บึงกาฬ เวทีแสดงความคิดเห็นสร้างประตูระบายแม่น้ำสงครามคึกคักมีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน
โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำกลางแม่น้ำสงครามปฐมนิเทศครั้งที่ 1 ฝั่ง จ.สกลนคร มีทั้งเห็นด้วยโดยเฉพาะคนท้องถิ่นที่รอมานานกว่า 20 ปีและฝั่งที่คัดค้านที่ปลาใหญ่จะโจนข้ามบันไดปลาไม่ได้ จนท.ที่ให้ข้อมูลเชื่อว่าสุดท้ายก็จะเห็นด้วย ประยังมีเวทีประย่อยอีกหลายรอบ
วันที่ 10 ก.ย.ที่หอประชุมอำเภอคำตากล้า จ.สกลนคร นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ผวจ.สกลนคร มอบหมายให้ นายปัณณวิทญ์ กุลตังคะวณิชย์ นอภ.คำตากล้า เป็นประธานการประชุมปฐมนิเทศโครงการ ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการศึกษาเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำกลางแม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร มีผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อปท. ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สื่อมวลชน และประชาชนเข้าร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็น กว่า 200 คน ภายในงานมีการรับชมวีดีทัศน์โครงการ ซึ่งนำเสนอรายละเอียดข้อมูลโครงการ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการสรุปประเด็นจากการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ เพื่อสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมและผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ เพื่อขับเคลื่อนงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและหลากหลาย
นายฉัตรดำรง หงส์บุญมี หน.ฝ่ายวางโครงการที่ 1กรมชลประทาน กล่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสงครามไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยและขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรม การอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งของทุกปี รวมทั้งแม่น้ำสงครามในเขตจ.สกลนคร และจ.บึงกาฬ มีสภาพภูมิประเทศไม่สามารถพัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำได้ ในปี 2560 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบอุทกภัยครั้งใหญ่โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำสงคราม วันที่ 2 ส.ค.60 นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ลงพื้นที่และมีข้อสั่งการให้กรมชลประทาน ดำเนินการศึกษาเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำสงครามให้เห็นผลระยะยาว สนทช. จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำกลางแม่น้ำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงเป็นการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่ จึงมีข้อสรุปเสนอให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการนำผลการศึกษาความเหมาะสมดังกล่าวไปดำเนินการ
ดังนั้น จึงได้คัดเลือก โครงการประตูระบายน้ำบ้านดอนแดง หมู่ที่ 4 บ้านดอนแดง ต.ก้อน อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เป็นโครงการที่มีศักยภาพ จึงได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยกรมชลประทาน สำนักบริหารโครงการ ส่วนวางโครงการที่ 2 ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัท ศุกฤกษ์ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีไซน์ จำกัด บริษัท ออโรส จำกัด และ บริษัท เอสเอส คอนซัลแทนท์ส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว มีนายวิวรรธน์ เจริญรุ่งเรือง ผู้จัดการโครงการ/ผู้เชี่ยวชาญด้านวางโครงการ นางสาวนันทพร วิเศษสมบัติ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม และดร.ยุพา ชิคทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกวิทยา คณะวิทยากรที่ปรึกษาโครงการได้ร่วมนำเสนอและรับฟังข้อคิดเห็นเสนอแนะอย่างกว้างขวางเพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เกิดประโยชนสูงสุด
