มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ด้านวิชาการ การวิจัย และการบริการวิชาการ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการร่วมพัฒนาบัณฑิตแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในการแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ และพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้ด้านแพทยศาสตร์ศึกษาให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยบูรณาการกับการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มอบหมายให้ รศ.ดร.สมหวัง ขันตยานุวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาวิทยาศาสตร์สุขภาพและเขตพื้นที่สุพรรณบุรี เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ  โอกาสนี้ นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน ผู้ลงนามได้แก่ รศ.พล.อ.ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อํานวยการสํานักอนามัย และ นางดวงพร ปิณจีเสคิกุล รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย

รศ.พล.อ.ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนด้านการสาธารณสุขของประเทศ พัฒนาองค์ความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ระดับชั้นปรีคลินิก จนถึงชั้นคลินิก ให้เรียนรู้ในบริบทของชุมชน เขตเมือง และได้เรียนรู้ในบริบทของชุมชนเขตพื้นที่การเกษตร ทั้งฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ทำไร่ทำนา และในส่วนของฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่แปลงผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ สวนผลไม้ และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ นิสิตแพทย์ยังได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์จริงกับผู้ป่วยในชุมชน ทั้งการสังเกตและตรวจรักษาผู้ป่วยนอก พร้อมทั้งร่วมทำวิจัยอย่างใกล้ชิด ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักอนามัยและศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร

“หลักสูตรคณะแพทยศาสตร์ มก. มีอัตลักษณ์ด้านเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม นิสิตต้องสัมผัสพื้นที่จริงในกรุงเทพมหานคร เราสำรวจแล้วว่าในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออก มีนบุรี ลาดกระบัง คลองสามวา จะมีพื้นที่ของการเกษตรอยู่ โดยเฉพาะการทำนา ประชาชนยังมีอาชีพเกษตรกรรมอยู่ ส่วนฝั่งตะวันตก บางขุนเทียน บางบอน ประชาชนก็ยังทำการเกษตร ได้แก่การปลูกพืชไร่ พืชสวน ฟาร์มสัตว์น้ำ ซึ่งเหมาะสำหรับนิสิตที่จะไปหาประสบการณ์โดยตรง ในบริบทของวิทยาศาสตร์การเกษตรไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมอาหาร แล้วก็โรค โดยเฉพาะโรคสัตว์สู่คนซึ่งมาจากระหว่างการทำเกษตรกรรม แล้วก็เป็นการปูพื้นฐานนิสิตจะเข้าฝึกในพื้นที่และเตรียมงานวิจัย จะอยู่ในชั้นปีที่ 3 เพราะฉะนั้นเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4 , 5, 6 ก็จะมีพื้นฐานและทักษะในการออกพื้นที่ ซึ่งเรามีศูนย์แพทย์ที่ให้ความร่วมมืออยู่ 2 ศูนย์ คือที่จังหวัดสุพรรณบุรีแล้วก็ที่จังหวัดสกลนคร นิสิตก็จะมีความรู้พื้นฐานไปต่อยอดในการลงพื้นที่ของศูนย์แพทย์ได้ต่อไป

นอกจากนี้การเรียนรู้ในศาสตร์ของเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มก. ก็จะสอนให้นิสิตทำงานวิจัยเกี่ยวกับชุมชนนอกจากการออกพื้นที่ในในเขตรอบนอกของกรุงเทพมหานครแล้ว ก็จะให้ความรู้ในการพัฒนาชุมชนรอบมหาวิทยาลัยลัยหรือว่าชุมชนในเมือง เพราะว่าโรคมันจะต่างกันในในเมืองก็อาจจะเป็นโรคที่พบกันบ่อยเช่นโรคNCDs ส่วนในเขตเกษตรกรรมเกษตรก็จะเป็นโรคที่เกิดจากการประกอบเกษตรกรรม”

