ข่าวเจ้าของฉายา “พ่อมดการเงิน” ราเกซ สักเสนา ในวัย 72 ปี ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ และผลักดันกลับประเทศต้นทาง เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา หลังติดคุกในคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ หรือบีบีซี มานานกว่า 15 ปี
โดยชื่อของ “ราเกซ” คืออาชญากรทางการเงิน ในคดีประวัติศาสตร์ ที่สั่นสะเทือนวงการธนาคาร และการเมืองไทย เมื่อ29 ปีที่แล้ว นำมาสู่ฝันร้ายหายนะทางเศรษฐกิจที่คนไทยยากจะลืมเลือน
ด้วยเมื่อย้อนกลับไปชะตากรรมของ “ราเกซ” นักการเงินเชื้อสายอินเดีย ในฐานะที่ปรึกษาของ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารบีบีซี ตั้งแต่ 2535-2539 เป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปล่อยสินเชื่อให้นักธุรกิจและนักการเมืองเข้าไปเทกโอเวอร์บริษัทต่างๆในตลาดหลักทรัพย์ ในขณะนั้น ก่อนจะนำไปขายต่อให้กับอีกบริษัทด้วยราคาสูง จนเกิดเป็นกำไรมหาศาล แบบที่เรียกว่า “จับเสือมือเปล่า” โดยไม่ได้จัดให้มีหลักประกัน และทำให้เกิดหนี้เสียกว่า 8 หมื่นล้านบาทให้กับธนาคาร เป็นสาเหตุทำให้ธนาคารล้มละลาย และส่งผลกระทบ ต่อสถาบันการเงินล้มระเนระนาด และเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติต้มยำกุ้ง
ขณะที่ประเด็นดังกล่าว ถูก สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น นำมาเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา พาดพิงถึงนักการเมืองกลุ่ม 16 ได้รับประโยชน์จากการกู้เงินจากธนาคารบีบีซี
ต่อมา “ราเกซ”ถูกดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์เมื่อปี 2539 เขาหลบหนีคดีไปอยู่ในประเทศแคนาดา ถูกจับกุมได้ในปีเดียวกัน ทางการไทยประสานงานกับทางแคนาดา เพื่อขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่ “ราเกซ” ยื่นคัดค้าน ให้หลังจากนั้นอีก 13 ปี ศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้อนุญาตให้ “ราเกซ”ยื่นฎีกา และส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย เมื่อปี 2552 และสู้คดีกันถึง 3 ศาล
วันที่ 12 กันยายน 2565 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ให้จำคุก “ราเกซ” เป็นเวลา 335 ปี และปรับ 33,500,000 บาท และให้ชดเชยค่าเสียหายให้กับธนาคารบีบีซี 2,502 ล้านบาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุก 20 ปี ตามกฎหมายลงโทษจริงและสั่งคืนเงินผู้เสียหายกว่า 2,000ล้านบาท
บันทึกไว้ สำหรับเรื่องราวของ “ราเกซ” อดีตนักศึกษาปริญญาโทสาขาวรรณกรรม จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก่อนจะพิสมัยโลกการเงินเข้าสู่เส้นทางโบรกเกอร์ค้าเงิน สั่งสมประสบการณ์ด้านการเงินและการลงทุนในหลายประเทศ ก่อนมาอยู่ประเทศไทยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน โดยไม่ทิ้งความเป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ รวมทั้งการเป็นที่ปรึกษาผู้บริหารสถาบันการเงิน จนนำมาสู่หายนะของธนาคารบีบีซี และสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสถาบันการเงินไทยหลายแห่งเป็นโดมิโน่ ขยายวงสู่เศรษฐกิจไทยพังพินาศ และบานปลายไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย
หลังจากชดใช้ด้วยเวลาแห่งชีวิตหลังม่านเหล็กกว่า 15 ปี วรรณกรรมชีวิตของ “ราเกซ” ก็มาถึงบทใหม่ ที่เขาได้รับอิสรภาพ