เมื่อวันที่ 11 ก.ย.67 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม.ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ รายละเอียดการปรับลด รวมถึงข้อสังเกตทั่วไป และข้อสังเกตเฉพาะหน่วยงาน ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้ตั้งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 90,803,531,580 บาท
โดยหลักเกณฑ์การพิจารณา คณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ เริ่มจากชื่อร่างข้อบัญญัติ หลักการ เหตุผล คำปรารภ ตัวร่างข้อบัญญัติ เรียงตามลำดับแล้วจึงพิจารณารายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายจนจบ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงรายละเอียดประกอบการพิจารณา
ทั้งนี้งบประมาณที่ผ่านคณะกรรมการวิสามัญฯ คณะกรรมการได้พิจารณาโดยยึดหลักความคุ้มค่า เป็นประโยชน์กับประชาชน จึงขอบคุณกรรมการและอนุกรรมที่ได้ร่วมกันกลั่นกรองงบประมาณในครั้งนี้ และขอบคุณหัวหน้าหน่วยงานที่ได้ร่วมชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อซักถามของคณะกรรมการ ขอบคุณฝ่ายเลขานุการ สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร และสำนักงบประมาณที่ได้ร่วมปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เพื่อให้การพิจารณางบประมาณในครั้งนี้สำเร็จลุลวงไปได้ดีด้วยและปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงประโยชน์ของกรุงเทพมหานครมากที่สุด
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 90,803,531,580 บาท โดยสำนักที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด ดังนี้ งบกลาง 17,745,401,001 บาท เพิ่มขึ้นจากที่ขอ 948,875,511 บาท รองลงมาสำนักการโยธา 9,239,790,442 บาท ลดลงจากที่ขอ 1,374,280,358 บาท สำนักการระบายน้ำ 7,080,714,790 บาท ลดลงจากที่ขอ 838,402,110 บาท สำนักการแพทย์ 6,897,150,390 บาท เพิ่มขึ้นจากที่ขอ 548,798,490 บาท สำนักสิ่งแวดล้อม 5,429,068,150 บาท ลดลงจากที่ขอ 325,568,950 บาท สำนักการคลัง 5,210,594,900 บาท ได้ตามที่เสนอ
สำนักการจราจรและขนส่ง 3,170,866,715 บาท สำนักอนามัย 2,774,494,150 บาท เพิ่มขึ้นจากที่ขอ 210,258,450 บาท สำนักการศึกษา 1,903,018,000 บาท เพิ่มขึ้นจากที่ขอ 617,760,000 บาท สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว 1,829,556,765 บาท เพิ่มขึ้นจากที่ขอ 110,457,195 บาท สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 1,090,575,850 บาท ลดลงจากที่ขอ 55,203,450 บาท สำนักพัฒนาสังคม 917,951,730 บาท เพิ่มขึ้นจากที่ขอ 47,363,195 บาท สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 737,131,980 บาท เพิ่มขึ้นจากที่ขอ 123,552,800 บาท สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล 687,000,800 บาท เพิ่มขึ้นจากที่ขอ 108,780,100 บาท
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร 319,040,570 บาท ลดลงจากที่ขอ 81,885,430 บาท สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง 183,833,600 บาทลดลงจากที่ขอ 29,096,000 บาท สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร 180,748,940 บาท ลดลงจากที่ขอ 450,000 บาท สำนักเทศกิจ 180,575,100 บาท ลดลงจากที่ขอ 4,740,400 บาท สำนักงบประมาณ 87,167,000 บาท ได้ตามที่เสนอ และสำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร 72,188,340 บาท ลดลงจากที่ขอ 510,900 บาท
อย่างไรก็ตามที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวาระที่สองและวาระที่สาม จากนี้สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร จะรวบรวมรายละเอียด เสนอนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.ลงนาม เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ขอบคุณคณะกรรมการวิสามัญฯ ทุกคน เพราะเรามีมาตรฐานอยู่แล้ว ฝ่ายบริหารจะบริหารงบประมาณให้ดีที่สุด