ชป. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 13 - 18 ก.ย.67
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 เวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวลิต สุราราช ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา เป็นประธานการประชุมการยกระดับการดำเนินการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานชลประทานที่ 3 โดยมีคณะผู้บริหาร หัวหน้าฝ่าย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อรายงานผลการดำเนินงาน สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน และผลการคาดการณ์สถานการณ์น้ำล่วงหน้าในพื้นที่ชลประทานที่รับผิดชอบ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จากพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ปริมาณฝน ในช่วงตั้งแต่วันที่ 13-18 ก.ย. 67 จะมีฝนตกชุก และฝนตกสะสมปริมาณมาก ในพื้นที่ภาคเหนือ อาจเกิดน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ และน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก สำนักงานชลประทานที่ 3 ได้กำชับให้โครงการชลประทานและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 4 จังหวัด (อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, พิจิตร, นครสวรรค์) เตรียมพร้อมรับมือฝน โดยได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักต้นน้ำ พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง ให้สามารถช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที รวมทั้งให้พิจารณาปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด และขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง หากมีปริมาณฝนตกชุกในพื้นที่ สะสมเกินกว่า 50 มม. และพื้นที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้กับตลิ่งแม่น้ำ ให้เฝ้าระวัง และตรวจสอบจุดที่ตลิ่งต่ำ ควรเสริมคันคลองให้มีความแข็งแรง และเตรียมความพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และระมัดระวังไฟฟ้าที่อยู่ในที่ต่ำน้ำท่วมถึง และขอความร่วมมือเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ในฤดูน้ำหลาก และเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล ควรชะลอหรืองดทำการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมหลากทำให้ผลผลิตเสียหาย
สำหรับ “ โครงการบางระกำโมเดล ” พื้นที่รองรับน้ำหลากหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตในเขตชลประทาน (ฝั่งซ้ายแม่น้ำยม) ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้ว 100 % และรับน้ำเข้าทุ่งหน่วงน้ำ ปริมาณน้ำที่รับเข้าพื้นที่ 150,939 ไร่ (57%) ปริมาณน้ำ 270 ล้าน ลบ.ม (68%) สถานการณ์โดยภาพรวม ปริมาณน้ำมีแนวโน้มลดลง จากการระบายน้ำ ต้องเฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือกับชุมชนในพื้นที่หน่วงน้ำลุ่มต่ำที่ได้รับผลกระทบ การอยู่อาศัย และ การสัญจร