ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

จักรวาลชีวิตก็ไม่ต่างจากจักรวาลอวกาศ คือผนึกและเคลื่อนไปด้วยกันด้วยแรงดึงดูดระหว่างกัน

ธงชัยเป็นนักกฎหมายไม่ได้เป็นนักดาราศาสตร์ แต่ดูเหมือนว่าเขาจะล่วงรู้ “หลักการสำคัญ” ของชีวิตว่า คนเล็ก ๆ ก็คือ “ดาวเคราะห์” ไม่มีแสงและแรงดึงดูดในตัวเอง จึงต้องอาศัยคนใหญ่ ๆ ผู้เป็น “ดาวฤกษ์” ที่มีแสงในตัวเองพร้อมกับแรงดึงดูดมหาศาล ความสัมพันธ์แบบนี้เรียกว่า “ระบบสุริยะจักรวาล” และด้วยการวางแบบชีวิตเช่นนี้จึงทำให้ชีวิตของธงชัยไม่เคยตกต่ำ หรืออาจจะไม่เจิดจรัสสว่างจ้า แต่ก็มีชีวิตอยู่ในทุกวงโคจรของอำนาจ ที่ดาวฤกษ์ดวงนั้นจะนำพาเข้าไป

ครอบครัวของธงชัยมีบรรพบุรุษเป็น “จีนใหม่” ซึ่งก็คือกลุ่มคนจีนที่อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่ ภายหลังที่ราชวงศ์ชิงล่มสลายใน พ.ศ. 2455 แล้วในประเทศจีนก็เกิดสงครามรบพุ่งกันวุ่นวายมาก กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง พรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยเหมาเจ๋อตุงก็เข้าปกครองประเทศจีน คนจีนอพยพในรุ่นนี้ส่วนใหญ่จะมีฐานะค่อนข้างดีและกลัวภัยคอมมิวนิสต์ ที่ลือกันว่าจะมายึดทรัพย์สินทุกอย่างเอาเข้าเป็นของรัฐ อาก๋งของธงชัยก็เช่นเดียวกัน แต่กว่าจะได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็ต้องอาศัยเส้นสายและเสีย “เบี้ยบ้ายรายทาง” ไปมากพอสมควร รวมทั้งที่พอมาถึงพระนคร(ชื่อเดิมของกรุงเทพฯในสมัยก่อน)ก็ต้องจ่าย “ค่าคุ้มครอง” ที่จะไม่ให้ใครมารบกวน จากนั้นจึงจะสามารถไปทำมาหากินหรือทำมาค้าขายต่อไปได้

สังคมคนจีนแม้จะมาไกลจากต่างถิ่นต่างแดนและไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ระบบความสัมพันธ์ทางเครือญาติก็มีความเข้มแข็งดีมาก พวกจีนเก่าที่อพยพเข้ามาไทยตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและเข้ามาทำงานเป็นกุลีกับอยู่ในเรือกสวนต่าง ๆ นั้น พออยู่มากว่าร้อยปี หลายครอบครัวก็กลายเป็นเศรษฐีมั่งคั่ง ได้จัดตั้งกลุ่มตระกูลแซ่ต่าง ๆ เข้าช่วยเหลือกันและกัน รวมถึงสมาคมสงเคราะห์และการกุศลต่าง ๆ กระจายไปทั่วประเทศ บางแซ่บางสมาคมไปตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารให้กับผู้อพยพที่เข้ามาใหม่ตามท่าเรือต่าง ๆ ทั้งยังช่วยหางานและที่พักอาศัยให้อีกด้วย ตลอดจนช่วยคุ้มครองทรัพย์สินและความปลอดภัยให้กับคนที่นำทรัพย์สินเข้ามา หรือใครต้องการที่จะลงทุนหรือค้าขายต่อไป กลุ่มสมาคมเหล่านี้ก็ช่วยเหลืออย่างเต็มที่

