ถูกจัดให้เป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจสามารถชี้ขาดผลแพ้-ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในแต่ละครั้งได้เลยทีเดียว

สำหรับ ประชาชนชาวสหรัฐฯ ที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ที่มีสิทธิออกเสียง หรือลงคะแนนเลือกตั้ง

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงประชากรกลุ่มนี้ในสหรัฐฯ ตามการประเมินแบบตัวเลขกลมๆ ก็มีอยู่ราวๆ 52 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้นกว่า 333 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 6 ของประชากรทั้งหมดในสหรัฐฯ ต้องถือว่า ไม่น้อยเหมือนกัน

ส่งผลให้พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรค คือ พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต ต่างพยายามช่วงชิงประชากรกลุ่มนี้ ให้มาลงคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งของทางพรรคกันให้ได้ จึงมีการระดมรณรงค์หาเสียงกันอย่างหนัก เพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากประชากรกลุ่มนี้กัน นอกเหนือจากกลุ่มประชากรอื่นๆ ในสหรัฐฯ แล้ว

ว่ากันถึงองค์ประมุขของคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก ก็คือ สันตะปาปา หรือโป๊ป ก็นับว่าเป็นผู้นำทางศาสนาที่มีความสำคัญมิใช่น้อย ในฐานะเป็นศูนย์รวมจิตใจของคริสตศาสนิกชนโรมันคาทอลิกทั้งหลาย

ดังจะเห็นได้จากเมื่อสันตะปาปา หรือโป๊ป เสด็จฯเยือนไปในสถานที่ หรือประเทศต่างๆ ก็จะมีบรรดาคริสตศาสนิกชนโรมันคาทอลิก มาเข้าเฝ้าฯ ถวายการต้อนรับกันอย่างเนืองแน่น จนต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อถวายอารักขาต่อองค์สันตะปาปากันอย่างเข้มงวด

โดยพระประมุขของคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกองค์ปัจจุบัน ก็คือ โป๊ปฟรานซิส

ที่ผ่านมาสันตะปาปาพระองค์นี้ ก็มักแสดงทรรศนะในเรื่องต่างๆ ตลอดจนสถานการณ์ระหว่างประเทศ หรือสถานการณ์โลกอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ การเรียกร้องให้ยุติสงคราม เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือแม้กระทั่งโรคระบาดอย่างการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 ที่พระองค์เรียกร้องให้มีการแบ่งปันวัคซีนกัน เป็นต้น

ล่าสุด สันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งมีพระชนมายุ 87 ชันษา ก็ได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับการเมืองสหรัฐฯ ที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

โดยพระองค์ได้ประทานการสัมภาษณ์กับนักข่าวบนเครื่องบิน ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จกลับจากสิงคโปร์ ไปยังกรุงโรม เมืองหลวงของอิตาลี ก่อนที่จะไปยังสำนักวาติกันของพระองค์ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

พระดำรัสของสันตะปาปาฟรานซิส ก็ว่าถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นนั้น แต่ไม่ได้ระบุชื่อของสองผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั่นคือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครฯ ของพรรครีพับลิกัน และนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครฯ จากพรรคเดโมแครตว่า “ชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกเลือกใครดี?”

โดยระบุแต่เพียงว่า ให้เลือก “คนที่ชั่วร้ายน้อยกว่า (Lesser evil)” ก็แล้วกันระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคนนี้

อย่างไรก็ดี โป๊ปฟรานซิส ก็ตรัสวิพากษ์วิจารณ์ต่อทั้งอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ และรองประธานาธิบดีแฮร์ริสแบบอ้อมๆ ไว้ด้วยเหมือนกัน เกี่ยวกับนโยบาย และการบริหารประเทศในช่วงที่ผ่านมา

ประเด็นที่ถูกสันตะปาปาฟรานซิส ตรัสถึง ก็ได้แก่

“สิทธิการทำแท้ง” ซึ่งประเด็นนี้ ก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่อนางแฮร์ริส ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ของรัฐบาลสหรัฐฯ ณ ปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย ด้วยการระบุว่า รู้สึกผิดหวังต่อคำสั่งศาลฎีกาสหรัฐฯ ที่ยกเลิกสิทธิการทำแท้ง ซึ่งมีขึ้นเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2022 (พ.ศ. 2565)

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงการทำแท้งแล้ว ก็ต้องบอกว่า ทางคริสตศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก ก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะมีความเชื่อว่า ลูกที่เกิดมาเป็นพรจากพระผู้เป็นเจ้า และการทำแท้งก็ถือเป็นการไม่เคารพต่อสิทธิของมนุษย์เราด้วย ยกเว้นการทำแท้งเพื่อรักษาชีวิตของผู้เป็นมารดาเอาไว้ตามคำสั่งแพทย์

โดยสันตะปาปาฟรานซิส ตรัสว่า การให้สิทธิทำแท้ง เท่ากับเป็นการต่อต้านการมีชีวิต

นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปราศรัยเรื่องปัญหาผู้อพยพลักลอบเข้าเมือง ที่บริเวณกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐฯกับเม็กซิโก ในรัฐแอริโซนา (Photo : AFP)

พร้อมกันนี้ โป๊ปฟรานซิส ก็วิพากษ์วิจารณ์ต่อ “นโยบายเกี่ยวกับการสกัดผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ” ซึ่งก็เป็นที่รับรู้กันว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์ นั่นเอง โดยพระองค์ ตรัสด้วยว่า เป็นนโยบายที่ต่อต้านการมีชีวิตของบรรดาผู้อพยพเหล่านั้น เช่นเดียวกับการให้สิทธิทำแท้ง

นอกจากนี้ องค์พระประมุขแห่งคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ต่อ “การสนับสนุนอิสราอิสราเอลในสงครามฉนวนกาซา” ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่า พระองค์หมายถึงนางแฮร์ริส รองประธานาธิบดีของรัฐบาลสหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน นั่นเอง ที่ยืนเคียงข้างกับอิสราเอล สำหรับการทำสงครามในฉนวนกาซา โดยในประเด็นนี้ พระองค์ถึงกับใช้คำว่า เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ (ugly) เลยทีเดียว สำหรับการสงครามฉนวนกาซาข้างต้น ที่คร่าชีวิตของเหล่าเด็กๆ ชาวปาเลสไตน์ไปเป็นจำนวนมาก

นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ พบปะกับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ซึ่งเธอได้ประกาศให้การสนับสนุนต่ออิสราเอลในการทำสงครามฉนวนกาซา (Photo : AFP)

กล่าวถึงสถานการณ์และบรรยากาศของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยการสำรวจความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มประชากรในหมู่ชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในสหรัฐฯ ซึ่งจัดทำขึ้นโดย “ศูนย์วิจัยพิว” เมื่อเร็วๆ นี้ ก็พบว่า ชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในสหรัฐฯ มีอยู่ประมาณ 52 ล้านคนตามที่กล่าวแล้วข้างต้น

ในการสำรวจความคิดเห็น หรือการจัดทำโพลล์ ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างชาวคริสต์นิกายนี้ ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรครีพับลิกัน คือ อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ มากกว่าผู้สมัครฯ ของพรรคเดโมแครต คือ รองประธานาธิบดีแฮร์ริส โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 52 ต่อ 44 ด้วยกัน

ทั้งนี้ ทาง “ศูนย์วิจัยพิว” ยังระบุด้วยว่า อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ มีแนวโน้มที่ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากชาวอเมริกันผิวขาวที่เป็นคาทอลิก และมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม คิดเป็นถึงร้อยละ 61 เลยทีเดียว