มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นสถาบันการศึกษาแบบ “ตลาดวิชา” มีปรัชญาการดำเนินงานเน้นการเปิดโอกาสและให้ความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ปวงชนชาวไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงทิศทางอุดมศึกษาในฐานะ “ตลาดวิชา” ในงาน “ม.รามคำแหงพบสื่อมวลชน” ว่า ม.รามคำแหง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2514 เป็นองค์กรที่ดูแลสังคมไทยจริง ๆ เพื่อรองรับปัญหาคนที่หลุดออกจากระบบ แต่ในช่วงใหม่ ๆ ม.รามคำแหง ถูกปรามาสว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ใครก็สามารถเข้าเรียนได้ ไม่ต้องสอบคัดเลือก เกณฑ์มาตรฐานคงไม่มี ต้องขอบคุณผู้บริหาร คณะอาจารย์ ที่วางระบบที่นี่ไว้ได้อย่างดี
ช่วงเวลาที่ผ่านมา 53 ปี ม.รามคำแหง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าศิษย์ที่สำเร็จการศึกษาที่นี่ ทุกวันนี้เป็นผู้ใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงตำแหน่ง เพราะตำแหน่ง ไม่ได้วัดความสำเร็จ แต่ที่สำคัญเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าในสังคม ในทุกองค์กร แม้กระทั่งองค์กรเอกชน ยักษ์ใหญ่
“ตลอดระยะเวลา 53 ปี ที่ผ่านมา ผมยืนยันได้ว่า ถ้าเราเปิดโอกาสให้เรียนหนังสือ คนอยากเรียนหนังสือ คนรักอยากจะเป็นคนดี รักที่จะมีความรู้ รักที่อยากจะช่วยเหลือบ้านเมือง พัฒนาสังคม ทุกวันนี้เราก็เป็นเช่นนั้น”
แน่นอน ม.รามคำแหง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าตลาดวิชานั้น เป็นอะไรที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับ ม.รามคำแหง และก็ได้เห็นว่าเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายมาก และ ม.รามคำแหง พร้อมที่จะปรับตัว เพราะ ม.รามคำแหง เกิดขึ้นมาพร้อมกับการปรับตัวตั้งแต่ยุคแรก สร้างระบบนักศึกษาใหม่ขึ้นมาให้เป็นตลาดวิชา พอโลกเปลี่ยนความเป็นตลาดวิชา ก็ตอบโจทย์อยู่ในขณะนี้ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการเรียนหนังสือของเยาวชนเปลี่ยนไป ประเภทที่นั่งเรียนในห้องนาน ๆ 3 ชั่วโมง 4 ชั่วโมง เด็กจะไม่ค่อยอดทน เพราะสามารถค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งอื่น ๆ ได้เร็วกว่า หากถามว่าเวลาประเมินในการทำข้อสอบเขาทำได้หรือเปล่า คำตอบคือ เขาสามารถทำได้
ปรับตัวอย่างไรในยุค ดิจิทัล ดิสรัปชัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ กล่าวว่า ม.รามคำแหง เร่งปรับปรุงฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ ให้ทันสมัยมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาประกอบกับการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม.รามคำแหงได้พิสูจน์ให้เห็นว่าในช่วงโควิด ม.รามคำแหงสอนออนไลน์ และสามารถทำได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องไปเปลี่ยนอะไรมากมาย สามารถจะเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนจำนวนนักศึกษาในแต่ละปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก จากเดิม 40,000 -50,000 คน ปัจจุบันก็ไม่ได้ต่ำกว่า 40,000 คน อาจจะส่งผลต่อองค์กรบ้าง แต่ไม่ถึงกับกระทบจนกระทั่งเกิดความเสียหาย จำนวนอาจจะลดลง แต่สิ่งหนึ่งที่ ม.รามคำแหงพยายามอย่างยิ่ง ในการรักษาปรัชญาให้ ม.รามคำแหงเป็นองค์กรที่รับใช้ประชาชนจริง ๆ นั่นก็คือการเปิดโอกาสให้การศึกษา แต่คำว่าเปิดโอกาสทางการศึกษามันจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเราคิดค่าหน่วยกิต 3,000 บาท หรือ 5,000 บาท และเราค้นพบว่าการที่หน่วยกิตยังถูก สามารถเปิดโอกาสให้ใครก็ตามที่อยากจะเรียนหนังสือได้มีโอกาสมาเรียนหนังสือ โดยคิดอัตราค่าหน่วยกิตละ 25 บาท หลายคนอาจจะมองว่า Cheap แต่ Cheap ในด้านของราคา ในแง่ของคุณภาพยังคงมีคุณภาพทางการศึกษา และให้ทุกคนได้เข้าถึงคุณภาพแบบนี้เหมือน ๆ กัน ฉะนั้นการคงไว้หน่วยกิต 25 บาท เป็นสิ่งที่ดี แต่พอรัฐบาลรับว่าจะปรับขึ้นเป็น 400 บาท ค่าปริญญาตรีขึ้น ถ้าปริญญาตรีขึ้น ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็ต้องขึ้น แน่นอนพอถึงเวลานั้นอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องขยับบ้าง แต่ให้คำมั่นสัญญากับทุกท่านได้ว่า จะไม่ขยับจนกระทั่งทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตัดโอกาสผู้คนในสังคม เราจะพยายามขึ้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ก้าวต่อไป “ตลาดวิชา” ม.รามคำแหง
53 ปีที่ผ่านมา ม.รามคำแหงเป็นที่รู้จักในแง่ สังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ ศึกษาศาสตร์ แม้กระทั่งคณะมนุษยศาสตร์ก็ตามเป็นที่กล่าวขานกัน อนาคต ม. รามคำแหงจะมีความสมบูรณ์ ก็ต้องหันไปทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปัจจุบันมีคณะพยาบาลศาสตร์ คณะทัศนมาตรศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และมีภาควิชารังสี รวมถึงแพทย์แผนไทย ปีหน้าจะเปิดคณะสหเวชศาสตร์ จะมีทั้งเทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด ตอบโจทย์เรื่องสังคมผู้สูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ที่ติดเตียง หรือว่าผู้สูงวัยที่ต้องการการดูแล หรือการพยาบาล วันนี้ ม.รามคำแหง มีความจำเป็นที่จะขยายสาขาวิชาต่าง ๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยเวิลด์ แรงกิ้ง เชื่อว่าบุคลากรทางการศึกษาของ ม.รามคำแหง มีศักยภาพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ กล่าวปิดท้าย