สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก) ก่อตั้งกลุ่มพัฒนาเกษตรกรและเครือข่ายผู้นำ (กพก.)  โดยมีนายศักดิ์ชัย ชาตาดี เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯวนเกษตรบ้านป่า ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา นำองค์ความรู้มาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินรวมถึงได้นำนวัตกรรมเข้ามาเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต

นายศักดิ์ชัย ชาตาดี กล่าวว่า วนเกษตรคือรูปแบบการทำเกษตรแบบผสมผสานที่พยายามนำเรื่องการจัดการมาปฏิบัติ โดยรูปแบบวนเกษตรมีหลักคิด 4 เรื่อง เรื่องแรกตัวแปลงคือการทำให้พื้นที่เกษตรมีรูปแบบการปลูกที่ผสมผสานแบบวนเกษตรอย่างการปลูกพืชที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมซึ่งเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพของพื้นที่ให้มีมูลค่า เดิมทีเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวเกิดความสูญเสียโดยไม่มีหลักประกัน แต่ ณ ปัจจุบันหันมาปลูกแบบวนเกษตรเพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคง เรื่องที่สององค์ความรู้ คือการเน้นใช้ความรู้จัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยเฉพาะพืชบางชนิดที่ยังไม่ได้นำมาพัฒนาต่อยอด นายศักดิ์ชัยได้ร่วมมือกับนายบรรทม สมแสน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวนเกษตร ต.พวา จ.จันทบุรี จัดทำข้อมูลเรื่องต้นโคคลานค้นพบสรรพคุณลดอาการปวดเมื่อยได้ ต้นโคคลานเป็นสมุนไพรที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากความรู้พื้นฐาน เช่น การอบ การกลั่น การตากแห้ง การหมัก และนำมาบรรจุภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่าย เรื่องที่สามเครื่องมือคือการใช้เครื่องมือเข้ามาพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพหรือคุณภาพมากขึ้น วิธีพื้นฐานอย่างการตากแห้งโดยการผึ่งแดดตัวแปรสำคัญคือแสงอาทิตย์สิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อุณหภูมิ เวลา จึงมีความเสี่ยงที่พืชจะไม่ได้มาตรฐานหรือเกิดความชื้น

ทาง ส.ป.ก. ได้ส่งมอบโรงตากหรือโรงตากพลังอาทิตย์เข้ามาส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจในเรื่องวัตถุดิบสมุนไพรทำให้คุณภาพดีขึ้นลดความเสียหายของสมุนไพรจากสาเหตุการเกิดความชื้นหรือเชื้อราได้ อีกหนึ่งนวัตกรรมคือเครื่องกลั่นสมุนไพรใช้กับพืชที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ขมิ้นชัน มะกรูด ตะไคร้ มากลั่นเพื่อทำการแปรรูป เช่น สเปรย์ไล่ยุง นวัตกรรมเครื่องกลั่นช่วยในการพัฒนาเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาของพืชโดยเฉพาะพืชที่มีน้ำมัน เรื่องสุดท้ายการวางแผนคือการวางแผนส่งเสริมให้พื้นที่ให้มีประสิทธิภาพในเรื่องของการวางเรื่องระบบน้ำ เช่น การขุดสระให้เป็นแหล่งน้ำก็ต้องใช้เรื่องของวางแผนมาส่งเสริมเพื่อให้การปลูกพืชมีผลผลิตเพิ่มขึ้น

หลักการในเรื่องตัวแปลงการเกษตร องค์ความรู้ เครื่องมือ และการวางแผน เหล่านี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้กับสวนเกษตรของตนได้ ยึดหลักการพื้นฐานที่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ก่อนปลูกและหลังปลูก ทางนายศักดิ์ชัยมีพืชกว่า300ชนิดในพื้นที่จึงเลือกปลูกพืชแบบวนเกษตร เน้นปลูกพืชหลายสายพันธุ์ลดความเสียหายได้แต่ผลผลิตน้อยกว่าการปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยวและเน้นใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากพืชบนพื้นที่ของนายศักดิ์ชัยและเกษตรกร ได้นำนวัตกรรมช่วยทุ่นแรงและลดความเสียหายที่เกิดจากปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้โดยได้รับการสนับสนุนจากทาง ส.ป.ก. ที่เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของกระบวนการผลิตสินค้าแปรรูปของชุมชนแห่งนี้