จัดให้เป็นสองชาติมหาอำนาจโลก ที่เป็นทั้ง “คู่ค้า-คู่แข่ง” แห่งยุคนี้กันเลยทีเดียว
สำหรับ “สหรัฐอเมริกา” กับ “จีน” สองชาติพี่เบิ้มใหญ่ จากสองภูมิภาคโลก คือ “อเมริกาเหนือ” กับ “เอเชีย” เรา
ถึงขนาดถูกหยิบยกขึ้นเป็นหนึ่งในประเด็นของการอภิปรายโต้วาทีเพื่อประชันวิสัยทัศน์ หรือดีเบต ระหว่างสองผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 (พ.ศ. 2567) คือ นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในฐานะผู้สมัครฯ พรรคเดโมแครต กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครฯ จากพรรครีพับลิกัน ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยรองประธานาธิบดีแฮร์ริส กล่าวโจมตีอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ในเรื่องที่เขาตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในที่นี้หมายถึงประเทศจีน จนกลายเป็นสงครามการค้า ในยุคที่นายทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ได้ส่งผลกลับกลายเป็นว่า เป็นฝ่ายสหรัฐฯ เองที่เป็นฝ่ายขาดดุลการค้า พร้อมกับทำให้ค่าครองชีพของประชาชนชาวอเมริกันเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ ทางฝั่งอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวดีเบตโต้ตอบว่า นโยบายการตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีนนั้น ก็เพื่อตอบโต้จีนที่ค้าขายเอาเปรียบต่อสหรัฐฯ มาเป็นเวลาหลายปี และว่า เป็นเพราะฝีมือการบริหารประเทศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มีนางกมลา แฮร์ริส เป็นรองประธานาธิบดีนั่นแหละที่ทำให้สหรัฐฯ มีปัญหาทางเศรษฐกิจ และภาวะอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูง
นั่น! เป็นฉากช่วงหนึ่งของการอภิปรายโต้วาทีเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ หรือการดีเบต กันระหว่างสองผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ ข้างต้น ซึ่งพาดพิงไปถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อันเป็นผลพวงจากการที่มีการใช้นโยบายตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ต่างก็ตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าที่ว่าด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นการตอบโต้กันและกัน
ทว่า เมื่อกล่าวถึงถึงสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แล้ว ก็มิได้เริ่มปะทุขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่เริ่มมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยอาจจะเริ่มตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช จากพรรครีพับลิกัน ที่ยกเลิกการให้เงินทุนแก่จีน ผ่านธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำลังร้อนแรงของจีน สร้างความไม่พอใจให้แก่จีนไม่น้อยเหมือนกัน
ส่วนในยุคของประธานาธิบดีบารัก โอบามา จากพรรคเดโมแครต ก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีทั้งประเด็นทางการค้าในความตกลง “ทีพีพี (TPP)” และ “ซีพีทีพีพี (CPTPP)” ที่หลายคนก็เห็นว่า สหรัฐฯ ผลักดันความตกลงทั้งสองข้างต้นขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลคานอำนาจจีน ที่กำลังโตวัน โตคืน จนกลายเป็นอีกขั้วของชาติมหาอำนาจโลก ทำให้จีนไม่พอใจต่อสหรัฐฯ มิใช่น้อย
ต่อด้วยในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน ก็ระเบิดศึกในสงครามการค้ากับจีน ด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน รวมไปถึงการใช้นโยบาย “อินโด-แปซิฟิก” โดยได้กีดกันจีน ไม่ให้เข้ามาร่วมวง “อินโด-แปซิฟิก” ด้วย แน่นอนว่าจีน ก็ได้ดำเนินมาตรกาต่างๆ เพื่อเป็นการตอบโต้ด้วยความไม่พอใจอย่างยิ่งด้วยเช่นกัน
กระทั่ง มาถึงในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันแห่งพรรคเดโมแครต ที่มีนางกมลา แฮร์ริส เป็นรองประธานาธิบดีนั้น ก็ใช่ว่าจะไม่เปิดศึกทางการค้ากับจีน แต่ระเบิดสงครามการค้ากับจีนอย่างดุเดือดด้วยเหมือนกัน
ไม่ว่าจะเป็นการที่ประธานาธิบดีไบเดน มีคำสั่งให้ขึ้นภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนอย่างขนานใหญ่ รวมถึงการออกคำสั่งยกเลิกการยกเว้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีนจำนวนหลายร้อยรายการ รวมถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของการใช้ยานยนตร์ในหลายประเทศด้วย
ทั้งนี้ การเปิดศึกทางการค้าของสหรัฐฯ กับจีน ในยุคของประธานาธิบดีไบเดนข้างต้น ก็ถึงกับทำให้ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หรือ “ไอเอ็มเอฟ” ต้องออกมาสะกิดเตือน แกมวิจารณ์ตำหนิต่อสหรัฐฯ ว่า เพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมไปถึงอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอีกด้วย
ว่ากันในส่วนของประชาชนชาวอเมริกันว่า คิดเห็นอย่างไรกับสงครามการค้าที่ประเทศของพวกเขาทำกับจีน ก็ได้มีการสำรวจความคิดเห็น หรือการจัดทำโพลล์ ของชาวอเมริกันขึ้น โดยสถาบันคาโต ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมอง มีที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ได้ดำเนินการสำรวจก่อนเผยแพร่เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยผลการสำรวจปรากฏว่า ร้อยละ 55 ของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบสอบถาม ระบุว่า “ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในฐานะสองชาติมหาอำนาจนั้น มีความสำคัญต่อโลกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสันติภาพและเสถียรภาพของโลกที่จะเพิ่มมากขึ้น”
นอกจากนี้ ในจำนวนของกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันที่มีความคิดเห็นข้างต้น ก็ปรากฏว่า ร้อยละ 11 เห็นด้วยอย่างยิ่ง หรือเห็นด้วยเป็นอย่างมาก และร้อยละ 44 ตอบว่า ค่อนข้างที่จะเห็นด้วย
ส่วนกลุ่มตัวอย่างของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดข้างต้นนั้น มีจำนวนที่ร้อยละ 45 ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งร้อยละ 16 และค่อนข้างที่จะไม่เห็นด้วยจำนวนร้อยละ 29
เมื่อสำรวจลงลึกไปในรายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามข้างต้นนั้น เป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ได้รับคำตอบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต หรือโน้มเอียงที่จะสนับสนุนพรรคเดโมแครต โดยมีจำนวนถึงร้อยละ 66 ที่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯ ค้าขายกับจีน จะส่งผลดีต่อสันติภาพและเสถียรภาพโลก ส่วนผู้ไม่เห็นในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต และโน้มเอียงที่จะสนับสนุนพรรคเดโมแครตนั้น มีจำนวนที่ร้อยละ 32 ส่วนในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันและโน้มเอียงที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ก็ได้คำตอบว่า ไม่เห็นด้วยกับความคิดข้างต้น มีจำนวนที่ร้อยละ 55 ส่วนผู้เห็นด้วยมีจำนวร้อยละ 45 ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นอิสระ คือ ยังไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด รวมถึงผู้ที่โน้มเอียงว่าจะยังไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด ปรากฏว่า มีเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าวที่ร้อยละ 45 และไม่เห็นด้วยที่ร้อยละ 55 เท่ากับทางกลุ่มตัวอย่างที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน และโน้มเอียงที่จะสนับสนุนพรรครีพับลิกัน ซึ่งสรุปแล้วโดยรวมชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ต้องการให้เกิดความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มากกว่า