หมายเหตุ : “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” อดีตสส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์  ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ออกอากาศทางช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 7กันยายน 2567 ได้สะท้อนถึงหน้าตาของครม.ใหม่ “แพทองธาร 1” เข้ามาสานงานต่อจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ขณะเดียวกันมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาในหลายด้าน รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ การบริหารงานที่มี “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ที่ถูกมองว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯคนที่ 23 ด้วยหรือไม่

- โฉมหน้าครม.ใหม่ ปรากฏออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อมีการโปรดเกล้าฯเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา มีอะไรที่ผิดไปจากความคาดหมายบ้างหรือไม่

ถือว่าไม่ได้ผิดไปจากสิ่งที่หลายๆคนได้ประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่อาจจะมีบางตำแหน่งเท่านั้น ที่เปลี่ยนไป แต่ก็ยังคงเป็นครม.ที่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นพรรคการเมือง แต่คำนึงถึงเสียงที่มั่นคงของรัฐบาล เพราะฉะนั้นจึงฉีกเอาบางส่วนของบางพรรคมา เช่นเอาบางส่วนของพรรคพลังประชารัฐมา แล้วเอาบางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นอะไหล่เสริม  พ่อเป็นไม่ได้ก็เอาลูกเป็นรัฐมนตรีแทน กลายเป็นครม.สืบทอดดีเอ็นเอกัน เหมือนกับนายกฯและรมช.มหาดไทย ก็สืบทอดพ่อ ดังนั้นจึงเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า เป็นครม.ผสมข้ามขั้ว มั่วไปหมด

- วันนี้การนับหนึ่งครม.ใหม่เริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ประเด็นปัญหากลับมีเรื่องของความไม่เชื่อมั่น ในศักยภาพของคนที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ตั้งแต่ตัวนายกฯเอง ซึ่งอาจจะทำให้ข้าราชการหรือคนที่ทำงานด้วยเกิดความไม่มั่นใจว่าจะฟังคำสั่งใคร

คนที่มีบทบาทในการจัดครม.ชุดนี้สูงที่สุดนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคือคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งคุณทักษิณ เองก็ยอมรับว่าเขาไม่ได้ครอบงำ แต่ครอบครองด้วยซ้ำ ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่า คนจัดครม.ยังคงถือหลักเดิม สมัยที่คุณทักษิณ เป็นนายกฯครั้งแรก เมื่อปี 2544 คือต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก และค่อนข้างเด็ดขาด

ในปี 2544 ช่วงที่คุณทักษิณ มานั้นพบว่าเสียงสส.ยังไม่เกินครึ่งในสภาฯ แต่ได้มีการควบรวมพรรคเสรีธรรม และพรรคความหวังใหม่ จึงทำให้เสียงรัฐบาลเกินครึ่งหนึ่งไปเป็นจำนวนมาก กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่ค่อนข้างจะเด็ดขาด ซึ่ง เป็นสไตล์ของคุณทักษิณ ที่ต้องการเสียงเด็ดขาด  ดังนั้นเที่ยวนี้ก็จะเป็นไปในทำนองเดียวกัน ดังนั้นเสียงของรัฐบาลจึงค่อนข้างหนาแน่นมั่นคง  แต่เนื่องจากรอบนี้ มีรัฐธรรมนูญไปเขียนห้ามไม่ให้ มีการควบรวมพรรคการเมือง ดังนั้นวิธีคิดของคุณทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสูงสุดในการจัดรัฐบาลเที่ยวนี้ จึงทำให้ได้เห็นว่า แม้จะต้องฉีกบางพรรคการเมือง ก็ต้องทำ เช่นเสียงบางส่วนจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นพรรคอะไหล่ไปเรียบร้อยแล้ว เอามาแทนอะไหล่ที่ต้องเอาไปซ่อม คือพรรคพลังประชารัฐ บางซีกที่คนจัดรัฐบาลไม่พอใจก็ต้องเอาออกเสีย ดังนั้นหากคิดถึงในแง่ความมั่นคงของรัฐบาล ถือว่ามีมาก

