สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา แถลงผลงานวิจัย การประเมินศักยภาพและส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของ MSMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมแฟชั่น ชงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับยานยนต์และชิ้นส่วน ภาครัฐต้องสนับสนุนเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับ MSMEs ช่วยพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ช่วยเหลือด้านการเงิน ส่วนแฟชั่น ต้องช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบ ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา มุ่งสู่ความยั่งยืน มั่นใจช่วยเสริมแกร่งให้กับ MSMEs ใน 2 อุตสาหกรรมนี้

นายวิมล ปั้นคง รองผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เปิดเผยว่า ได้จัดแถลงผลงานวิจัยการประเมินศักยภาพและส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) : อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมแฟชั่น มีเป้าหมายเพื่อเสนอแนวทางการปรับตัว ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อช่วย MSMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมแฟชั่น ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และมีโอกาสเติบโตในอนาคต มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังผลงานวิจัย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ รวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง 

สำหรับเป้าหมายในการจัดทำงานวิจัยในครั้ง ITD มองว่า MSMEs มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของไทย มีจำนวนธุรกิจมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ และมีส่วนสำคัญในการสร้างงานในประเทศ แต่ MSMEs ยังคงเผชิญกับอุปสรรคหลายประการในการแข่งขันและการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะในบริบทของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจาก MSMEs ยังมีข้อจำกัดด้านกำลังการผลิต ทำให้เกิดความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ การประเมินศักยภาพในการส่งออกและการมีส่วนร่วมของ MSMEs ในตลาดต่างประเทศ จึงมีความสำคัญ ITD จึงได้ทำการศึกษาวิจัย เพื่อหาแนวทางในการขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตให้กับ MSMEs เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างเสรีและเป็นธรรม 

“ก่อนหน้านี้ ITD ได้ศึกษาวิจัยในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไปแล้ว และได้แถลงผลการวิจัยในงาน ITD Research Forum 2024 : Upgrading Thailand’s Gateway and MSMEs’ Export เมื่อวันที่วันที่ 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา และต่อมาได้ทำการวิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมแฟชั่น จนได้ผลสำเร็จ และนำมาสู่การแถลงผลงานวิจัยในครั้งนี้”นายวิมลกล่าว

 

นายวิมลกล่าวอีกว่า สำหรับผลการวิจัย พบว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนาน โดยประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและอันดับ 10 ของโลก ในปี 2565 ประเทศไทยผลิตรถยนต์ประมาณ 1.9 ล้านคัน อุตสาหกรรมนี้มีผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานมากกว่า 2,500 ราย ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการ MSMEs ที่มีการเติบโตจนถึงปี 2560 และลดลงต่อเนื่อง โดยการส่งออกในอุตสาหกรรมนี้ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ในปี 2566 มูลค่าการส่งออกสูงถึง 41,116.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าหลักที่ส่งออก คือ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อย่างไรก็ตาม MSMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนต้องเผชิญกับความท้าทายจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การกีดกันทางการค้าจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด  

ทั้งนี้ ผลการศึกษา พบว่า ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไม่สามารถปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ การเสียเปรียบด้านความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน การเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี เป็นต้น การศึกษาครั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เช่น ส่งเสริมการเข้าสู่ตลาด ภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาในการจัดทำฐานข้อมูลด้านการตลาด จัดแสดงสินค้าในและต่างประเทศ และตั้งศูนย์แสดงสินค้าในต่างประเทศ มุ่งเน้นตลาดรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปในประเทศกำลังพัฒนา เช่น แอฟริกาและอินเดีย การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต เสริมสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมยานยนต์ พัฒนามาตรฐานคุณภาพของ MSMEs และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตและปรับตัวสู่ยานยนต์ไฟฟ้า การเสริมสร้างความสามารถทางเทคโนโลยี สนับสนุนการลงทุนในนวัตกรรมและพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบสนองต่อเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต เช่น แบตเตอรี่ ระบบ ADAS และสนับสนุนนโยบายสิทธิประโยชน์ ปรับเปลี่ยนนโยบายการสนับสนุนทางการเงินเช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การค้ำประกันสินเชื่อ และสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้ MSMEs เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ส่วนอุตสาหกรรมแฟชั่น พบว่า เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สำคัญ โดยมีการผลิตสินค้า เช่น เสื้อผ้า เครื่องหนัง และเครื่องประดับ ซึ่งวิสาหกิจส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม MSMEs แม้ว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกและเทคโนโลยี โดยการส่งออกสินค้าแฟชั่นมีมูลค่ากว่า 8,324 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 เป็นการส่งออกของ MSMEs กว่า 3,094 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ MSMEs ความท้าทายที่ต้องเผชิญ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มที่จะมองหาสินค้าที่มีคุณภาพสูง มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การแข่งขันจากผู้ผลิตต่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านราคาและคุณภาพ ข้อจำกัดทางด้านการเงินและการเข้าถึงเทคโนโลยี เป็นต้น

โดยการศึกษาครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญในอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมแฟชั่น เช่น การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และการปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานสากล การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (IP) เพิ่มการให้คำปรึกษาและการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ และส่งเสริมการให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในตลาดต่างประเทศ การส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการ MSMEs แฟชั่นยั่งยืน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มโอกาศเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ควรมีการสนับสนุนส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการ MSMEs แฟชั่นยั่งยืน โดยผ่านการสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เน้นไปที่การออกแบบแฟชั่นที่ยั่งยืน การส่งเสริมการจัดอบรมสำหรับ MSMEs เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะในการออกแบบที่ยั่งยืน การผลิตที่มีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ควรมีการสนับสนุนการสร้างมาตรฐานและการรับรองด้านความยั่งยืน ทั้งการพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การใช้วัสดุ และการจัดการสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยมีการรับรองให้กับผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และเปิดโอกาสในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศที่มองหาสินค้าแฟชั่นยั่งยืน