วันที่ 13 ก.ย. 2567 เวลา 11.00 น.ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการแถลงนโยบายของรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า เรื่องของการจัดการเวลาถือว่ายังอยู่ในกรอบ ตนเชื่อว่าเรื่องจัดการเวลาไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากเราคุยกันตลอด ส่วนเรื่องเนื้อหาก็เป็นที่น่าพอใจ ทุกคนก็ทำได้ดี อาจจะเป็นห่วงนิดหนึ่ง  เรื่องบรรยากาศภายในสภาฯ ที่มีการประท้วงกันหลายรอบ ไม่ให้พูดถึงเรื่องอดีต ทั้งที่พรรคร่วมรัฐบาลก็พูดมาตลอดว่ารัฐบาลนี้สืบทอดเจตนารมย์มาจากรัฐบาลเดิม แต่พอฝ่ายค้านพูดถึงรัฐบาลเดิมก็กลับประท้วง แต่พรรคร่วมรัฐบาลเองก็พูดถึงรัฐบาลเดิมอยู่บ่อยครั้ง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ก็พูดเองว่าเป็นการสืบสานอุดมการณ์มาจากพรรคเดิม แต่พอฝ่ายค้านพูดกลับไม่ให้พูด อีกเรื่องที่กังวลคือสไลด์อภิปรายมีการเบลอหน้าบุคคลภายนอก บางท่านก็เป็นอดีตรัฐมนตรี ส่วนตัวถ้าเบลอหน้ารู้สึกว่าเป็นการไม่ให้เกียรติบุคคลในภาพเสียด้วยซ้ำ ดูไม่ดียิ่งกว่าเดิมอีก

“ทุกคนที่อภิปรายเป็นบุคคลสาธารณะ และเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เป็นการตั้งคำถามว่ารัฐบาลนี้จะดำเนินการต่ออย่างไร ผมคิดว่าสภาฯแห่งนี้ประชาชนเลือกให้เรามาพูดถึงเรื่องข้างนอกที่กระทบต่อชีวิตประชาชน ดังนั้น การเคร่งครัดไม่ให้พูดถึงบุคคลภายนอกทำให้สภาฯทำงานได้ไม่เต็มที่ ประชาชนเลือกเรามาให้พูดถึงปัญหาของเขา ไม่ได้เลือกเรามาให้คุยกันเอง ตนกังวลว่าจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีในอนาคต”นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

เมื่อถามถึงนายกฯก็เปรยว่าอยากทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ยืนยันมาตลอด ว่าเรื่องที่เห็นร่วมกัน เราก็ทำงานร่วมกันได้แน่นอนอยู่แล้ว ร่างกฎหมายใดที่รัฐบาลเสนอมา แล้วเราเห็นว่าเป็นระโยชน์คงไม่ค้านอยู่แล้ว ก็เห็นกันอยู่ว่าเราสนับสนุนในหลายๆครั้ง หลายเรื่องเราก็ไม่ได้ขัด ไม่ได้แย้ง พูดคุยกันในวิปแล้วทำให้ราบรื่นไปตลอดรอดฝั่ง ไม่ได้เป็นฝ่านแค้นอยู่แล้ว หลายครั้งมากๆที่เราเห็นตรงกัน

เมื่อถามว่าเป็นการตอกย้ำหรือไม่ว่า พรรคประชาชนไม่กล้าค้านพรรคเพื่อไทย เช่น เรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมชั้น 14  นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หากติดตามการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ก็คงเห็นว่านพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โดนประท้วงหนักเหมือนกัน เพราะเนื้อหาค่อนข้างเข้มข้น มีรัฐมนตรีในขณะนั้นลุกขึ้นมากึ่งๆข่มขู่ ร้องเรียนเรื่องมาตรฐานวิชาชีพแพทย์ด้วยซ้ำ หากติดตามดีๆ เราตรวจสอบทุกเรื่อง แต่ตนคิดว่าเป็นการยืนอยู่บนหลักการมากกว่า