ประการต่อมา คือเมื่อคุณทักษิณ มาเป็นรัฐบาลในแต่ละครั้ง จะต้องทำให้พรรคฝ่ายค้านอ่อนแอที่สุด เกมนี้จะบังเอิญหรือไม่ก็ตาม แต่ไปตรงกับช่วงของการยุบพรรคก้าวไกล ดังนั้นเมื่อดึงพรรคประชาธิปัตย์มา ก็เหลือแต่พรรคก้าวไกลที่ถูกยุบ และมีสส.ก้าวไกล ส่วนหนึ่งหายไป แล้วกลายเป็นพรรคประชาชน

แต่ถ้าจะมองต่อไปยังประเด็นความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน ผมมองว่าเที่ยวนี้รัฐบาลแพทองธาร แตกต่างจากทุกรัฐบาลที่เป็นนอมินีของคุณทักษิณ ที่ผ่านมา ทั้งยุคอดีตนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ,ยุคอดีตนายกฯสมัคร สุนทรเวช และยุคอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะนายกฯคนนี้คือลูกสาวคนสุดท้องของคุณทักษิณ ดังนั้นทั้งพ่อและแม่คงต้องใช้ทั้งพาวเวอร์ ใช้ทั้งคอนเน็กชั่น และอำนาจบารมีทุกอย่างที่มีเพื่อค้ำบัลลังก์ให้กับลูก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคุณทักษิณ ยอมเสี่ยงทุกอย่าง ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเสี่ยงมาก

จนถึงกับยอมหักพรรคบางพรรค อย่างเช่นต้องไม่มี “วงษ์สุวรรณ” หรือกลัวซ้ำรอยคุณเศรษฐา ติดเรื่องจริยธรรม จึงทำให้บางคนต้องออกไป และบางคนต้องเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ดังนั้น  ณ จุดนี้ถือว่าเสียงรัฐบาลมั่นคง แต่จะยืนได้ยาวนานแค่ไหน ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกที่เข้ามาอีกมาก

- หมายถึงปัจจัยที่มาจากเรื่องคดีความต่างๆที่มีนักร้องไปยื่นเรื่องร้องเอาไว้หลายเรื่องหรือไม่

จากนี้ไปจะมีปัจจัยชี้วัดด้วยกัน 2-3 เรื่อง ประเด็นที่ 1 คือข้อร้องเรียนในเรื่องข้อกฎหมาย  โดยประเด็นที่คุณทักษิณ กำลังเผชิญอยู่คือคดีม.112 ซึ่งอาจจะอยู่นอกเหนือครม. แต่จะน้อยหรือมากก็ย่อมมีผล เนื่องจากคุณทักษิณ มีบทบาทมีบารมีเหนือรัฐบาล

แต่ข้อร้องเรียนที่มีต่อพรรคเพื่อไทย ต่อนายกฯแพทองธาร และคนในรัฐบาล ในวันข้างหน้าก็อาจจะเป็นระเบิดเวลาที่ติดตามไป ซึ่งต้องยอมรับว่าการฉีกพรรคพลังประชารัฐ ออกเป็นสองส่วน โดยส่วนที่ออกไปคืออยู่ในปีกของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องถือว่าไม่ธรรมดา มีพรรคพวกเพื่อนพ้องเยอะ โดยเฉพาะมีเส้นสายที่อยู่ในองค์กรอิสระซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งตัวรัฐบาลเองก็ต้องไปขึ้นอยู่กับองค์กรอิสระเหล่านั้น  ดังนั้นจึงทำให้ในช่วงเริ่มต้นของการตั้งรัฐบาลจึงต้องมีความระมัดระวังกัน ถึงขนาดที่ว่ายอมหักบางส่วนเพื่อให้สามารถเดินต่อไปได้

