บุกยื่น "ปปง." ตรวจสอบพฤติการณ์-เส้นทางการเงิน "ลุงป้อม-นายโอ๋-ป๊อด" ปมคลิปหลุด เข้าข่ายฟอกเงินหรือไม่ ด้าน อดีตแกนนำ "พิราบขาว" ร้อง กกต.ยุบเพื่อไทย-เอาผิดอาญา "อุ๊งอิ๊ง" อ้างมาตรฐานเดียวกับฟัน "นายกเบี้ยว" ขณะที่ "เรืองไกร" ยื่น กกต.สอบ "นายกฯ-ภูมิธรรม-สุริยะ" ทำ"มินิฮาร์ท" ขณะใส่เครื่องแบบราชการฝ่าฝืนจริยธรรมหรือไม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 ก.ย.67 เวลา 12.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เข้าปฏิบัติภารกิจนายกรัฐมนตรีวันแรก น.ส.แพทองธารได้สั่งอาหารกลางวันเลี้ยงผู้สื่อข่าว และช่างภาพ ประกอบด้วยข้าวขาหมู ก๋วยเตี๋ยวเรือ และไอศกรีม โดยนายกรัฐมนตรี ,นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายเผ่าภูมิ โรจน สกุล รมช.คลัง พร้อม นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เดินลงมาทักทาย พร้อมเยี่ยมห้องปฏิบัติการสื่อมวลชนทั้งสามหลัง รวมทั้งได้สอบถามถึงการทำงาน รวมทั้งได้ไปชมอาหารที่สั่งมาเลี้ยง พร้อมกล่าวว่า "ชอบรับประทานก๋วยเตี๋ยวเนื้อ เหมือนคุณพ่อ โดยเฉพาะร้านเฮ้งชุนเส็ง เนื่องจากคุณพ่อเลี้ยงมา และคุณพ่อชอบทานก๋วยเตี๋ยวเนื้อเช่นกัน"

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ปปง. ขอให้พิจารณาไต่สวนดำเนินคดี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ สส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เป็นเจ้าพนักงานรัฐเรียกรับเงิน เข้าข่ายการกระทำผิดฐานฟอกเงิน และตรวจสอบเส้นทางการเงินพล.อ.ประวิตร รวมทั้ง "นายโอ๋" และ "ป๊อด" (ซึ่งปรากฏชื่อในคลิป) ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น จากกรณีคลิปเสียงหลุด "เรียกรับเงิน" ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ทางรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ช่อง 9 MCOT เมื่อที่ 11 ก.ย.67

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรในฐานะที่เคยเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และเป็นสส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ จึงต้องประพฤติตนโดยยึดถือผลประโยชน์ชาติเหนือกว่าส่วนตน ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

"พูดง่ายๆ พล.อ.ประวิตรต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่จะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่เป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยาซึ่งก็ต้องไม่เกิน 3,000 บาท ที่สำคัญจากบทสนทนาในคลิป น่าสงสัยว่าเงินที่ พล.อ.ประวิตรถามหาเอาจากนายโอ๋ เป็นเงินที่ไม่ใช่เงินที่เกิดจากมูลหนี้อันชอบด้วยกฎหมาย และแม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสุดท้ายแล้วมีการมอบเงินให้กับพล.อ.ประวิตร จริงหรือไม่ แต่ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1246/2510"
นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยอมรับเป็นเสียงตัวเองจริงคุยกับพล.อ.ประวิตรสมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลความมั่นคงและกำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย ในลักษณะขอชื่อ นายขจร ชวโน ทัย เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และปัจจุบันยังมีตำแหน่งอยู่ในกระทรวง ซึ่งการขอคนเพื่อไปบริหารดูแลงบประมาณ เป็นเรื่องมิชอบด้วยกฎหมาย โดยอำนาจแต่งตั้งต้องเป็นปลัดกระทรวงกับ รมว.มหาดไทย และ รองนายกฯ ก็ไม่มีอำนาจแต่งตั้ง

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า วันนี้มายื่นขอให้ ปปง. ตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส ไม่ใช่เรื่องการเมืองตามที่ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐกล่าวอ้าง แต่เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบคลิปดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและควรไปหาไอ้โม่งคนที่นำคลิปมาเผยแพร่ก่อนจะไปฟ้องใครหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในวันพุธที่ 18 ก.ย. ตนจะไปยื่นหนังสือต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่พล.อ.ประวิตรตามจริยธรรม สส. และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมาโหวตนายกรัฐมนตรี ทั้งสมัย นายเศรษฐา ทวีสิน กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อย่างไรก็ตาม ตนจะตรวจสอบทุกพรรค หากมีประชาชนร้องเรียนเข้ามา

