เขียนโดย: Shashank Luthra รองประธาน AVEVA ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โลกอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการขยายตัวของข้อมูลขนาดใหญ่มหาศาล ข้อมูลเหล่านี้มีตั้งแต่การอ่านค่าอุณหภูมิของเตาเผา และการเคลื่อนย้ายสิ่งต่างๆ ในคลังสินค้า ไปจนถึงมิเตอร์อัจฉริยะที่ใช้ติดตามวัดค่าการใช้พลังงาน ดังนั้นอุตสาหกรรมต่างๆ จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการทำงานมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา โดยครึ่งหนึ่งของข้อมูลทางอุตสาหกรรมทั้งหมด ถูกสร้างขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา จึงคาดการณ์ได้ว่า ภายในสิ้นปี 2024 นี้จะมีข้อมูลจากกระบวนการทำงานใหม่อีก 38% ที่จะถูกนำไปจัดเก็บและประมวลผลบนคลาวด์
สำหรับในภูมิภาคอาเซียน ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีมูลค่าคิดเป็น 36% ของ GDP ทั้งหมดของอาเซียน การรวมข้อมูลอันล้ำค่าเหล่านี้ให้เป็นหนึ่งเดียว จะสามารถกำหนดทิศทางการสร้างคุณค่าให้แก่อุตสาหกรรมในอนาคต และช่วยให้มองเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคได้ ทั้งนี้เมื่อโลกมีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น และถูกสร้างขึ้นจากแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกัน นี่จะเป็นรากฐานสำคัญของความยั่งยืนและการเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบ
แพลตฟอร์มคลาวด์อุตสาหกรรม (Industrial Cloud Platform) ช่วยเพิ่มการทำงานร่วมกันได้อย่างไร
ธุรกิจไม่ได้ทำงานแยกกันอย่างโดดเดี่ยว แต่จำเป็นต้องเชื่อมต่อและร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ จึงจะสามารถสร้างคุณค่าได้อย่างโดดเด่น
อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่เราพบว่าข้อมูลอุตสาหกรรมแทบทั้งหมด ยังคงถูกแยกเก็บเป็นหน่วยย่อยไว้ในแต่ละหน่วยงานต่างๆ ซึ่งบางครั้งข้อมูลเหล่านั้นถูกปล่อยทิ้งโดยไม่มีการคัดแยกและไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ยังจุดที่เก็บรวบรวมข้อมูล แต่เมื่อความรู้คือพลัง เมื่อใดที่หน่วยงานอุตสาหกรรมสามารถแบ่งปันข้อมูลกันได้อย่างปลอดภัยทั้งระหว่างภายในหน่วยงานต่างๆ ในองค์กรและกับพันธมิตรภายนอก พวกเขาจะสามารถปลดล็อกความรู้ความเข้าใจในข้อมูลเชิงลึก (Insights) ที่จำเป็นต่อการจุดประกายการสร้างนวัตกรรมและผลักดันการเติบโตทางธุรกิจต่อไปได้
ยกตัวอย่าง PETRONAS ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซข้ามชาติ ได้ทำงานร่วมกับ AVEVA เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลและการวิเคราะห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดการแยกเก็บข้อมูลไว้เป็นหน่วยย่อยในแต่ละหน่วยงานของโรงงานต่างๆ ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และทำให้โรงงานบรรลุผลด้านเสถียรภาพ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เพียงปีแรกปีเดียว PETRONAS สามารถประหยัดเงินได้ถึง 73.1 ล้านริงกิตจากการลดเวลาหยุดชะงักการทำงานนอกแผน ขณะเดียวกันสามารถปรับปรุงความปลอดภัยให้กับสภาพแวดล้อมของการทำงานและผลักดันความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainability Goals)
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีหลายๆ บริษัทได้นำเทคโนโลยี Digital Twin มาใช้ โดยเทคโนโลยีนี้ที่องค์กรเหล่านี้กำลังใช้อยู่เป็นระบบแสดงภาพเสมือนที่โต้ตอบกับผู้ใช้ได้ โดยจะแสดงภาพเสมือนของวัตถุทางกายภาพและกระบวนการต่างๆ ภายในโรงงานเพื่อจำลองผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง และสามารถตรวจสอบ (preview) ความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นใหม่ จะได้แก้ไขข้อบกพร่องและทำการตัดสินใจได้ดีขึ้น โดยการแบ่งปันการเข้าถึง Digital Twin ระหว่างทีมงานต่างๆ ผ่านระบบคลาวด์ จะทำให้บริษัทสามารถทำการแก้ไขปรับปรุงได้อย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการทำงานร่วมกัน
สำหรับตลาดการวิเคราะห์ข้อมูลและระบบธุรกิจอัจฉริยะ (Data Analytics and Business Intelligence) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะมี อัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 7.25% ไปจนถึงปี 2028 เนื่องจากบริษัทต่างๆ ล้วนมีข้อมูลอยู่แล้วอย่างแน่นอน เหลือแต่การนำมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น โดยนำการเชื่อมต่อและระบบอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Industrial Intelligence) มาใช้จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการทำงานร่วมกันและผลักดันประสิทธิภาพให้สูงขึ้นตลอดทั้งภูมิภาค และการใช้ประโยชน์จาก Industrial-Intelligence-as-a-Service (IIaaS) ยังจะช่วยปลดล็อกความรู้ความเข้าใจในข้อมูลเชิงลึกเพื่อการสร้างนวัตกรรมและผลักดันการเติบโตต่อไป
ทำไมระบบนิเวศของข้อมูลที่เชื่อมต่อกันจึงสำคัญต่อการเติบโตเชิงคุณค่า