แต่ผมมองว่าปัจจัยที่สำคัญไปกว่านั้น คือความรู้สึกของประชาชน  จะบอกว่าความรู้สึกของประชาชนไม่ได้เกี่ยวกับเสียงของรัฐบาลก็พูดยาก  ถ้ายังจำกันได้ในยุคปลายรัฐบาล “ทักษิณ 1” ประมาณปี 2545-2546  เริ่มมีเสียงต่อต้านคุณทักษิณ มีการพูดถึงการทุจริตเชิงนโยบาย จนเกิด “ม็อบพันธมิตรฯ” ม็อบเสื้อเหลืองขึ้นมา การเลือกตั้งหลังจากนั้นเป็นต้นมา ในปี 2548 คุณทักษิณ ได้เสียงสส.จำนวนมากจากการเลือกตั้งสส. เกินครึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้มา 100 กว่าเสียง ส่วนพรรคไทยรักไทย ตอนนั้นเป็น “รัฐบาลพรรคเดียว” แต่ต่อมาเกิดกรณีการขายหุ้นชินคอร์ป ให้กับต่างชาติ โดยที่ไม่จ่ายภาษีแม้แต่บาทเดียว มันกลายเป็นชนวนที่ทำให้รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 377 เสียง ล้มลงได้ในเวลาไม่เกิน 1 ปี หลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์ ทางการเมืองลุกลามตามมา

อย่าลืมว่ารัฐบาลชุดนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกของคน ที่เคยสนับสนุนพรรคที่เป็นองค์ประกอบของรัฐบาล อย่างเสื้อแดง สนับสนุนพรรคเพื่อไทย อย่างกลุ่มกปปส.หรือเสื้อเหลืองเดิม สนับสนุนทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ หรืออาจจะซีกพรรคภูมิใจไทยด้วยซ้ำไป แต่พอมาวันนี้เหมือนกับว่าผู้นำของทั้งสองข้าง “หักหลังมวลชน” แล้วหันมาจูบปากกัน คนก็มีความรู้สึกว่า ถูกหักหลัง  และเมื่อเขาดูการเมือง ก็รู้สึกว่าเหมือนกับกำลังหลอกคน เพื่อให้คนชั้นนำ มาประสานประโยชน์กัน

แต่ละพรรคการเมือง ใครจะได้เป็นรัฐบาล ได้เป็นรัฐมนตรีก็สะท้อนถึงตัวตนเจ้าของพรรคที่อยู่ตรงนั้นตรงนี้ อย่างกรณีสมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กระโดดจากพรรคพลังประชารัฐ ไปอยู่พรรคเพื่อไทย ก็ยังได้เป็นรัฐมนตรี เพราะมีเส้นสาย คนก็รู้สึกว่า การเมืองแบบนี้ไม่มีชาวบ้านอยู่ในสมการเลย แต่เป็นการเมืองของชนชั้นนำ ไม่เห็นหัวชาวบ้าน พ่อเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ก็เอาลูกมาเป็น ซึ่งไม่ใช่แค่คนเดียวด้วยในครม.

ฉะนั้นถ้าการเมืองแบบนี้เดินไป มันจะเกิดความคุกรุ่น ในความรู้สึกของคน ว่ามันไม่ใช่การเมืองของฉัน  จากนั้นก็ต้องดูเรื่องการดำเนินการตามนโยบายต่อ กับการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้านโยบายกระท่อนกระแท่น  สิ่งที่รับปากเอาไว้ก็ไม่สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จะย้อนกลับมา ทั้งเงินดิจิทัลวอลเล็ต

อย่าลืมว่าตอนนี้เริ่มมีคนที่ไม่เห็นด้วย เริ่มรวมตัวกันอยู่ข้างนอกแล้วอย่างหลวมๆ รวมถึงกลุ่มที่เคยต่อต้านระบอบทักษิณ ก็อาจจะมีชนวนบางอย่างลุกลามบานปลาย ในอนาคตอันใกล้ก็ได้ ที่สำคัญคือพฤติกรรมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ อย่าลืมว่าคุณแพทองธาร เป็นนายกฯตัวจริง แม้คุณทักษิณ จะแอ็กชั่นอยู่เบื้องหลังก็ตาม แต่การพูดจาและทุกอย่างก็อยู่ที่ตัวคุณแพทองธาร  อยู่ที่วุฒิภาวะของการเป็นนายกฯ การเป็นผู้นำประเทศ การตัดสินใจ รวมถึงครม. ซึ่งในอนาคต ก็จะมีในลักษณะที่เข้ามาเพราะมีเส้นสายในพรรค ทุกอย่างจะประกอบกัน และทำให้ความรู้สึกของคน เกิดขึ้นจะเป็นบวกหรือลบต่อรัฐบาลตามมา

