วันที่ 12 ก.ย.67 ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมด้านยางพารา ประจำปี 2567 สำหรับบุคคลภายนอก รอบนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงาน มุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการคิดค้นนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ต่อยอดเชิงพาณิชย์ ดันมูลค่ายางสูงขึ้น พร้อมสนับสนุนให้เกิดการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น ณ ห้องประชุมกันตัง กยท. สำนักงานใหญ่

ดร.กฤษดา กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยสถาบันวิจัยยาง ได้ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบยางพารา ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านยางพาราเพื่อความยั่งยืน ดำเนินการจัดกิจกรรมประกวดนวัตกรรมด้านยางพารา ประจำปี 2567 ขึ้น โดยเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอก ตั้งแต่ บุคคลทั่วไป เกษตรกรชาวสวนยาง นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ รวมถึงอาจารย์ สามารถสมัครเข้าร่วมส่งผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ด้านยางพาราได้ โดยนวัตกรรมที่นำเสนอภายในการประกวดครั้งนี้จะถูกนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์และนำไปประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านยางพาราในตลาดแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศ เพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา และยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ชาวสวนยางที่เปรียบเสมือนต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานของยางพารา ตลอดจนให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ยางพาราเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

ดร.กฤษดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกวดนวัตกรรมด้านยางพารา ประจำปี 2567 มีผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานจำนวน 67 ทีม และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคัดเลือกเหลือ 29 ทีม เข้านำเสนอผลงานในวันนี้ ทั้งนี้ กยท. ได้แบ่งการประกวดออกเป็นนวัตกรรมด้านต้น และด้านกลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยแบ่งรางวัลตามประเภทการประกวดคือ รางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น รางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา รางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับอุดมศึกษาและบัณฑิตศึกษา และรางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับอาจารย์หรือนักวิจัย โดยบรรยากาศการประกวดในวันนี้ มีการนำเสนอนวัตกรรมด้านยางพาราหลากหลายรูปแบบและน่าสนใจ ซึ่งถือเป็นการยกระดับวัตถุดิบยางพาราสู่ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในภาคอุตสาหกรรมได้จริง

สำหรับผลการประกวดนวัตกรรมด้านยางพารา ประจำปี 2567 มีผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทต่างๆ ดังนี้ ระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น (ด้านต้นน้ำ) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เครื่องผสมน้ำยางอัตโนมัติสำหรับผลิตยางแผ่นดิบด้วยรางตะกงแบบเดี่ยว โดย นายณัฐพล ช่วยเทศ ระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น (ด้านปลายน้ำ) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ อิฐดินไม่เผาจากขี้เลื่อยไม้ยางพาราผสมไฮเดรตไลม์  โดย นางสาวชลธิชา เดชทองคำ ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา (ด้านต้นน้ำ) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ Dr.Rub : แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สําหรับวินิจฉัยโรคที่ปรากฏบนใบยางพารา จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยปทุมธานี

​​​​​​​ ​​​​​​​

ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา (ด้านกลางน้ำ) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ Watex : นวัตกรรมระบบบําบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรมผลิตน้ำยางข้นด้วยเทคนิคโฟโตอิเล็กโตรคะตะไลติก จากขั้วไฟฟ้า FTO/WO_3/BiVO_4 ประสิทธิภาพสูง จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยปทุมธานี ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา (ด้านปลายน้ำ) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ Geoblock นวัตกรรมผงจีโอพอลิเมอร์จากเถ้าลอยไม้ยางพาราผสมแบไรต์สําเร็จรูปสําหรับการใช้งานในสภาพแวดล้อมทะเล จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยปทุมธานี ระดับอุดมศึกษาและบัณฑิตศึกษา (ด้านต้นน้ำ) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นวัตกรรมน้ำยางยั่งยืน: การใช้สารรักษาสภาพน้ำยางใหม่แทน TMTD/ZnO จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ระดับอุดมศึกษาและบัณฑิตศึกษา (ด้านปลายน้ำ) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ การพัฒนาถ่านกัมมันต์จากขี้เลื่อยไม้ยางพาราโดยการแปรรูปสองขั้นตอนเพื่อใช้เป็นวัสดุฟอกสีในอุตสาหกรรมอาหาร จาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระดับอาจารย์และนักวิจัย (ด้านปลายน้ำ) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นวัตกรรมน้ำยางและผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติปราศจากโปรตีนก่อภูมิแพ้ : พลังแห่งเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน จาก มหาวิทยาลัยมหิดล