อาก๋งของธงชัยเป็นคนจีนไหหลำ พาครอบครัวคืออาม่ากับลูก ๆ 5 คนมากับญาติและคนร่วมตำบลคนอื่น ๆ รวม 40 กว่าคน ลงเรือใบติดเครื่องยนต์ลำใหญ่มาขึ้นฝั่งที่ปากพนัง นครศรีธรรมราช ที่นั่นก็มีสมาคมชาวไหหลำช่วยดูแลจัดหาที่พักให้ อยู่ที่นั่นได้สักครึ่งปีก็ลงเรือเข้ามาทางปากน้ำ ขึ้นท่าที่แถววัดยานนาวา ที่นี่ก็มีสมาคมชาวไหหลำมาช่วยเหลือเช่นกัน เตี่ยเล่าให้ฟังว่าตอนนั้นเตี่ยเป็นวัยรุ่นแล้ว อายุประมาณ 15-16 ปี เตี่ยเป็นลูกชายคนโต น้องสาวอีกสามอายุห่างกันออกไปคนละสองปีตามลำดับ จนถึงน้องชายคนสุดท้องก็อายุประมาณ 8 ขวบ เตี่ยบอกว่าที่ต้องรออยู่ปากพนังถึงกว่าครึ่งปีนั้น ก็เพื่อให้สมาคมหาบ้านที่พระนครให้ พร้อมกับหางานเพื่อหารายได้ต่อไป โดยที่อาก๋งเป็นช่างไม้มีฝีมือ จึงหางานได้ไม่ยาก ในพระนครสมัยนั้น “พวกผู้ลากมากดี” และ “เศรษฐีใหม่” (คือพวกที่ร่ำรวยจากการค้าขายในระหว่างสงครามโลก) ชอบสร้างบ้านเรือนแข่งกัน โดยเฉพาะบ้านแบบฝรั่งซึ่งอาก๋งมีความเชี่ยวชาญมาตั้งแต่ครั้งที่อยู่ในเมืองจีน งานจึงไม่ขาดมือ โดยมีเตี่ยเป็นผู้ช่วย พร้อมกับจ้างคนไทยหนุ่ม ๆ อีก 4-5 คนมาฝึกงานและเป็นลูกมือ แรก ๆ ก็ร่วมกับกลุ่มคนจีนที่รับเหมากันทำอยู่ก่อนนั้น โดยอาก๋งกับเตี่ยจะรับในส่วนของงานไม้และทำเฟอร์นิเจอร์ในตัวเรือน แบบที่สมัยนี่เรียกว่า “บิ้วท์อิน” ได้รับค่าจ้างดีมาก ทำให้อาก๋งสร้างฐานะขึ้นได้อย่างรวดเร็ว กระทั่งต่อมาก็หาหุ้นส่วนเป็นเป็นคนไทยคนหนึ่ง ตั้งห้างหุ้นส่วนขึ้นมารับงานก่อสร้างและทำเฟอร์นิเจอร์ พออาก๋งอายุมากขึ้นก็วางมือให้เตี่ยรับช่วงต่อ ถึงตอนนี้อาก๋งกับเตี่ยก็เข้าไปช่วยสมาคมชาวไหหลำ ทั้งเข้าไปเป็นกรรมการและบริจาคทรัพย์สิน เวลานั้นไม่ใคร่จะมีชาวจีนอพยพเข้ามาเช่นแต่ก่อน แต่ก็ยังมีชาวจีนที่อพยพเข้ามาแล้วยังตกทุกข์ได้ยากอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพวกที่ไม่มีความรู้ ไม่มีฝีมือ รวมทั้งที่ไม่มีทรัพย์สิน หรือบางคนก็ไปลงทุนค้าขายขายทุน รวมถึงที่พิการหรือติดคุกติดตะราง ซึ่งคนจีนที่ทำการกุศลและบริจาคทรัพย์มาก ๆ เหล่านี้ จะได้สิทธิพิเศษอย่างหนึ่งที่สำคัญและเป็นที่ต้องการของคนจีนอพยพมาก นั่นก็คือ “การได้สัญชาติไทย” ที่ในสมัยนั้นถือว่า “มีค่ามหาศาล” ส่วนมากแล้วแล้วต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แต่ถ้ามีสมาคมช่วยเบิกร่องนำทางก็สะดวกและง่ายขึ้น แต่กระนั้นก็ต้องมีการจ่ายเงินให้กับ “เจ้านาย” เป็นจำนวนไม่น้อย