- สถานการณ์ของพรรคประชาชน ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน กำลังถูกโดดเดี่ยว และอ่อนแรงในสภาฯ ขณะที่มีความเคลื่อนไหวจากความไม่พอใจของพี่น้องประชาชน นอกสภาฯ จึงมีเสียงเตือนว่ารัฐบาลอย่าประมาทเสียงของประชาชน

ผมคิดว่า คนที่เคยเป็นเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือกปปส. เขารู้สึกว่าถูกหักหลัง จากการตั้งรัฐบาลรอบนี้ ซึ่งการถูกหักหลังในทางการเมืองมีความรุนแรงมาก เพราะมันเป็นเรื่องของอุดมคติ เป็นเรื่องของความเชื่อ เป็นเรื่องของความศรัทธา ทางการเมือง วันที่คุณสร้างศรัทธาทางการเมือง คุณนำคนเหล่านั้นด้วยความเชื่อ ด้วยความศรัทธา เพื่อให้ทำบางอย่างร่วมกัน  มาถึงวันหนึ่งคุณหักล้างความเชื่อนั้น แล้วคุณก็ใช้ความเชื่อนั้นไปจับมือกับอีกขั้วหนึ่ง คนจึงมีความรู้สึกว่าถูกหักหลัง ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดการปะทะกันระหว่างคนที่ถูกหักหลัง กับตัวของ “ชนชั้นนำ” ก็จะง่ายขึ้น ที่สำคัญคือตอนนี้ช่องว่างระหว่างชนชั้นนำ คือรัฐบาล กับกลุ่มที่เป็นฐานมวลชนมันไกลไปเรื่อยๆ

-การจัดทัพของกระทรวงกลาโหม มีการเปลี่ยนเอาคุณภูมิธรรม เวชยชัย เข้าไปนั่งรมว.กลาโหม แทนคุณสุทิน คลังแสง

อันดับแรกต้องมองภาพรวมของการจัดครม.ชุดนี้ก่อน ซึ่งถือว่า คุณทักษิณ ได้แก้แค้นครบถ้วนหมดแล้ว นอกเหนือจากที่คุณทักษิณ มีอำนาจเหนือทุกคนแล้ว ยังกลายเป็นว่าทุกคนต้องมาสยบยอมกับการกำหนดเกมของคุณทักษิณ ส่วนจะเป็นการหักดีลหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เราจะเห็นได้ชัดว่า พรรคพลังประชารัฐแตก “วงษ์สุวรรณ” ไม่ได้เข้าครม. ส่วนร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งไปอยู่กับรัฐบาลใหม่แล้ว ก็ได้ประกาศอิสรภาพ วันหนึ่งก็ลาออกจากเลขาฯพรรค แล้วทิ้งพล.อ.ประวิตร ให้เจ็บปวดแล้วจะตามมาด้วยความพยายามที่จะยึดบ้านป่ารอยต่อฯ ของพล.อ.ประวิตร อีก

ขณะที่อีกพรรคการเมืองหนึ่งที่คุณทักษิณ ทั้งเกลียด ทั้งกลัว และคุณทักษิณอยากจะเหยียบย่ำมาโดยตลอด คือพรรคประชาธิปัตย์  ต้องไม่ลืมว่าตอนที่คุณทักษิณ มาเป็นรัฐบาลครั้งแรกในปี 2544 พรรคไทยรักไทย ชนะพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้านซึ่งก็ทำงานอย่างเข้มแข็งในการตรวจสอบรัฐบาล จนเป็นที่มาของการตรวจสอบเรื่องการทุจริตเชิงนโยบายทั้งหลาย จนเป็นชนวนให้กลุ่มพันธมิตรฯ ไปเคลื่อนไหวต่อ จนเป็นประเด็นทางกฎหมายซึ่งศาลพิพากษาว่าคุณทักษิณ มีความผิด จนนำไปสู่การยึดทรัพย์ ผมจึงรู้ว่าคุณทักษิณ ต้องเอาคืนพรรคประชาธิปัตย์