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว2006 เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.เรียกร้องให้เอาผิด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามพ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นมาตรา 65(3)(4)และมาตรา66 ประกอบมาตรา 132 วรรคสาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 และมาตรา 21 มาตรา 92(4) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2561 ซึ่งเป็นเหตุให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเพื่อไทยได้

นายนพรุจ กล่าวว่า กรณีที่ กกต.มีมติให้ดำเนินคดีอาญา 2 ข้อหา กับ นายกฤษฎา หลีนวรัตน์ หรือ "นายกเบี้ยว" นายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี จ.ปทุมธานี ฐานทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆและเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด ตามมาตรา65 (3)และ(4)พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 เหตุเกิดจากการจัดฉลองอุปสมบทบุตรชายของนาย กฤษฎา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.67 ซึ่ง กกต.เห็นว่าเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีที่ นายชาญ พวงเพ็ชร์ ได้รับเลือกตั้งมาไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และสั่งให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีใหม่นั้น ตนมองว่าบุคคลที่ปรากฏในงานวันดังกล่าวเข้าข่ายมีความผิดเช่นเดียวกับนายกฤษฎาทุกคน

"จากการจัดงานดังกล่าวทำให้นายชาญโดนใบเหลือง นายกเบี้ยวถูกดำเนินคดีอาญา จึงมาขอให้กกตพิจารณาว่า น.ส.แพรทองธาร ซึ่งอยู่ร่วมงานโดยตลอด และบุคคลต่างๆที่ไปร่วมในงานไม่ว่าจะไปรัฐมนตรีหรือ สส.จะเข้าข่ายมีความผิดเช่นเดียวกับ นายกเบี้ยว หรือไม่ เพราะมันเป็นการผิดจริยธรรมร้ายแรงจัดเลี้ยงจัดมหรสพถ้าปล่อยผ่านจะกลายเป็นบรรทัดฐานว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย"


นอกจากนี้ ยังเห็นว่าที่การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีที่นายชาญได้รับเลือกตั้ง และ กกต.มีมติไม่ประกาศรับรองผลเพราะการเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมนั้น เป็นเหตุให้กกต.พิจารณาเสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเพื่อไทยได้ เนื่องจากการลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีของนายชาญเป็นไปตามมติของพรรคเพื่อไทยตามมาตรา 21 พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง 2561 วันสมัคร นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคก็เป็นผู้พาไปสมัคร การหาเสียงและการจัดเลี้ยงดังกล่าว ทั้ง น.ส.แพทองธารและ สส.ของพรรคก็ไปร่วมซึ่งตามมาตรา 132 วรรคสาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561 กำหนดว่าหากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย มิได้ยับยั้งแก้ไขการกระทำนั้ นเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม กกต.สามารถเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้

"เรื่องนี้จะช้าไม่ได้เพราะกกต.มีมติไปแล้ว สาเหตุแห่งการให้ใบเหลืองนายชาญ สาเหตุแห่งการดำเนินคดีอาญาซึ่งบุคคลที่ปรากฏในงานเลี้ยงฉลองอุปสมบทลูกชายนายกเบี้ยวที่เข้าข่ายกระทำผิดร่วมมีอีกหลายคน ซึ่งผมก็จะมาร้องเพิ่มเติมอีก ที่มาวันนี้ไม่ได้มากล่าวหาแต่มาขอให้กกต.ดำเนินคดีให้สุด แต่ตอนนี้เห็นสั่งให้กกต. ปทุมธานีดำเนินคดีเฉพาะนายกเบี้ยวคนเดียว ผมว่ายังไม่สุด ต้องดำเนินคดีเอาให้สุด ต้องพิจารณาถึงน.ส.แพทองธาร ที่มีส่วนได้เสียในฐานะหัวหน้าพรรคด้วย เพราะปรากฏอยู่ในงานเลี้ยงตลอด นายกเบี้ยวเป็นคนจัดงาน มีการสัมภาษณ์ มีการขึ้นป้าย นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ ลูกชาย ซึ่งเป็น สส.ของพรรคเพื่อไทยด้วย กกต.ก็ควรต้องดำเนินคดีสุดกับทุกคนที่อยู่ในงาน"


ด้าน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เปิดเผยว่า หลังจากยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบนายกรัฐมนตรีชูมือทำมินิฮาร์ทขณะใส่เครื่องแบบปกติขาวถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้วนั้น กรณีดังกล่าว นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ไปยืนยันในรายการคนดังนั่งเคลียร์ของช่อง 8 เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2567 ว่า การทำมินิฮาร์ทขณะใส่เครื่องแบบราชการ ทำไม่ได้

