“เท้ง-ณัฐพงษ์” แนะ 3 มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ป้องกันเกิด “อุบัติเหตุทางเศรษฐกิจ” ซ้ำเติมผู้ประสบภัย ย้ำต้องให้เงินช่วยเหลือฉุกเฉินทันที-กำหนดแผนซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน-อัดฉีดเงินให้ อปท.ฟื้นฟูสาธารณูปโภค
วันที่ 15 ก.ย.67 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย สส.ของพรรค นำโดย นายกรุณพล เทียนสุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และนายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สส.เชียงราย เขต 1 ลงพื้นที่ติดตามและสังเกตการณ์น้ำท่วมอำเภอเมืองและอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยนายณัฐพงษ์ ให้ความเห็นว่า หลังจากน้ำเริ่มลดระดับไปแล้ว สิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องเน้นต่อจากนี้คือมาตรการการฟื้นฟูเยียวยาเร่งด่วนหลังน้ำท่วม ซึ่งนอกเหนือจากความต้องการด้านเครื่องมือหนักและอุปกรณ์ทำความสะอาดที่มีราคาสูงขึ้นหลายเท่าแต่ชาวบ้านมีความต้องการสูงมากในขณะนี้ จากการพูดคุยกับพี่น้องประชาชนอย่างละเอียดเพื่อเก็บข้อมูลที่อำเภอแม่สาย พบว่ามีภาคธุรกิจ อาคาร ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พักจำนวนมากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
ส่วนหนึ่งคือได้รับผลกระทบโดยตรง นั่นคือเครื่องไม้เครื่องมือทำมาหากิน หรืออาคารสถานที่เสียหายไปกับน้ำท่วม ทำให้ธุรกิจร้านค้าต่างๆ ไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ในขณะนี้ และคงจะใช้เวลาอีกสักพักใหญ่กว่าจะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ อีกส่วนหนึ่งแม้ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการถูกตัดน้ำตัดไฟหรือการขนส่งที่ถูกตัดขาดหรือไม่สะดวก ทำให้ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ เช่น ที่พัก ร้านอาหาร ร้านซักอบผ้า และธุรกิจอื่นๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจภาพรวมในพื้นที่ต้องหยุกชะงักลง ประชาชนจำนวนมากไม่มีรายได้เข้ามา
“หลายคนบอกผมว่า ‘ไม่เหลืออะไรเลย’ แต่รายจ่ายกลับเพิ่มขึ้นเพราะค่าซ่อมแซมทำความสะอาด แถมหนี้สินและดอกเบี้ยก็ยังเดินต่อ จาก ‘ภัยธรรมชาติ’ ส่งผลต่อมาเป็น ‘อุบัติเหตุทางการเงิน’ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงตัวพี่น้องประชาชนอย่างไรต่อไปบ้าง นี่คือคำถามที่พวกเราในฐานะนักการเมืองจะต้องตอบให้ได้” นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ตนได้หารือกับอาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) พรรคประชาชน ซึ่งขณะนี้กำลังติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงอยู่ที่จังหวัดหนองคาย จึงขอฝากโจทย์ให้รัฐบาลเร่งคิดและออกมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วนและจับต้องได้จริงใน 3 ประเด็น
หนึ่ง เงินช่วยเหลือฉุกเฉินทันทีสำหรับครัวเรือนที่ประสบภัย สำหรับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการกลับเข้าสู่ที่พักอาศัยและกลับมาประกอบการอีกครั้งในพื้นที่ที่เสียหายหนัก ก่อนที่จะช่วยเหลือซ่อมแซมในส่วนที่สองต่อไป
สอง เร่งสำรวจ-ประเมินความเสียหาย และกำหนดแผนการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนโดยเร็ว โดยช่วยเหลือตามความเสียหายจริง ภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ส่วนราชการกลางจะต้องไม่มีการกำหนดระเบียบเงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับสภาพหน้างานจริง หรือเพิ่มภาระให้พี่น้องมากเกินสมควร
สาม เงินช่วยเหลือสมทบสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสบภัย เพื่อใช้สำหรับ (ก) การซ่อมแซมถนนหนทาง และสาธารณูปโภคที่เสียหาย ตามค่าใช้จ่ายจริง (ข) การสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือน เครื่องใช้ต่างๆ สำหรับประชาชน และ (ค) การฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ภายหลังจากน้ำลด เช่น การลดค่าสาธารณูปโภค การปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ เช่น ตลาด หรือการสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยวหลังน้ำลด
นอกจากนี้ รัฐบาลควรประสานกับสถาบันการเงินในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการฟื้นฟูธุรกิจเพิ่มเติม เช่น การพักชำระหนี้ในช่วงฟื้นฟูหลังน้ำลด และเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยสำหรับการซ่อมแซมและปรับปรุงกิจการอีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนในระยะยาว ณัฐพงษ์เห็นว่า รัฐบาลควรพิจารณาตั้ง “กองทุนภัยพิบัติ” เพื่อเพิ่มช่องทางให้กับหน่วยปฏิบัติงานสามารถเข้าถึงงบประมาณได้อย่างรวดเร็ว และสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้ทันท่วงที ตั้งแต่การป้องกัน การเผชิญเหตุ และการช่วยเหลือเยียวยา โดยกำหนดหลักเกณฑ์-เงื่อนไขของกองทุนให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้รวดเร็วและตรวจสอบได้ โดยไม่เป็นภาระหรือสร้างความกังวลใจให้กับหน่วยงานที่ต้องยับยั้ง-เผชิญเหตุในพื้นที่
“พี่น้องเผชิญภัยธรรมชาติหนึ่งครั้ง อาจจะประสบอุบัติเหตุทางเศรษฐกิจ กว่าจะกลับฟื้นขึ้นมาได้ก็ใช้เวลาเป็นปีๆ ถือเป็นสิ่งที่น่าเศร้าสำหรับพวกเราทุกคน ดังนั้น พวกเราในฐานะนักการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลที่จะสามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้ ต้องช่วยกันคิดช่วยแก้ไขปัญหาให้พี่น้องให้ได้ ทั้งด้วยความรวดเร็ว เพียงพอ และยั่งยืนครับ” นายณัฐพงษ์ กล่าว