วันที่ 13 ก.ย.67 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร พร้อมด้วย พ.อ.ธนาธิป เรียงอิศราง รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดยโสธร (ฝ่ายทหาร) นายวรเทพ ทองน้อย นายอำเภอเลิงนกทา นายสรวุฒิ ปาลวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยโสธร นายพงศพัศ คำศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานยโสธร  เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนจังหวัดยโสธร ร่วมตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำห้วยลิงโจน และอ่างเก็บน้ำห้วยสะแบก รวมทั้งติดตามและตรวจสอบความมั่นคงของคลองส่งน้ำในพื้นที่อำเภอเลิงนกทา  จังหวัดยโสธร เพื่อเตรียมพร้อมรับฤดูฝนและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำโดยจุดแรกได้ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำห้วยลิงโจน ตำบลห้องแซง อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร

ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีความจุกักเก็บน้ำที่ 21.05 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้พบว่ามีปริมาณน้ำในอ่างฯ จำนวน 21.337 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 101.36 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำในอ่างฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และจุดที่ 2 อ่างเก็บน้ำห้วยสะแบก  ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีความจุกักเก็บน้ำที่ 30.30 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้พบว่ามีปริมาณน้ำในอ่างฯ จำนวน 31.00 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 102.31 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำในอ่างฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น  เนื่องจากในพื้นที่ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง    

นอกจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรยังเดินสำรวจความมั่นคงแข็งแรงคลองส่งน้ำในพื้นที่อำเภอเลิงนกทาพร้อมได้มอบหมายให้มีการพยากรณ์น้ำเข้าอ่างเก็บน้ำและปล่อยออกให้บริการชลประทานและการจัดทำน้ำประปาในพื้นที่อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในรูปแบบที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย เช่น อีกกี่เมตร/ เซนติเมตรระดับจะถึงตลิ่งที่จุดใด หมู่บ้านใด จึงจำเป็นต้องจัดให้แต่ละหมู่บ้านชุมชนริมน้ำที่เสี่ยงน้ำท่วมให้มีจุดวัดระดับน้ำตามแนวตลิ่ง และมีการรายงานข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์แจ้งให้ประชาชนได้ทราบเป็นประจำทุกวัน 

นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร  กล่าวว่า ในวันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยลิงโจน ตำบลห้องแซง และอ่างเก็บน้ำห้วยสะแบก  ตำบลบุ่งค้า ในพื้นที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร  เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำและบริหารจัดการน้ำภายในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ซึ่งเป็นต้นน้ำที่เราสามารถที่จะควบคุมและบริหารจัดการได้  เพื่อไม่ให้ไปกระทบกับพี่น้องประชาชน ซึ่งจากการตรวจสอบก็พบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 อ่างแล้ว กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและให้แจ้งประชาชนได้ทราบทุกวัน  และน้ำยังอยู่ในเกณฑ์การควบคุมได้และแต่ละอ่างมีความมั่นคงแข็งแรง