ด้านนายผิวพรรณ พวงเงิน กำนันตำบลหนองบัวสิม กล่าวว่า อยู่ตรงนี้มา 20 กว่าปี เรื่องการศึกษาผลกระทบนับตั้งแต่เริ่มโครงการผมจะรู้เรื่องทั้งหมด มันจะช้าไปอยากเห็นโครงการเกิดขึ้นเร็วๆ ส่วนใหญ่มีคณะสว.ที่ลงมาดูงาน กรรมาธิการน้ำสภาผู้แทนราษฎรก็มาดูงานหลายคณะ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ดูแล้วก็เงียบไป สิ่งที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือพี่น้องประชาชน ถ้ามีน้ำทุกอย่างตามมาไม่ว่าจะอาหาร ปลา ต่างๆ ถึงฤดูน้ำหลากกระทบพื้นที่เกษตร แต่ในยามหน้าแล้งลำน้ำสงครามไม่มีน้ำเลย เนื่องจากท้องถิ่นมีงบประมาณน้อยส่วนใหญ่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป ต้องฝากถึงรัฐบาลช่วยพัฒนาแหล่งน้ำ การศึกษาผลกระทบต่างๆเป็นเรื่องดี ไม่อยากให้ศึกษากันนาน ผมเกิดอยู่ลำน้ำสงคราม 57 ปี ถ้ามีงบประมาณมาสร้างเลย ผลประโยชน์ชาวบ้านจะได้รับ ถ้ามีน้ำก็จะมีชีวิตเกิดขึ้น เป็นผักปลาการเกษตรการประมง ศึกษาผลกระทบแล้วจึงได้มาสร้างที่บ้านดอนแดง เพราะที่ผ่านมาไม่มีประตูเปิดปิดน้ำเข้า-ออก ฤดูแล้งจะได้มีน้ำเก็บไว้ใช้ได้ ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นก็จะมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง
ด้านนายปราการชัย ประชาชนในพื้นที่ ผู้ได้รับผลกระทบโครงการ กล่าวว่า ที่ตั้งของโครงการอยู่ด้านหลังบ้านของผมเอง โดยหลักการเห็นด้วยเรื่องของโครงการนี้เป็นผลดีมากกว่าและก็เจตนาโครงการประตูระบายน้ำก็คือผันน้ำมาใช้เพื่อการเกษตร ในส่วนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบแทนพี่น้องชาวบ้าน ปัญหาคือที่นาติดกับแม่น้ำสงครามสิ่งที่พี่น้องชาวบ้านเสียสละไปไม่ใช่ค่าเวนคืนที่ดินอย่างเดียวเขาก็ไม่พอใจ หมายถึงที่นาอยู่ตรงนั้นแต่ได้ค่าเวนคืนให้ไปซื้อที่ดินที่อื่นซึ่งมันไกลจากพื้นที่เดิมที่เขาอยู่ บางคนมีที่ดิน 4 ไร่ โดนเวนคืนไป 2 ไร่ อยากให้พิจารณาการเวนคืนให้เหมาะสม ในชุมชนของบ้านดอนแดง จะได้รับประโยชน์ใดบ้าง เราอยากเห็นว่าทางโครงการได้ให้อะไรกับชุมชนบ้างอย่างเช่นเขื่อนริมตลิ่งจากโครงการไปถึงวัดสมสนุกบ้านดอนแดงซึ่งไม่ไกลมากประมาณ 300 เมตร และอย่างเห็นทางโครงการอนุรักษ์ต้นไม้ธรรมชาติ ให้มีที่อยู่ที่ศึกษาระบบนิเวศน์ ทางชุมชนจะมีประเพณีแข่งเรือหน้าบริเวณวัดถ้ามีเขื่อนกั้นริมตลิ่งจะเป็นสถานที่จัดกิจกรรมได้จุดสถานที่ออกกำลังกาย เที่ยวพักผ่อน เป็นการนำรายได้สู่ชุมชน
นายนักสิทธิ์ กล่าวว่า อยากเสนอแนะความคิดเห็นให้พิจารณาให้ถี่ถ้วน บทเรียนต่างๆมุมมองเท่าที่ดูจากใบรายงานมีประเด็นหลักๆ จึงเป็นห่วงฝากให้บริษัทที่ปรึกษาเอาไปพิจารณาเพิ่มเติมคือ การทำทางผ่านปลา เพื่อให้ปลาขึ้นได้ และแหล่งข้อมูลต่างๆให้ศึกษากรณีที่อื่นด้วย การเปิด-ปิดประตูน้ำ เป็นเรื่องสำคัญมากต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบมีคณะกรรมการจัดการและตัดสินใจร่วมกันพื้นที่บนแม่น้ำและใต้แม่น้ำไม่ให้เกิดกระทบปัญหากัน การสูญเสียสำรวจพื้นที่น้ำท่วมมีการไหลเข้าพื้นที่เกษตรเลี้ยงสัตว์มากน้อยแค่ไหน ส่วนเรื่องการปล่อยน้ำช่วงน้ำลดลงไปพื้นที่ข้างล่าง เพื่อยังคงไว้ระบบนิเวศน์อย่างไร พื้นที่ข้างล่างน้ำน้อยลงตลิ่งจะเสาะต่ำลงหรือเปล่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยากให้พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล สุดท้ายบทเรียนมีเยอะเราไม่อยากให้เกิดขึ้นที่นี่ ไม่ปฏิเสธการพัฒนาอยากมองให้รอบด้าน เมื่อผลกระทบเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ เรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ จึงอยากฝากถึงบริษัทที่ปรึกษาได้พิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายนพปฎล ผู้แทนจาก สทนช.ภาค 3 กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะฝากที่ปรึกษาเมื่อทำโครงการแล้วเสร็จ ผลประโยชน์ที่จะกระจายไปสู่ประชาชนไม่ใช่เฉพาะริมฝั่งแม่น้ำ ทำอย่างไรที่จะส่งน้ำกระจายไปสู่ชุมชนอื่นให้ทั่วถึงมากที่สุดอันนี้เป็นประเด็นฝากเอาไว้ ประเด็นที่สถานีสูบน้ำสร้างไว้จะไม่ติดภาระการดูแลนะครับเป็นเรื่องที่ดีที่กรมชลประทานดูแลเองอย่างดี ความห่วงใยด้านอื่นๆเช่น ทางผ่านปลาที่จะกลับมาจากแม่น้ำโขงที่เราทำโครงการไปแล้วจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ไหม อยากจะฝากทุกท่านว่าทางส่วนราชการพยายามจะผลักดันให้บ้านเมืองเจริญขึ้น แต่เราก็ดูทางระบบนิเวศน์เรื่องของปลา เรื่องของชุมชน จึงฝากคณะที่ปรึกษาด้วยครับ
