วันที่ 16 ก.ย.67 ที่โรงแรมเวลาดี จ.อุดรธานี การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเวทีโชว์ผลงานวิจัยด้านยางพารา โดยมี ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานบอร์ด กยท. ให้แนวคิด ‘ติดอาวุธนักวิจัย’ มอบแนวทางพัฒนาสู่องค์กรที่ทันสมัย มีทีมนักวิจัยร่วมรับฟังและนำเสนอผลงานอย่างคึกคัก หวังสร้างต้นแบบนวัตกรรม ต่อยอดแนวทางการจัดการสวนยางยั่งยืน สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราที่ยั่งยืน

ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง ประธานเปิดการประชุมวิชาการยางพาราในครั้งนี้ กล่าวว่า กยท. เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยด้านยางพาราสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะสร้างประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานยาง ตั้งแต่เกษตรกรชาวสวนยางไปจนถึงผู้ประกอบกิจการยางพาราทุกระดับ เพื่อผลักดันวงการอุตสาหกรรมยางพาราไทยก้าวสู่อุตสาหกรรมแห่งความยั่งยืน โดย กยท. จัดประชุมวิชาการยางพารา ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 16-18 กันยายน ภายใต้หัวข้อ “การจัดการ   สวนยางยั่งยืนสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราอย่างยั่งยืน” ซึ่งเปิดโอกาสให้นักวิจัยยางพาราที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก กยท. ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางบริหารจัดการงานวิจัย สู่การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ พร้อมทั้งเปิดเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยที่สิ้นสุดแล้วและพร้อมต่อยอดเป็นต้นแบบนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนยางต่อไปในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ กยท.ขับเคลื่อนมาต่อเนื่องอย่างจริงจัง

โอกาสนี้ ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ได้ให้แนวคิดผ่านเวทีนี้ว่า กยท. ต้องขยายช่องทางการตลาด โดยสร้างแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าเกษตร รวมถึงการบริหารจัดการด้านการผลิตการแปรรูป โลจิสติกส์ การจำหน่ายสินค้ายางพารา และการสร้างศูนย์กระจายสินค้า โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการผลิตยาง EUDR ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสด้านการตลาดให้กับประเทศไทย นอกจากนี้ ต้องผลักดัน กยท. ให้ก้าวสู่องค์กรที่ทันสมัย โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักวิจัยของ กยท.   ที่องค์กรต้องติดอาวุธ เช่น การอบรมเพิ่มทักษะและความรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ นำไปสู่การพัฒนางานวิจัยยางพาราของประเทศ

การประชุมวิชาการยางพาราครั้งนี้ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญโดยผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา อาทิ การใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง  ความสัมพันธ์ของดิน ธาตุอาหารพืช และการจัดการปุ๋ย  ตลอดจนการตรวจจำแนกยางแผ่นดิบไทยกับยางที่ลักลอบนำเข้า นอกจากนี้ ยังมีการลงพื้นที่ศึกษาดูงานการจัดการสวนยางยั่งยืนตาม BCG Model  โครงการสืบสานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโคกหนองนา Model ร่วมยาง  โครงการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มศักยภาพตามหลัก GAP และเทคโนโลยีพันธุ์ยาง RRIT 3904  ณ ศูนย์วิจัยยางหนองคาย อีกด้วย