…ที่ผ่านมา มีการคาดการณ์กันว่า อนาคตกรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองจมบาดาล จากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ทำให้ระดับน้ำอ่าวไทยยกตัวสูง ส่งผลให้แม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงตามไปด้วย เหตุนี้ กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับแม่น้ำเจ้าพระยาอาจต้านทานไม่ไหว ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์น้ำของกทม.ปัจจุบันนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผุ้ว่าฯกทม.ย้ำว่ายังไม่น่าห่วง แม้จะมีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางบางจังหวัด แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ น้ำทะเลหนุน และอาจมีฝนตกหนักในพื้นที่ กทม.แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ว่าคนกรุงเทพฯขยาดกับข่าวน้ำท่วมกรุงที่อาจจจะเกิดขึ้นซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554…

นายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ด้านวิชาการ (สนน.) อธิบายว่า การคาดการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในสื่อไทยและต่างประเทศ อาจทำให้ประชาชนบางส่วนหวั่นวิตก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยืนยันไม่ได้ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา สนน.มีพันธกิจหลัก คือ 1.พัฒนาสาธาณูปโภคพื้นฐานด้านการป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำ รองรับการเจริญเติบโตของเมือง เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างปลอดภัย 2.พัฒนาสิ่งแวดล้อมด้านการจัดการคุณภาพน้ำ บนพื้นฐานของความน่าอยู่อย่างยั่งยืน 3.พัฒนาสมรรถนะของบุคลากรของสำนักการระบายน้ำ มีการแก้ปัญหาและป้องกันน้ำท่วมตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วน เช่น กรมอุทกศาสตร์ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น

จากสถิติ ระดับแม่น้ำเจ้าสูงสุดที่ 2.53 เมตร ในปี 2554 ขณะพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีระดับประมาณ 00 +0.50 ถึง +1 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) แต่ปัจจุบัน กทม.มีการพัฒนาคันกั้นริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ความสูง 2.8 เมตรช่วงด้านล่าง และ 3.5 เมตรช่วงด้านบนของแม่น้ำ ตามแนวลาดเอียงของพื้นที่ ซึ่งระดับน้ำเจ้าพระยาเดือน ก.ย.67 อยู่ที่ประมาณ 1.75 เมตร ยังสามารถรองรับมวลน้ำจากภาคเหนือไหลลงมาได้

ขณะเดียวกัน กทม.ยังมีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ธนาคารน้ำ (Water Bank) แก้มลิง โดยเฉพาะระบบสูบน้ำภายในตามแนวคันกั้นริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเชื่อมต่อคลองต่าง ๆ ภายในกรุงเทพฯ เข้าด้วยกัน (คลองกระโดง) สามารถควบคุมการระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาตามสถานการณ์น้ำขึ้นน้ำลงได้ เพื่อไม่ให้น้ำสูงกว่าระดับคันกั้นน้ำที่สร้างไว้ ในส่วนพื้นที่ต่ำภายในที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก จะแก้ปัญหาด้วยระบบปิดล้อมย่อย หมายถึงการปิดล้อมพื้นที่นั้นโดยใช้คลอง ถนนสายหลัก คลองประปา ทางรถไฟ แทนคันกั้นน้ำรอบพื้นที่ แล้วใช้ระบบสูบน้ำย่อยในพื้นที่สูบน้ำออกอีกครั้งหนึ่งเพื่อเร่งระบายน้ำไม่ให้ท่วมขังนาน

“โดยภาพรวมกรุงเทพมหานคร มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านตรงกลาง จึงมีการบริหารจัดการน้ำแบบระบบปิดล้อมพื้นที่ 3 ส่วนคือ พื้นที่ฝั่งธนบุรี และพื้นที่ฝั่งพระนครซึ่งแยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงช่วงถนนบริเวณคลอง 7 ส่วนที่ 2 ตั้งแต่คลอง 7 ถึงคลอง 13 ทั้งนี้ ในส่วนแรกเป็นส่วนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขีดไว้เรียกว่าแนว king drive แต่ก่อนเป็นพื้นที่ชั้นในมีความเจริญอยู่ ส่วนด้านนอกเป็นพื้นที่เพาะปลูกหรือทางน้ำไหลผ่าน (floodway) แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว โดยหลังจากปี 2554 ได้มีการขยายแนวจากคลอง 7 เพิ่มถึงคลอง 13 โดยการทำคันกั้นน้ำไว้ ดังนั้น ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ จึงแบ่งการระบายน้ำเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คลอง 7 ถึงคลอง 13 อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาจะระบายเร็วกว่า เนื่องจากมีประตูน้ำ ส่วนด้านนอกคันกั้นน้ำจะระบายได้ช้ากว่า”