นายวิวรรธน์ เจริญรุ่งเรือง ผู้จัดการโครงการ/ผู้เชี่ยวชาญด้านวางโครงการ กล่าวถึงโครงการ สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำกลางแม่น้ำสงคราม จังหวัดสกลนคร สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปี 2560 ทางพื้นที่ภาคอีสานเราประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้นได้มีข้อสั่งการ ให้ทางกรมชลประทาน ซึ่งต่อมาถ่ายโอนส่งภารกิจสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปทำการศึกษาเพื่อพิจารณาจะสามารถจะพิจารณาโครงการใดบ้างเพื่อที่จะมาช่วยบรรเทาภัยแล้งน้ำท่วมให้ได้ระยะยาวซึ่งต่อมา สทนช.ก็ได้ทำการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2563 และมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆก็สรุปว่าการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านดอนแดง ก็เป็นโครงการที่เหมาะสมและเร่งด่วนนำมาพัฒนาโครงการ
นางสาวนันทพร วิเศษสมบัติ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 หรือเรียกว่าปฐมนิเทศโครงการซึ่งกลุ่มเป้าหมายเรากำหนดไว้ทั้งหมด 7 กลุ่ม ตามแนวทางสำนักงานนโยบายและแผน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมีผู้ได้รับผลกระทบหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการผู้ทำหน้าที่พิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม องค์กรเอกชนด้านการกระทบสิ่งแวดล้อม(NGO) สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ที่มีความสนใจในโครงการซึ่งการประชุมในวันนี้ เราก็ได้รับข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะการออกแบบเกี่ยวกับโครงการต่างๆรวมทั้งข้อกังวลด้านกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางทีมงานของเราจะนำข้อมูลที่ได้จากที่ประชุมทั้งหมดไปประกอบการศึกษาและจัดทำมาตรการมานำเสนอให้ประชาชนทราบอีกครั้งหนึ่ง แล้วจะมีการประชุมกลุ่มย่อยต้องเข้าไปในชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อไปรับฟังให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง นำมาประกอบแนวทางแก้ไขแนวทางกำหนดมาตรการกระทบสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนคลายความกังวลได้ในอนาคตมากยิ่งขึ้น
ดร.ยุพา ชิดทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกวิทยา กล่าวทิ้งท้ายว่า เพิ่มเติมในส่วนผู้จัดการโครงการได้กล่าวไป การทำงานครั้งนี้เป็นการศึกษาของกรมชลประทาน ซึ่งเราจะมาทบทวนลักษณะโครงการที่ตั้งประตูระบายน้ำ ที่สำคัญคือที่ผ่านปลา และทางผ่านเรือที่ชาวบ้านเขาร้องขอ ในโครงการเราต้องมี2สิ่งนี้ เพราะว่าวิถีชีวิตชาวบ้านต้องใช้ตามวิถีทางเรือ เรื่องของปลาต้องอพยพจากแม่น้ำโขง รวมถึงเราจะต้องมีการทบทวนการส่งน้ำ ทางผู้ร่วมประชุมได้นำเสนอมาเป็นข้อมูลที่ดี ซึ่งเราจะได้เรียนรู้ว่าโครงสร้างทางบันไดปลาที่ได้มีการทำแล้วที่แม่น้ำกล่ำปลาตัวใหญ่ขึ้นมาไม่ได้ ซึ่งเราก็จะหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าทำไมว่ายขึ้นมาไม่ได้อาจจะเป็นความชัน ขนาดหรือบ่อพักที่เล็กเกินไปสำหรับให้ปลาตัวใหญ่ขึ้นมาเพราะฉะนั้นเราก็มีการเก็บข้อมูลออกแบบทำให้เหมาะสมกับชนิดปลา ซึ่งจากข้อมูลที่ทางเราได้รวบรวมได้ที่อ.คำตากล้า มีการจับปลาบึกได้แสดงว่าเป็นปลาตัวใหญ่ที่ว่ายมาถึงที่นี่ก็จะเป็นข้อมูลในการออกแบบต่อไป.