โละทิ้งไปอย่างไม่ใยดี สำหรับ การโละทิ้งแผนรวมชาติเกาหลีของ “คิม จองอึน” ประธานสูงสุด หรือผู้นำของเกาหลีเหนือ เจ้าของฉายาประเทศว่า “โสมแดง” ซึ่งเป็นที่ค่อนข้างจะแน่แล้วว่า “ท่านประธานคิม” ไม่เอาไว้ให้อยู่ในแผนการบริหารประเทศ ตราบใดที่เขานั่งบัลลังก์ในฐานะผู้นำสูงสุดของชาวโสมแดงเฉกเช่นในเวลานี้
ก็จะส่งผลให้ในยุคสมัยที่เขาเป็นผู้นำเกาหลีเหนือ โลกเราก็คงจะไม่ได้เห็น “เกาหลีเหนือ” กับ “เกาหลีใต้” กลับมารวมกันเป็นชาติเกาหลีหนึ่งเดียว มิใช่สองเกาหลีเหนือ-ใต้อย่างที่เป็นกันอยู่นี้
โดยเมื่อกล่าวถึงเกาหลี ได้กลายเป็นสองชาติเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้นั้น ก็เริ่มถูกแบ่งแยกหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่ในที่ “ประชุมพอตสดัม” ซึ่งมีขึ้นระหว่างช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ปี 1945 (พ.ศ. 2488) โดยหนึ่งในหัวข้อการประชุมก็คือ การกำหนดให้แบ่งดินแดนเกาหลี ซึ่งญี่ปุ่นที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เคยยึดครองไว้มาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็น “สองประเทศ” ทั้งนี้ การแบ่งประเทศเกาหลีข้างต้น ทางที่ประชุมไม่ได้ความเห็นของประชาชนชาวเกาหลีแม้แต่น้อย ซึ่งถือว่า ผิดหลักของข้อตกลงไคโรที่ทำกันไว้ก่อนหน้า
ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างสองขั้วค่ายอุดมการณ์ทางการเมือง นั่นคือ ค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ที่มีสหภาพโซเวียตรัสเซีย และจีนเป็นผู้นำ ในฐานะพี่ใหญ่ของ “เกาหลีเหนือ” ซึ่งในยุคผู้นำอย่าง “คิม อิลซุง” อันถูกยกให้เป็นผู้สถาปนาเกาหลีเหนือและผู้นำคนแรกของเกาหลีเหนืออ กับค่ายโลกเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ซึ่ง “เกาหลีใต้” ก็อยู่ในค่ายโลกเสรีประชาธิปไตยนี้
ด้วยความแตกต่างคนละขั้วค่ายเช่นนี้ ก็ทวีความขัดแย้งกลายเป็นสงครามของสองชาติเกาหลีเหนือ-ใต้ระหว่างกันขึ้นเรียกว่า “สงครามเกาหลี” เมื่อช่วงปี 1950 – 1953 (พ.ศ. 2493 – 2496) ซึ่งประเทศไทยเราก็ส่งทหารเข้าร่วมในสงครามดังกล่าวด้วย ในฐานะเป็นหนึ่งในกองกำลังของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น โดยยืนอยู่ข้างเกาหลีใต้
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงปัจจุบัน ทั้งสองประเทศเกาหลีเหนือ-ใต้ ก็ยังอยู่ในสถานะการเผชิญหน้าของสงครามข้างต้นกันอยู่เลย แม้ว่าเสียงปืนเสียงระเบิดที่ทั้งสองฝ่ายยิงแลกกระสุนใส่กันได้สงบไปแล้ว แต่ก็เป็นเพียงสงบระงับไปเท่านั้น มิใช่สงบอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยยังพร้อมที่เกิดเสียงปืนแตกขึ้นอีกได้ทุกเมื่อ
โดยตลอดระยะที่ผ่านมาในยุคร่วมสมัย คือ ปัจจุบันและเร็วๆ นี้ ทั้งเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ก็เตรียมความพร้อมในทางทหารกันอยู่เป็นระยะๆ
ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายเกาหลีใต้ ที่ยังมีปฏิบัติการซ้อมรบกับบรรดากองทัพชาติพันธมิตร ที่นำโดยสหรัฐ กันอยู่เนืองๆ
ขณะที่ ทางฟากเกาหลีเหนือ ก็มีทดลอง ทดสอบ ประสิทธิภาพของขีปนาวุธพิสัยทำการต่างๆ กันอยู่เป็นประจำเช่นกัน เพื่อเป็นการตอบโต้ ตามคำกล่าวอ้างของรัฐบาลเปียงยาง ทางการเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั้งสองประเทศเผชิญหน้ากัน หรือยั่วยุ ใส่กันเป็นประการต่างๆ ข้างต้นนั้น แต่ทว่า ทั้งสองก็มีแผนการที่จะรวมชาติเกาหลีเหนือ-ใต้ ให้เป็นเกาหลีหนึ่งเดียวเช่นกัน ถึงขนาดประกาศแผนการกันอย่างเป็นทางการเลยทีเดียว
