วันที่ 16 กันยายน 2567 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าโครงการ Bike Sharing ว่า จากการเปิดให้บริการ 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน ปัญหาที่พบคือ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจการใช้งานและประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึง เรื่องจุดจอด จุดคืนจักรยาน ซึ่งแต่เดิม ผู้ให้บริการแต่ละแอปพลิเคชั่นจะกำหนดจุดให้บริการของตนเอง ไม่สามารถจอดรวมกันได้ เพราะต้องสแกนคิวอาร์โค้ดด้วยโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้บริการแต่ละผู้ให้บริการโดยเฉพาะ จึงได้รับเสียงสะท้อนการใช้งานจากประชาชนเรื่องความไม่สะดวก กทม.จึงมีแผนจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ และป้ายจุดจอดเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการใช้บริการ รวมถึงกำหนดให้มีจุดจอดร่วมกันได้ทั้ง 3 แอปพลิเคชั่น ทั้งนี้ จะมีการปรับปรุงให้เหมาะสมครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป

 

โดยโครงการเปิดพื้นที่ให้เอกชนให้บริการ Bike Sharing อยู่ในนโยบายสร้างย่านจักรยาน เดินทางได้ทั่วด้วยการปั่น (Bicycle Corridor) ในหมวดเดินทางดี โดยจัดทำย่านจักรยานและจัดทำทางเดิน ปั่น สะดวก เพื่อลดการใช้รถ ตามแผนแม่บทกรุงเทพฯ เมืองเดินเท้าและจักรยานสัญจรเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและยั่งยืน พ.ศ.2567 ถึง 2575 ในพื้นที่ย่าน ได้แก่ ย่านสถานีบางขุนพรหม ย่านสถานีลาดพร้าว 71 ย่านสถานีวงเวียนใหญ่ ย่านสถานีเตาปูน ดำเนินการต่อเนื่องปี 2568 ถึง 2569

 

สำหรับ BIKE SHARING หรือ จักรยานสาธารณะ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคเอกชน ในการให้บริการจักรยานสาธารณะ โดยแบ่งการดำเนินการหลักเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก กทม.จัดหาพื้นที่ สำรวจ ปรับปรุงเส้นทางจักรยานเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ ทางเท้า โดยสำนักการจราจรและขนส่ง ดำเนินการทาสีตีเส้น จัดทำสัญลักษณ์บนทางเท้า เช่น ตั้งแต่บริเวณหน้าลานโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ตลอดจนกระทรวงกลาโหม มีการจัดทำเลนจักรยานบนทางเท้าเพื่อใช้ร่วมกัน เป็นต้น

 

ส่วนที่ 2 ภาคเอกชนให้บริการจักรยานผ่านแอปพลิเคชั่น ได้แก่ 1. Anywheel ดาวน์โหลดได้ที่ App Store: t.ly/xiTwt Google Play: t.ly/BW-La 2. ปั่นได้ ดาวน์โหลดได้ที่ App Store: t.ly/k2O3J Google Play: t.ly/WMBIj 3. ปันปั่น ดาวน์โหลดได้ที่ App Store: t.ly/ya3jt Google Play: https://t.ly/hTKN6 ผู้ใช้บริการต้องเลือกดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นผ่าน 3 ผู้ให้บริการดังกล่าว เพื่อดูข้อมูลและสิทธิต่าง ๆ เช่น ใช้บริการฟรี 1 ชั่วโมง/วัน การจัดเก็บค่าบริการ จุดให้บริการในกรุงเทพฯ เส้นทางจักรยาน การจอดทำธุระภายในระยะเวลา 10 นาที ระบบล็อกเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งการใช้บริการจักรยานสาธารณะจำเป็นต้องใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือและระบบแอปพลิเคชั่น

 

นายวิศณุ กล่าวว่า จุดประสงค์ของโครงการ BIKE SHARING เชื่อมโยงแนวคิดนโยบาย First mile - Last mile หรือการพัฒนาเส้นทางจากที่พักถึงระบบขนส่งสาธารณะ และจากระบบขนส่งสาธารณะถึงที่ทำงาน เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง ซึ่งอาจมีทั้งการพัฒนาทางเท้า ป้ายรถเมล์ ทางจักรยาน จุดจอดจักรยาน การเพิ่มไฟส่องสว่าง เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางให้มีความสะดวกปลอดภัย ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานและบริบทของแต่ละเขต เบื้องต้น กทม.เริ่มให้บริการ BIKE SHARING จำนวน 700 คัน ตั้งเป้าปี 2567 จำนวน 1,500 คัน และ 2,000 คัน ในปี 2568

 

ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วประมาณ 350 จุด บนพื้นที่หลัก เช่น บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณแนวถนนสาทร บริเวณแนวถนนสีลม บริเวณฝั่งธนบุรีตามแนวถนนวิ่งเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณใต้สะพานสาทรถึงสะพานพระราม8 รวมถึงสถานีรถไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น MRTสามยอด BTSช่องนนทรี BTSศาลาแดง และBTSอโศก เป็นต้น