ซึ่งวิธีการทำลายพรรคประชาธิปัตย์ คือการทำลายสิ่งที่เป็นรากฐาน สิ่งที่เป็นจิตวิญญาณของพรรค ทุกวันนี้ผู้บริหารพรรคชุดใหม่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ยอมละทิ้งจุดยืน อุดมการณ์ ที่สืบทอดต่อกันมา 70 ปี แล้วไปร่วมรัฐบาลกับคุณทักษิณ

การทำลายพรรคประชาธิปัตย์ในแบบของคุณทักษิณ ก็คือการเอามาเป็นพวก  เป็นพรรครอเสียบ และเมื่อประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯครม.ใหม่ ออกมาแล้ว ก็เป็นไปอย่างที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ ก็ถือว่าได้แก้แค้นพรรคประชาธิปัตย์ไปด้วย

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องยอมรับว่าแกนนำพรรคจำนวนมากเคยอยู่ในกปปส. ซึ่งผมเองก็เป็นกปปส. คุณทักษิณ ก็สามารถดึงแกนนำพรรคส่วนนี้มาเป็นลูกน้องในครม. ได้มาเป็นลูกน้องลูกสาวของตัวเอง ก็เหมือนเป็นการถอนแค้น  และอย่าลืมว่ามีนายทหารบางคนที่ไปเป็นรมช. กลาโหม รอบนี้ด้วย ซึ่งมาจากสายไหน ใครก็รู้กัน

ดังนั้นการที่เอาคุณภูมิธรรม มานั่งรมว.กลาโหม นั้นต้องถามว่าคุณทักษิณ มีความรู้สึกกับทหารไหม ก็ต้องบอกว่า มีแน่นอน ถูกปฏิวัติรัฐประหารมาสองครั้ง ก็เอาคืนด้วยการส่งอดีตคอมมิวนิสต์ไปนั่งปกครองคุณเสียเลย

มันมีปฏิกิริยาจากนายทหารบางส่วนต่อสิ่งเหล่านี้ และอาจจะเป็นระเบิดเวลาในอนาคตหรือไม่ เรายังไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ ถือว่าคุณทักษิณ ได้ถอนแค้นสำเร็จแล้ว

-มองวันนี้ไปจนถึงการอยู่ครบเทอมของรัฐบาลชุดนี้ จะอยู่ครบ 3 ปีที่เหลือหรือไม่

ผมว่าไม่ใช่ประเมิน 3ปี หรือ 1ปี แต่ผมให้ประเมินกันแบบวันต่อวัน ด้วยซ้ำไป ในสภาพการณ์แบบนี้ ด้วยเหตุที่ว่ามีหลายปัจจัยที่เราพูดถึง และไม่ง่ายเลย แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือการทำการเมืองแบบข้ามขั้ว มั่วซั่ว แล้วหักหลังมวลชน เคยมีคนพยายามอธิบายว่าเพื่อต้องการไปสกัดพรรคก้าวไกล สกัดด้อมส้ม แต่สิ่งที่ผมกำลังพูดถึงคือการที่เล่นการเมืองแบบเอาคนออกไปจากวงจร แล้วกลุ่มผู้มีอำนาจ มาตกลงประสานผลประโยชน์กันเอง จะกลายเป็นการเอื้อให้พรรคประชาชนเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

และหากวันเวลาของรัฐบาลต่อยาวออกไปเรื่อยๆแล้วพรรคประชาชนเดินถูกทาง เชื่อว่าจะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น เอาง่ายๆเลยผมเชื่อว่าในการเลือกตั้งรอบหน้า พรรคประชาชนมาแน่นอน ในภาคใต้

ขณะที่ตัวนายกฯแพทองธาร นั้นเพียงแค่การตอบคำถามที่หลายฝ่ายกดดันหรือโยนเข้าไปในแต่ละวันนี่ ถือว่าเหนื่อยแล้ว ประกอบกับตอนนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ดีเลย มีแต่ข่าวลบมากกว่าข่าวบวก จะไม่ให้ประเมินอายุรัฐบาลวันต่อวันได้อย่างไร วันนี้มีชาวบ้านมาถามอยู่เรื่อยๆ ว่ารัฐบาลจะจบอย่างไร ผมก็บอกว่าไม่รู้ แต่ที่ผมรู้ เชื่อว่าตอนจบศพคงไม่สวยหรอก