ปิดฉากลงแล้วอย่างสวยงาม กับการแข่งขันประเพณีโต้วาทีน้องใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2567 เพื่อเป็นเวทีเฟ้นหานักโต้วาทีในการสร้างทีมเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันโต้วาทีประเพณีอุดมศึกษา ปี 2568 ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน  สำหรับการแข่งขันประเพณีโต้วาทีน้องใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2567 ในรอบชิงชนะเลิศ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ภายในงานเปิดโลกกิจกรรมนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ KU CLUB EXHIBITION 2024 ( KU ARCADE: What’s your character club? ) ที่ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ คู่ชิงชนะเลิศ ได้แก่ คณะสังคมศาสตร์ ฝ่ายเสนอ กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ฝ่ายค้าน ในญัตติ :  การซื้อขาย Carbon Credit สร้างผลดีกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเป็นการฟอกเขียว  ผลปรากฏว่า คณะสังคมศาสตร์ เป็นฝ่ายชนะ คว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศการแข่งขันประเพณีโต้วาทีน้องใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2567 ไปครอง จัดโดยชมรมส่งเสริมศิลปะการพูด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งนี้ภายหลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขัน คณะผู้จัดงานยังได้รับเกียรติจากผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มาอธิบายให้ความรู้แก่นิสิตในเรื่อง Carbon Credit การซื้อขาย เรื่องสิ่งแวดล้อม การฟอกเขียว การปลูกและตัดไม้รวมถึงประโยชน์ที่มนุษยชาติจะได้รับ

โอกาสนี้ ผศ.รัชด ชมภูนิช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เป็นประธานและมอบถ้วยรางวัลชนะเลิศ ให้แก่ คณะสังคมศาสตร์ และ รางวัลรองชนะเลิศ ให้แก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ตามลำดับ สำหรับรางวัลนักโต้วาทีดีเด่นการแข่งขันประเพณีโต้วาทีน้องใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2567 ได้แก่ นางสาววิลาสิกรณ์ สถาวรสมิท นิสิตคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมฝ่ายเสนอในรอบชิงชนะเลิศ ได้รับเกียรติจากอาจารย์กรรณิกา ธรรมเกษร คณะกรรมการตัดสินการแข่งขันประเพณีโต้วาทีน้องใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2567 เป็นผู้มอบรางวัล โดยคณะกรรมการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ ได้แก่ อาจารย์กรรณิกา ธรรมเกษร อาจารย์ประดิษฐ์ กิตติฤดีกุล อาจารย์พิษณุ สกุลโรมวิลาส อาจารย์บุญมา ศรีหมาด และผศ.ดร.จุติภรณ์ ทัสสกุลพนิช ทั้ง 5 ท่านล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการโต้วาทีระดับประเทศและเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการโต้วาที

อาจารย์กรรณิกา ธรรมเกษร (อ.แอ้) ผู้ประกาศข่าว พิธีกร นักแสดง นักการเมือง นักพูด และคณะกรรมการตัดสินการแข่งขันโต้วาทีน้องใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2567 รอบชิงชนะเลิศ กล่าวถึงความสำคัญของการโต้วาที ว่า “  การโต้วาที คือศิลปะของการฟัง โดยใช้ศิลปะการคิด ผ่านศิลปะการพูดคือการนำเสนอแนวคิดของเราออกไป แต่อาศัยเหตุผลและการหักล้างจนเป็นคะแนนน่าเชื่อกว่า ที่สำคัญจะต้องคำนึงถึงคะแนนมารยาท การเกินเวลา ใช้คำหยาย ใช้อาการกิริยาที่ไม่สมควร เช่น การเอานิ้วชี้ชี้หน้าเขา ก็จะถูกหักคะแนน และการโต้วาทีจะไม่ใช้อารมณ์ แต่จะใช้เหตุผล หลักการ การนำเสนอที่สุภาพและเชือดเฉือน ให้เราน่าเชื่อ ฟังแล้วน่าเชื่อ นั่นแหละคือการชนะใจแล้วได้คะแนนไป อยากฝากให้ นิสิตนักศึกษาเยาวชนสนใจเรื่องการโต้วาที ไม่ใช่เป็นเรื่องการทะเลาะกัน โวยวาย หาเรื่อง แต่คือการมีศิลปะและเราจำเป็นต้องใช้ศิลปะนี้ตลอดชีวิต ดังนั้นการโต้วาที จึงเป็นคู่มือของชีวิตในการที่จะก้าวสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวด้วย”

​​​​​​​

นางผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ หัวหน้างานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมส่งเสริมศิลปะการพูดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชมรมส่งเสริมศิลปะการพูด ขอขอบคุณคณะกรรมการตัดสินทุกท่านที่ให้เกียรติและเสียสละเวลาอันมีค่าอย่างยิ่ง ต่อการมาทำหน้าที่กรรมการตัดสินในทุก ๆ รอบแข่งขัน เพื่อคงความเป็นมาตรฐานของการจัดการแข่งขันให้นิสิตได้เรียนรู้การทำงาน อีกทั้งยังได้รับความรู้และเทคนิคในการแข่งขัน การใช้ศาสตร์และศิลป์ การใช้ภาษา น้ำเสียง ลีลา และแม้แต่มารยาทในการโต้วาทีของนักโต้และกองเชียร์ ซึ่งคณะกรรมการทุกท่านได้ให้ความรู้อย่างเต็มที่ และขอบคุณนิสิตน้องใหม่ปี 1ทั้ง 8 คณะ 8 ทีม ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะสิ่งแวดล้อม คณะบริหารธุรกิจ คณะวนศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะสังคมศาสตร์ นิสิตทั้ง 8 คณะ มีความตั้งใจใฝ่รู้ในการเป็นนักโต้วาทีเป็นอย่างยิ่งสามารถนำคำแนะนำจากคณะกรรมการไปปรับปรุงเพิ่มเติมและแก้ไขตลอดการแข่งขัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการทำงานเป็นทีมของนิสิตในศาสตร์และศิลป์ของการโต้วาที

ท้ายสุดนี้ ขอเชิญชวนนิสิตนักศึกษา เยาวชนและผู้สนใจ ร่วมติดตามการแข่งขันโต้วาทีประเพณีอุดมศึกษา ปี 2568 ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน คาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนมกราคม 2568”