ด้าน นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า สำนักอนามัยต้องการเสริมสร้างความร่วมมือในการร่วมพัฒนาบัณฑิตแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ และเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและการวิจัย การส่งเสริมการดูแลสุขภาพประชาชนในกรุงเทพมหานคร จึงมีความยินดีและพร้อมสนับสนุนการเพิ่มพูนองค์ความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานการบริการสุขภาพในบริบทการแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งเป็นด่านแรกของการดูแลผู้ป่วยและประชาชนในลักษณะองค์รวม ครอบคลุมทั้งการรักษาพยาบาล การป้องกันโรคการส่งเสริมสุขภาพ และการฟื้นฟูสภาพร่างกาย ตลอดจนครอบคลุมการให้บริการในสถานพยาบาลและดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมย์ของการผลิตบัณฑิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มุ่งเน้นให้มีทักษะและองค์ความรู้ในการปฏิบัติงาน การบริการ พัฒนาชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้เพิ่มศักยภาพการดูแลสุขภาพประชาชนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

“จากการที่หารือร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรามีพื้นที่เป้าหมายใน 3 ลักษณะ ลักษณะแรกก็คือเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง ในเขตบางเขนกับเขตจตุจักรซึ่งจะอยู่ใกล้ๆกับมหาวิทยาลัย และเป็นโซนที่ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น มีนบุรี ลาดกระบัง คลองสามวา หนองจอก อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นเกษตรกรรมประเภทประมง เช่น ทางฝั่งธนฯ สวนผลไม้ ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางขุนเทียนต่างๆ ซึ่งในบริบทเหล่านี้ก็จะมีสภาพปัญหาทางด้านสุขภาพและการแพทย์ที่อาจจะมีความแตกต่างกันเพราะฉะนั้นในส่วนเหล่านี้เราก็เตรียมศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อฝึกฝนด้านการแพทย์ชุมชนต่อไป”

รศ.ดร.สมหวัง ขันตยานุวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาวิทยาศาสตร์สุขภาพและเขตพื้นที่สุพรรณบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้านแพทยศาสตรศึกษาให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยบูรณาการร่วมกับการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน และการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กร ความร่วมมือในครั้งนี้นิสิตแพทย์ของ มก. จะได้ไปเรียนรู้ระบบการให้บริการทางสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์ความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับนิสิตแพทย์ทุกคนที่จะใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต ในครั้งนี้เป็นการเป็นก้าวแรกของการร่วมมือกันระหว่างกรุงเทพมหานครกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตอันใกล้เราจะขยายความร่วมมือไปยังคณะอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเทคนิคการสัตวแพทยศาสตร์ และคณะต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์

นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงนโยบายด้านสาธารณสุขในภาพรวมว่า นโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครนั้นมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพดี ด้วยการยกระดับบริการที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อตั้งแต่ระดับเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็งเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่หลากหลายช่องทาง พัฒนาศักยภาพศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มจำนวนศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองให้ครอบคลุมภายใต้การพัฒนานวัตกรรมการรักษาพยาบาลและเทคโนโลยีสุขภาพที่ทันสมัย ตลอดจนมีการส่งเสริมกิจกรรมสุขภาพสำหรับคนทุกกลุ่ม เพื่อลดภาวะการเจ็บป่วยและสร้างสุขภาพดีถ้วนหน้าของประชาชน ให้มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งทางสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพทางสังคม หนึ่งในการพัฒนาด้านสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครที่สำคัญคือ การพัฒนาบริการตั้งแต่ระดับเส้นเส้นเลือดฝอยหรือการสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีความเข้มแข็ง เพื่อให้ด่านแรกของการบริการด้านสาธารณสุขที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ มีความพร้อมและมีคุณภาพ การส่งเสริมและพัฒนาให้หน่วยบริการปฐมภูมิมีความเข้มแข็ง ต้องมีการดำเนินงานที่ร่วมมือกันในหลายภาคส่วนและร่วมมือกันเป็นเครือข่ายทั้งในด้านวิชาการและการลงมือปฏิบัติ