เกิดน้ำท่วมอย่างหนักในพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ที่สะพานซูตองเป้ สามเณรพากันลงเก็บเศษกิ่งไม้และสวะที่ลอยมาติดเสาสะพาน หวั่นสะพานจะเสียหาย ขณะที่ชาวบ้านระบุ น้ำท่วมมาเดือนกว่าแล้ว นาข้าวเสียหายหนัก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก ชลประทานมาสร้างฝายปิดกั้นทางน้ำ ซึ่งเดิมมีฝายภูมิปัญญาชาวบ้านน้ำท่วมไม่เกิน 2 วันก็ลดสู่ปกติแต่นี่ท่วมเป็นเดือนมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้รับผลกระทบกว่า 80 ราย

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 นายทนงศักดิ์ นิรากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนอุทกวิทยาที่ 3 แม่ฮ่องสอน ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 ส่วนอุทกวิทยาที่ 3 แม่ฮ่องสอน ได้รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปายว่า ห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังและเตือนภัยน้ำหลาก-ดินถล่ม กองวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยา (กวพ.)กรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แจ้งข้อมูลการเตือนภัยวันที่ 11 กันยายน 2567 เวลา 08.51 น.เตือนภัยวิกฤติ (สีแดง)บ้านปางหมู ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ค่าระดับน้ำ 5.00 เมตร ระดับวิกฤติ 5.00 เมตร

ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปายที่ บ้านปางหมู ม.1 ต.ปางหมู ฝ่ายปกครองบ้านปางหมูรายงาน ณ เวลา 10.30 น. แม่น้ำปายยังคงอยู่ในขั้นวิกฤต 6 ม. (ขั้นวิกฤตอยู่ที่ 5 ม.) น้ำปายและน้ำแม่สะงาเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรบางส่วน สำหรับที่บ้านนาป่าแปก ต.หมอกจำแป่ เวลา10.00.น เกิดเหตู ดินถล่มทับเส้นทางเข้าไปในศูนย์ ธนาคารอาหารชุมชน รถทุกชนิด ไม่สามารถวิ่งผ่านเข้าออกได้

 

นางเกสร เทพิน อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 164 หมู่ 2 บ้านกุงไม้สัก ต.ปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน ราษฎรเจ้าของที่นาบ้านกุงไม้สัก ฯ เปิดเผยว่า จากน้ำท่วมขังที่นาของหมู่บ้านกุงไม้สักบริเวณทางด้านทิศเหนือของสะพานซูตองเป้ ยาวลงมาทางด้านทิศใต้ของสะพานไปจรดพื้นที่นาของบ้านปางหมู ซึ่งปีนี้ได้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักนานกว่า 1 เดือน ทำให้เกษตรกรกว่า 80 รายได้รับผลกระทบต้นข้าวในนาเน่าตายเสียหายทั้งหมด เนื่องจากน้ำท่วมต่อเนื่องเกิน 10 วันซึ่งจะทำให้ต้นกล้าข้าวที่เพิ่งปลูกตายลง สาเหตุมาจากการที่ชลประทานได้มาสร้างฝายด้านทิศใต้ของสะพานซูตองเป้ ซึ่งฝายดังกล่าว ได้กลายเป็นแนวกั้นน้ำที่ท่วมพื้นที่นาของเกษตรกร ก่อนหน้าที่จะมีการสร้างฝาย หากมีน้ำหลากท่วมที่นาก็จะท่วมไม่เกิน 2 วัน น้ำก็จะลดระดับลงสู่ปกติ ซึ่งกรณีดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่ บ้านกุงไม้สัก และบ้านปางหมูอย่างหนักทั้งนี้ทางราชการที่จะเข้ามาให้การช่วยเหลือด้านเงินทดแทนก็ยังไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

สำหรับที่สะพานซูตองเป้ ในช่วงเช้าวันนี้ ( 11 ก.ย.67 ) สามเณรกว่า 10 รูปและราษฎร ได้พากันลงเก็บเศษไม้และสวะที่ลอยมาตามน้ำและมาติดค้างที่เสาของสะพานซูตองเป้ ซึ่งหากไม่เอาเศษไม้หรือสวะดังกล่าวออกไปจะทำให้ส่งผลกระทบต่อสะพานทันที ทั้งนี้ สามเณรเหล่านั้นต้องมาคอยเก็บเศษสวะและเศษไม้ออกเป็นประจำเมื่อมีน้ำหลากขึ้นมา โดยที่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดที่มีน้ำท่วมขังต่อเนื่องมากว่า 1 เดือนแล้ว