“ระบบเจ้านาย” นี่แหละที่ถูกปลูกฝังมาในตระกูลของธงชัยตั้งแต่รุ่นอาก๋งนั้น คือถ้าจะอยู่ในสังคมไทยให้อยู่รอดก็จะต้องมีเจ้ามีนาย มีผู้ใหญ่ปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือค้ำจุน คนที่ไม่มีเจ้านายเขาเรียกว่าพวกคนที่ “ไร้ญาติญาติอีโต้” หรือ “ผีหัวขาด” อย่างที่สำนวนไทยเรียกว่า “ไม่เห็นเงาหัว” หรือไม่มีสง่าราศี คนที่มีเจ้านายอย่างน้อยก็เป็นคนที่มี “ราศี” มีคนคบและมีเกียรติในสังคม อย่างน้อยก็ตามเจ้านายที่เราเข้าไปเป็นลูกน้องนั่นเอง ในยุคที่อาก๋งและเตี่ยทำมาค้าขายอยู่นั่น ในเวลาที่มีปัญหาหรือขัดแย้งกับใคร เพียงแต่บอกว่าเป็นลูกน้องของใคร ผู้คนก็เกรงใจและปัญหาต่าง ๆ คลี่คลาย ทั้งบางทีก็ยิ่งได้รับการนับหน้าถือตาหรือได้รับความยำเกรงเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อาก๋งมีอายุยืนกว่า 90 ปีมาถึง พ.ศ. 2515 ตอนนั้นธงชัยสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ นับเป็นคนในตระกูลคนแรกที่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย พอไปบอกอาก๋งที่จำอะไรไม่ค่อยได้แล้ว แต่ก็ยังพอจะพูดให้พรได้ในแนวทางของแกที่ให้พรนี้มาตลอด ว่า “เราเป็นคนมีเจ้ามีนาย อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ แล้วจะรุ่งเรืองตลอดไป” ซึ่งก็เหมือนทุกครั้งที่ธงชัยฟังจบ คือพนมมือขึ้นหัวแล้วลูบหัวสามครั้ง เหมือนจะรับพรนั้นไว้เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นก็ลืมไปโดยไม่ได้คิดว่าจะเป็น “พรศักดิ์สิทธิ์” อันใด

อาก๋งจากโลกไปอย่างสงบในปีต่อมา แล้วพอในปีที่ธงชัยเรียนจบเตี่ยก็มาจากไปอีกคน เตี่ยเป็นคนที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิต คงเป็นด้วยยึดในพรของอาก๋งอย่างแน่นแฟ้น คือเตี่ยจะ “เข้าเจ้าเข้านาย” อย่างสม่ำเสมอ ทุกเทศกาลและวันสำคัญต่าง ๆ เตี่ยจะมี “ของขวัญ” ต่าง ๆ ไปให้เจ้านายเป็นจำนวนมาก ไม่เฉพาะแต่จำนวนของขวัญแต่รวมถึงจำนวนเจ้านายที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปีนั้นด้วย แม้แต่ในช่วงท้าย ๆ ที่เศรษฐกิจของครอบครัวไม่ค่อยดีนัก เตี่ยก็ยังรักษา “ประเพณี” นี้ไว้อย่างไม่ถดถอย ซึ่งเมื่อเตี่ยมาสิ้นไปแล้ว ธงชัยก็ต้องมาคิดว่าจะจัดการอย่างไรกับ “ประเพณี” ที่ทำมาแบบนี้ของตระกูลต่อไปดี

ธงชัยมองย้อนไปในอดีต นึกเทียบตระกูลตัวเองว่าที่ผ่านมานั้นทำตัวเป็น “หิ่งห้อย” ที่แม้จะพยายามส่องแสงเพียงไรก็มีแสงสว่างเทียบเท่าดวงอาทิตย์ไม่ได้ รวมทั้งแสงของดวงดาวและดวงเดือนที่ส่องมาในยามค่ำคืนนั้นด้วย อาก๋งหรือเตี่ยจึงไม่พยายามแข่ง “เปล่งแสง” สู้กับดวงอาทิตย์ แต่ดูดวงดาวและดวงเดือนนั่นสิยังมีแสงอยู่ได้เสมอ ก็ด้วยอาศัยสะท้อนแสงของดวงอาทิตย์นั่นเอง

นี่เองที่นำมาสู่ทฤษฎี “ร่วมแรง ร่วมแสง ร่วมวงโคจร” ที่ธงชัยคิดขึ้นมาได้เอง !