การแบ่งปันข้อมูลบนคลาวด์ไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายไปสู่พันธมิตรภายนอกได้ด้วย ตัวอย่างเช่น Dominion Energy บริษัทด้านพลังงานในประเทศสหรัฐอเมริกากำลังใช้แนวทางที่เป็นนวัตกรรมนี้เพื่อสร้างความโดดเด่นในภาคพลังงานทดแทนที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้น
Dominion ได้รวบรวมและแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์ (real-time data) จากโครงข่ายพลังงานทั่วทั้งภูมิภาคอเมริกาเหนือกับลูกค้าสาธารณูปโภคผ่านระบบคลาวด์ ทำให้พวกเขาสามารถแสดงหลักฐานการดำเนินงานด้านความอย่างยั่งยืนต่อนักลงทุน หน่วยงานกำกับดูแล และผู้ตรวจสอบบัญชี ที่สำคัญกว่านั้น ทางด่วนข้อมูลดิจิทัลที่บูรณาการขึ้นมานี้ได้นำธุรกิจใหม่มาสู่ Dominion อีกด้วย เนื่องจากมีความต้องการในการสร้างรายงานที่มีความโปร่งใสและสามารถวัดผลได้แบบนี้เพิ่มมากขึ้น
Dominion เป็นตัวอย่างของระบบนิเวศอุตสาหกรรมแบบใหม่ที่มีการเชื่อมต่อกัน ซึ่งระบบนิเวศที่เชื่อมต่อกันแบบใหม่นี้ แต่ละหน่วยธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าทางอุตสาหกรรมจะแบ่งปันข้อมูลที่เป็นจริงจากแหล่งข้อมูลดิจิทัลเดียวกัน โดยมีแดชบอร์ดแบบหน้าต่างเดียว (single-window dashboard) ซึ่งคอยรวบรวมข้อมูลจากแหล่งสตรีมข้อมูลต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน เช่น สินทรัพย์ทางอุตสาหกรรม ซัพพลายเออร์ และพันธมิตรรายอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า โดยที่แต่ละหน่วยธุรกิจสามารถมองเห็นข้อมูลทั่วทั้งระบบภายใต้บริบทและตามความต้องการของตน หน่วยธุรกิจนั้นจึงสามารถเข้าใจผลกระทบจากการดำเนินการของตน ทั้งที่เป็นผลกระทบต่อธุรกิจของตนเอง ต่อธุรกิจของผู้อื่นที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าอื่นๆ รวมทั้งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวม
ด้วยโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์และปรับขนาดได้ดังกล่าว จะทำให้เกิดความเข้าใจได้มากขึ้นและทำงานร่วมกันได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ปรับการใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม และลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด
การวิเคราะห์โดย AI ช่วยเพิ่มความเข้าใจให้แก่มนุษย์ได้อย่างไร
การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถช่วยปรับปรุงการทำงานของพวกเราได้จริงในทุกๆ ด้าน นอกจากนี้ยังช่วยให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อมูลทางอุตสาหกรรม ด้วยการนำเสนอความรู้ความเข้าใจเชิงลึกที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงเพื่อเพิ่มสมรรถนะการทำงานให้สูงสุด
ตัวอย่างเช่น บริษัทกลั่นน้ำมันของญี่ปุ่นอย่าง Idemitsuได้เปลี่ยนระบบการจัดตารางเวลาปฏิบัติงาน (Scheduling System) มาใช้ระบบคลาวด์ และ AI เพื่อช่วยตรวจจับความซับซ้อนและข้อจำกัดในการดำเนินงานที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละไซต์งาน โดยปัจจุบันนี้ ระบบสามารถสร้างตารางเวลาปฏิบัติงานในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างอัตโนมัติ โดยมีการพิจารณาถึงความต้องการทางธุรกิจของ Idemitsu รวมถึงเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การเกิดเหตุหยุดชะงัก หรือการหยุดทำงานนอกแผน ช่วยให้ผู้จัดตารางเวลาปฏิบัติงานของ Idemitsu ประหยัดเวลาได้หลายวัน จึงมีเวลาที่จะใช้มุ่งเน้นไปที่การทำงานที่มีมูลค่าสูงกว่าได้มากขึ้น
ในระยะสั้น เครื่องมือ AI สามารถช่วยลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ส่วนในระยะกลาง เครื่องมือ AI จะทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนนวัตกรรมที่นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการอุตสาหกรรมและห่วงโซ่คุณค่าใหม่ๆ เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นใจ ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงผลกำไรและความยั่งยืน โดยใช้แนวคิดที่ว่า 'เพื่อโลกและผลกำไร' (Planet and Profit) แทนที่จะเป็น 'โลกหรือผลกำไร' (Planet or Profit)
ปลดปล่อยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยระบบอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
ปัจจุบันนี้ เราสามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้มากกว่าเมื่อก่อน ดังนั้นความท้าทายจึงอยู่ที่การรู้และเข้าใจว่าจะทำอะไรกับข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งการใช้แพลตฟอร์มข้อมูลจะสามารถช่วยปลดปล่อยข้อมูลออกมาจากไซโลได้ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ และดึงเอาความรู้ความเข้าใจเชิงลึกแบบอัจฉริยะ (Intelligent Insights) ได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของระบบนิเวศทั้งภายในและภายนอก ซึ่งความรู้ความเข้าใจในข้อมูลเชิงลึกนี้เหล่านี้จะช่วยพวกเราปลดล็อกไปสู่ขั้นตอนต่อไปของการเปลี่ยนแปลงแบบผลิกผันทางอุตสาหกรรม (Industrial Transformation) และผลักดันคลื่นลูกใหม่ของการเติบโตที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อโลก