“ถ้าหากถามว่าเราไม่กล้าค้านพรรคเพื่อไทย ถ้าเป็นหลักการที่เราเห็นด้วย แล้วเราค้าน นั่นแหละที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน ” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

เมื่อถามว่าสังคมตั้งข้อสงสัยว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อาจจะครอบงำน.ส.แพทองธาร ในการแถลงนโยบาย ทำไมพรรคประชาชนไม่พูดถึงเรื่องนี้ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า มีหลายคนที่พูดถึงนายทักษิณ แล้วโดนประท้วง ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ตนเอ่ยถึงว่าการพูดถึงบุคคลภายนอกไม่ได้เลย จะกลายเป็นปัญหา แต่สิ่งที่รัฐมนตรีหลายท่านพูด ตนก็เห็นด้วย ไม่ว่าคำแนะนำของใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนายทักษิณหรือคนอื่นแนะนำมาและมีประโยชน์ แล้วรัฐบาลหยิบไปใช้ ตนคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร เสียงวิพากษ์วจารณ์ของประชาชน หรือแม้กระทั่งจากสมาชิกก็เป็นสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งข้อสงสัย

เมื่อถามว่านายกฯ ขอให้ฝ่ายค้านเลิกเป็นฝ่ายแค้น นายปกรณ์วุฒิ ฝากข้อความไปถึงนายกฯว่า “ถ้าท่านนายกฯได้ติดตามการทำงานในสภาฯของพวกเรา ใน 1 ปี ท่านนายกฯคงจะรู้ว่าเราไม่ได้ทำตัวเป็นฝ่ายแค้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อวานนี้ท่านนายกฯได้ติดตามการอภิปราย จากพรรคประชาชนหรือพรรคร่วมฝ่ายค้านเองหรือไม่ว่าทำตัวเป็นฝ่ายแค้นตอนไหน ไม่แน่ใจว่าใครไปบอกให้ท่านนายกฯพูดแบบนี้ อยากให้ลองเปิดใจให้กว้าง ถ้าท่านายกฯได้ฟังจริงๆ จะพบว่าทางเราก็มีคำแนะนำ ข้อติติงหลายอย่างที่ท่านอาจจะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งหากนำไปใช้ก็เป็นประโยชน์ ”

เมื่อถามว่านายกฯ และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม ระบุว่าไม่อยากให้ฝ่ายค้านใช้วาทกรรม นายปกรณ์วุฒิ สวนกลับทันทีว่า 1 ปีที่ผ่านมา คนที่พูดว่าวาทกรรมบ่อยที่สุดคือ นายภูมิธรรม  ฝ่ายค้านแทบไม่ได้สร้างวาทกรรมอะไรเลย แต่หากทุกคนสังเกตดูเมื่อไหร่ที่นายภูมิธรรมเปิดไมค์จะพบว่ามีคำว่าวาทกรรมขึ้นมาทุกครั้ง ไม่รู้ว่าติดใจอะไรกับคำนี้มากหรือไม่ หรือมีปมอะไร ถ้าตั้งใจฟังจริงๆ ไม่มีอคติ ก็คงรับรู้ได้ว่าข้อติติงหลายอย่างเสนอด้วยความหวังดี

เมื่อถามว่า การแถลงนโยบายไม่มีการลงมติ แต่จะมีการขีดเส้นให้เวลารัฐบาลทำงานอย่างไร นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หลังจากนนี้คงมีการพูดคุยกันอีกครั้ง เพราะตอนแรกเราจะเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ในสมัยประชุมนี้ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ใหญ่ๆเกิดขึ้น สถานการณ์อาจจะเปลี่ยน ดังนั้น หากมีเนื้องสาระมากพอก็พร้อมที่จะเปิดอภิปราย

นายปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะประเมินการแถลงนโยบายของนายกฯอย่างไร เพราะตามข้อบังคับกำหนดว่าต้องอ่านคำแถลง ซึ่งตนคิดว่านายกฯไม่จำเป็นต้องตอบคำถามเองทุกเรื่องก็ได้ โดยรวมอยากเห็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอบคำถามทั้งชุดมากกว่าพูดในหลักการที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้