นายเรืองไกร กล่าวว่า เรื่องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ป.ป.ช. สามารถชี้มูลเพื่อส่งให้ศาลฎีกาพิพากษาได้ และ กกต. ก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้น ในวันนี้ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบอีกทางหนึ่งว่า นายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (นายภูมิธรรม เวชยชัย) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทวงคมนาคม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ว่ากรณีชูนิ้วมือทำมินิฮาร์ท ขณะใส่เครื่องแบบราชการชุดปกติขาวถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่

การที่นายกรัฐมนตรี (น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) เป็นผู้เริ่มชักชวนให้คณะรัฐมนตรีที่ถ่ายรูปร่วมกัน ทำท่ามินิฮาร์ทขณะใส่เครื่องแบบราชการชุดปกติขาว และมีรัฐมนตรีหลายคนทำตาม เช่น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (นายภูมิธรรม เวชยชัย) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทวงคมนาคม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่า ทำไม่ได้ ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) กล่าวยืนยันไว้ในทางสาธารณะผ่านรายการคนดังนั่งเคลียร์ ช่อง 8

กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. เข้ามาทำการตรวจสอบอีกทางหนึ่งว่า การชูนิ้วมือทั้งสองข้างทำมินิฮาร์ทถ่ายรูปในขณะใส่ชุดปกติขาวที่ทำเนียบรัฐบาลดังกล่าว ของนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (นายภูมิธรรม เวชยชัย) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทวงคมนาคม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) จะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ส่งผลภาพลักษณ์และกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือความศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ในการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี และเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่

วันเดียวกัน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 1047/2567 เรื่องมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดย ให้ นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฎิบัติราชการแทนรมว.คมนาคม สำหรับงานของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 6 หน่วยงาน ดังนี้ 1.กรมเจ้าท่า (จท.) 2. กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 3. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 4. สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) 5. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) และ 6. บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (รทส.)

ให้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฎิบัติราชการแทนรมว.คมนาคม สำหรับงานของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7 หน่วยงาน ดังนี้ 1. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 2.กรมการขนส่งทางราง (ขร.) 3. บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 5.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 6.บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. (รฟฟท.) 7. บริษัท เอส อาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA)

สำหรับหน่วยงานที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ดูแลโดยตรง ได้แก่ จำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย 1สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 2. กรมทางหลวง (ทล.) 3.กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 4. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 5.การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 6.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือกพท. 7.บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) 8.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ 9.บจ.ไทยอะมาดิอุส เซาท์อีสต์ เอเชีย

นายสุริยะ กล่าวว่า การแบ่งงานให้รัฐมนตรีช่วยฯ 2 คนใหม่ เพื่อให้กำกับดูแลหน่วยงานที่เชื่อมโยงกัน เช่นนางมนพร ให้ดูแล หน่วยงานทางน้ำคือกรมเจ้าท่า การท่าเรือฯ และทางอากาศ มี กรมท่าอากาศยานและวิทยุการบินฯเพื่อให้เชื่อมโยงทางน้ำ และทางอากาศ ส่วนนายสุรพงษ์ก็ให้ดูแลงานทางบก ทั้งกรมขนส่ง บขส. และ ขสมก. ในกลุ่มเดียวกัน

ส่วนการรถไฟฯ ที่เดิมมอบหมายให้นายสุรพงษ์กำกับดูแล แต่ที่ตนได้ขอนำกลับมากำกับดูแลเอง เพราะขณะนี้ประเทศไทยเน้นระบบรางและการรถไฟฯ มีแผนการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งมีเรื่องเร่งด่วนคือ ต้องเร่งรัดติดตามงานก่อสร้างให้เป็นไปตามกำหนดเวลา อีกทั้งจะมีโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ที่จะมีการผลักดันเร่งรัดเสนอคณะรัฐนตรี โดยรัฐบาลจะเร่งลงทุนงานโยธา ส่วนระบบและตัวรถจะใช้รูปแบบร่วมลงทุนเอกชน (PPP) ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการจัดซื้อและให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง

อีกทั้งในปี 68 จะครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยซึ่งทางจีนให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ เส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ดังนั้นก็ต้องมีความมั่นใจในการขับเคลื่อนโครงการให้เดินหน้าไปตามนโยบาย

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ก.ย. 67 คาดว่าอาจจะมีการเสนอผลการสรรหาผู้ว่าการรฟท.คนใหม่ เข้าสู่ที่ประชุมครม. มีนายวีริศ อัมระปาล เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ว่าฯรฟท.คนใหม่ ซึ่งนายวีริศ นั้นเป็นอดีตผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในสมัยที่นายสุริยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงถือเป็นคนคุ้นเคยที่คาดว่า เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯรฟท.คนใหม่ จะรับนโยบายในการขับเคลื่อนโครงการ รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ดังกล่าวให้เดินหน้าโดยเร็ว