MG เสริมความรู้ ABAC ขับเคลื่อนพลังงานทางเลือก

บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เพื่อถ่ายทอดความรู้ เสริมทักษะเกี่ยวกับยานยนต์พลังงานทางเลือกยุคใหม่ และเพิ่มประสบการณ์ให้กับบุคลากรในสาขาบริการยานยนต์อัจฉริยะพลังงานใหม่ พร้อมสนับสนุนการจัดตั้ง “ศูนย์วิศวกรรมศาสตร์นวัตกรรมพลังงานทางเลือกใหม่” เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ นำโดย มร. ซู๋ว์ หยิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด เป็นผู้ลงนามร่วมกับ ภราดา ดร. ศิริชัย ฟอนซีกา อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตสุวรรณภูมิ

มร.ซู๋ว์ หยิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของการยกระดับ EV ECOSYSTEM ของ เอ็มจี ด้วยการเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่ในการเป็นกำลังสำคัญ และเป็นผู้สร้างมาตรฐานใหม่ของยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต โดยข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ฉบับนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนองค์ความรู้ อุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน และการเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัยโดยผู้เชี่ยวชาญของ เอ็มจี ควบคู่ไปกับการมอบประสบการณ์การปฏิบัติงานจริงของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ด้วยการเปิดโอกาสให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้มีโอกาสเข้ามาฝึกงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมี “ศูนย์วิศวกรรมศาสตร์นวัตกรรมพลังงานทางเลือกใหม่” ที่เปรียบเสมือนเป็นแหล่งบูรณาการที่ใช้ในการเรียนการสอน การฝึกอบรม รวมถึงการเป็นพื้นที่ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของนักศึกษาให้สอดรับกับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วด้วยนวัตกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกที่ล้ำสมัย และยังคงพัฒนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสการทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลกอีกด้วย

ปัจจุบัน ภาครัฐมีการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ผ่านมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ และตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น EV HUB ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero-Emission EVs) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่ง  เอ็มจี ถือเป็นผู้บุกเบิกยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และเป็นแบรนด์รถยนต์จีนที่มีการลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์กลุ่มพลังงานทางเลือกในไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ อีกทั้งยังปักหมุดให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา ผู้นำในอุตสาหกรรม และพันธมิตรด้านเทคโนโลยี จึงเกิดเป็นแนวคิดในการถ่ายทอดข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการศึกษา และนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นหลักสูตรการศึกษาที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก