เดินหน้าการทำงานอย่างเป็นทางการของคณะรัฐบาล “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี  พร้อมคณะรัฐมนตรี หลังได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

จากนี้การทำงานตามนโยบายของแต่ละกระทรวงก็จะเริ่มได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เข้าตาประชาชน และฝ่ายค้าน ที่เกาะติดทำทำงานชนิดหายใจรดต้นคอ!

และหนึ่งนโยบายที่ถือว่าสร้างผลงานได้ดีในระดับหนึ่ง และเตรียมที่จะนำมาใช้ต่อเนื่อง “นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ของกระทรวงคมนาคม

โดยในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แจ้งว่า จะเดินหน้า “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย โดยค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสีทุกสาย ค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ซึ่งจะผลักดันให้สำเร็จภายในเดือนกันยายน 2568 ทั้งนี้เพื่อยกระดับการให้บริการระบบคมนาคมขนส่ง พร้อมสนับสนุนภาคโลจิสติกส์ของไทยในทุกมิติครอบคลุมทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าต่อเนื่องและไม่สะดุด นอกจากนี้ได้เตรียมตั้งคณะทำงาน เพื่อเร่งรัดทำรายละเอียดต่างๆ ที่จะทำให้นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายเกิดขึ้นได้จริงกับรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทุกสีทุกสาย ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคม นำร่องมาตรการดังกล่าวกับรถไฟฟ้าแล้ว 2 สาย ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.66 ได้แก่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ซึ่งปริมาณผู้โดยสารทั้ง 2 สาย เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางจัดหาเงินชดเชย คาดว่าจะจัดตั้งเป็นกองทุนตั๋วร่วมที่นำเงินมาจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ส่วนผลการศึกษาเบื้องต้น คาดว่าจะจัดใช้วงเงินชดเชยประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี โดยหากปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ปริมาณจ่ายเงินชดเชยก็จะลดลงอย่างต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2568 ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาล่าสุด มั่นใจว่าในช่วงกลางปี 2568 จะสามารถนำรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว 3 สายในปัจจุบัน เข้าร่วมนโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง

ขณะที่ “ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์” อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า นโยบาย ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ที่ผ่านมามีประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยปัจจุบันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เริ่มใช้ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยจากข้อมูลตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 จนถึงวันที่ 31 พ.ค.2567 หรือประมาณ 7 เดือนครึ่ง พบว่า ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรวม 2 สาย 20.86 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 (16 ต.ค.2565-31 พ.ค.2566) ซึ่งผู้โดยสารอยู่ที่ 17.68 ล้านคน โดยสายสีแดง ผู้โดยสาร 6.21 ล้านคน เพิ่มขึ้น 27.61% นอกจากนี้สายสีม่วง ผู้โดยสาร 14.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.53% ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการ ส่งผลให้การสูญเสียรายได้ของทั้ง 2 สายลดลงจากที่คาดการณ์ว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี

ด้าน “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แสดงความเห็นถึงนโยบาย ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายของกระทรวงคมนาคมว่า ส่วนตัวมีความยินดีที่รัฐบาลจะซื้อรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดูแลคนเดียว จะสามารถเกลี่ยรายได้ของรถไฟฟ้าแต่ละสายได้ ทำให้การดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำได้ แต่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล หรือ รฟม. อาจจะมีหลายผู้ประกอบการในการให้บริการ เช่น BTS BEM รฟท. เป็นต้น แต่เนื่องจากขณะนี้แต่ละสายมีสัมปทานอยู่ การซื้อคืนสัมปทานก็มีความซับซ้อนมากขึ้น

“ค่าใช้จ่ายในการดูแลโครงการรถไฟฟ้า อาทิ ค่าจ้างเดินรถเป็น อีกเหตุผลหนึ่งที่ กทม.ไม่ทำรถไฟฟ้าเพิ่มในสายสีเงิน และสายสีเทา และอยากโอนคืนให้ รฟม.เป็นคนดำเนินการ เนื่องมาจาก ปัจจุบันกทม.มีรายจ่ายประจำปี ประมาณ 90,000 ล้านบาทต่อปี แต่ต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ปีละ 8,000 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 10% ของงบประมาณรายจ่าย แต่หลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 กทม.คงมีรายได้จากค่าโดยสารเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง กทม.ไม่ได้หวง ถ้าวิธีไหนเกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด คือทางที่ดีที่สุด”

ด้าน “นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ” กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า  นโยบายเร่งด่วน ที่จะเห็นผลไวและช่วยหนุนจีดีพีปีนี้ จะเป็นนโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งขึ้นอยู่กับเม็ดเงินที่จะใส่ลงในระบบเศรษฐกิจ แต่ประเมินตัวเลขไว้เบื้องต้นจะอยู่ที่ 0.1% ของจีดีพี แต่นโยบายที่เป็นโจทย์และเป็นตัวชี้วัดผลงานของรัฐบาล หากสามารถทำ ได้ดีจะมีผลกับเศรษฐกิจค่อนข้างมาก คือ การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ การกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาเดียว เนื่องจากเป็นต้นทุนมหาศาล และเป็นต้นทุนที่แพงโดยไม่จำเป็น หากเทียบกับต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ จะมีต้นทุนค่าเดินทางที่ถูกกว่า และสะดวกกว่าไทย ทำให้ค่าครองชีพในการทำงานสูงขึ้น

การเดินหน้า “นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของทุกเส้นทาง จะเป็นไปได้หรือไม่!?!  คงต้องฝากความหวังกับรัฐบาล “นายกฯอุ๊งอิ๊ง -สุริยะ รมว.คมนาคม” จะสร้างผลงานชิ้นโบว์แดงได้หรือไม่!?! ติดตามกันต่อไป