ปัจจุบัน กทม.จึงอยู่ระหว่างของบรัฐบาล เพื่อจัดทำโครงการอุโมงค์ส่งน้ำระยะไกลกว่า 10 กิโลเมตร เพื่อให้พื้นที่ทางน้ำไหล เช่น เขตลาดกระบัง มีการระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น เนื่องจาก ปี 2565 พบว่า เขตลาดกระบัง มีนบุรี ประสบปัญหาน้ำท่วมเมื่อฝนตกนอกพื้นที่คันกั้นน้ำคลอง 7 ถึงคลอง 13 เพราะสภาพพื้นที่เป็นแอ่งทางน้ำไหลตามธรรมชาติ การทำอุโมงค์ส่งน้ำระยะไกลจะช่วยแก้ปัญหาระยะยาวได้ ส่วนระยะสั้น ขณะนี้ต้องใช้วิธีควบคุมประตูระบายน้ำ

“ในปี 2554 ระดับน้ำเจ้าพระยาสูง 2.53 เมตร เรายังผ่านมาได้ ซึ่งสูงที่สุดแล้ว หากสูงถึง 3 เมตร แสดงว่าต้องมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นกับโลกจริง ๆ ขณะที่ปริมาณฝนสูงสุดในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 202 มิลลิเมตร ในปี 2563 มีการระบายตั้งแต่เช้ามืดจนถึงบ่ายสามแห้งเป็นปกติ กทม.ได้ผ่านวิกฤตทั้งน้ำเหนือและฝนสูงสุดในพื้นที่มาแล้ว และได้มีการปรับปรุงพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยเพื่อป้องกันมาตลอด ไม่นิ่งนอนใจ”

นายเจษฎา กล่าวว่า ที่น่าห่วงคือสภาวะโลกร้อน อาจทำให้ฝนตกหนักเป็นจุด ๆ วิธีแก้ปัญหาคือต้องแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมได้ทันเวลา โดยเฉพาะในช่วงเวลาเลิกงาน อาจต้องเปลี่ยนพฤติกรรมรอให้ฝนหยุดและมีการระบายน้ำให้แห้งก่อน เพื่อจัดการน้ำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะหากยังมีการสัญจรขณะน้ำท่วมรถติด จะทำให้การระบายน้ำยิ่งช้าลงส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง จึงอยากให้รอฟังข่าวการแจ้งเตือนสถานการณ์แล้วจึงค่อยสัญจร หรืออาจจะจอดรถไว้ที่ทำงานแล้วใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนในวันนั้น

“การกล่าวว่ากรุงเทพฯ จะจมบาดาลอาจทำให้คนตกใจ และเชื่อว่าเป็นไปได้ยาก เพราะระบบระบายของ กทม.มีการพัฒนาต่อเนื่อง ถือว่าดีในระดับหนึ่ง อาจมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ย่อยอยู่บ้าง แต่ยืนยันได้ว่ามีการระบายเร็วขึ้น ในอนาคตจะมีโครงการใหญ่คือเขื่อนคลองเปรม คลองลาดพร้าว มีการก่อสร้างอุโมงค์อีก 3-4 แห่งเพื่อรับน้ำจากที่ไกล ๆ คล้ายทางด่วนน้ำ เพื่อให้พื้นที่แอ่งต่าง ๆ ระบายน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยเร็ว ปัจจุบันคลองเปรมฯ เริ่มมีการเจาะอุโมงค์แล้วที่เขตทวีวัฒนา ลาดพร้าว 130 และ พระราม 6 อยู่ในแผนการทำงาน อาจต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปีจากนี้ เมื่อเสร็จแล้วจะเป็นระบบระบายน้ำขนาดใหญ่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ยั่งยืนขึ้น” นายเจษฎา กล่าว