เรียกว่า “การประกาศแผนการรวมชาติเกาหลีเหนือ-ใต้” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2000 (พ.ศ. 2543)
แผนการประกาศดังกล่าว มีขึ้นโดยทางฝั่งเกาหลีเหนือ ที่อยู่ภายใต้การนำของ “นายคิม จอง-อิล” ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ที่สืบอำนาจปกครองเกาหลีเหนือต่อจากนายคิม อิลซุง ที่ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลวกำเริบ เมื่อปี 1994 (พ.ศ. 2537) ส่วนทางฟากเกาหลีใต้ ก็อยู่ในยุคของ “ประธานาธิบดีคิม แดจุง” ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ ในระหว่างวันที่ 13 – 15 มิถุนายน 2000 (พ.ศ. 2543) ที่กรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ
มีรายงานว่า ประธานาธิบดีคิม แดจุง ผู้นำเกาหลีใต้ในขณะนั้น ได้เชิญนายคิม จองอิล ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เดินทางเยือนกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ด้วย ซึ่งทางนายคิม จองอิล ได้ตอบรับว่า จะเดินทางไปเยือนหากมีโอกาส
ทั้งนี้ ในแผนการรวมชาติข้างต้น ก็จะมีการดำเนินการด้านต่างๆ เป็นระยะๆ เพื่อปูทางที่จะนำไปสู่การรวมชาติของสองเกาหลีในที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นทางด้านศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม เช่น การก่อสร้างซุ้มโค้งเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการรวมชาติเกาหลีของทางฝั่งเกาหลีเหนือ การแต่งเพลงร้องขับกล่อมเพื่อการรวมสองชาติเกาหลี
ด้านการศึกษา ที่ถึงขนาดจัดทำเป็นหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนต่างๆ ให้นักเรียนได้เรียนรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมของประชาชนในรุ่นต่อๆไป ที่จะได้รวมชาติของเกาหลีทั้งสองในอนาคต
ด้านเศรษฐกิจ เช่น การสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรมแคซ็อง เมื่อปี 2002 (พ.ศ. 2545) โดยได้รับความร่วมมือจากเกาหลีใต้ ในการร่วมสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเขตปลอดทหารไปทางเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร หรือถ้าจะขับรถยนต์จากกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ ก็ใช้เวลาประมาณเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ทั้งนี้ เขตนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว มีบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้เข้าไปลงทุนมากกว่า 123 บริษัท จ้างงานชาวเกาหลีเหนือมากกว่า 50,000 คน ด้วยกันในช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในเขตนิคมฯ แห่งนี้ ต้องหยุดชะงักไปในยุคสมัยที่นายคิม จองอึน ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือในรุ่นที่ 3 ต่อจากนายคิม อิลซุง ผู้เป็นปู่ และนายคิม จองอิล ผู้เป็นพ่อ
นอกจากด้านเศรษฐกิจแล้ว ท่านประธานคิม ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน ก็แสดงท่าทีถึงการล้มแผนการรวมชาติสองเกาหลีในด้านอื่นๆ อีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกหลักสูตรเรื่องการรวมชาติเกาหลี จากเดิมที่เคยบรรจุให้เด็กนักเรียนในเกาหลีเหนือได้ร่ำเรียนกัน การห้ามร้องเพลงที่แต่งขึ้นซึ่งมีเนื้อหาการรวมสองชาติเกาหลี รวมไปจนถึงการรื้อทำลายซุ้มโค้ง อันเป็นอนุสรณ์สถานเพื่อการรวมชาติอีกต่างหากด้วย ซึ่งตามรายงานข่าวได้กล่าวว่า ก็เป็นไปตามที่นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ กล่าวต่อประชาชนชาวโสมแดงเมื่อเดือนมกราคมของปีนี้ว่า เกาหลีเหนือจะไม่ทำงานร่วมกับเกาหลีใต้ ในอันที่จะทำให้เกิดรวมสองชาติเกาหลีให้บังเกิดขึ้นบนคาบสมุทรโสมนี้อีกต่อไป