การทำงานส่งเสริมสุขภาพจิตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นความท้าทายเพราะเต็มไปด้วยความซับซ้อนบนบริบทอันหลากหลาย จึงเป็นความพิเศษครั้งสำคัญของทีม “นักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน (นสช.)” โดยองค์กร “หัวใจดวงใหม่ NM Neo-Mind” ที่วางฐานรากไว้อย่างเข้มแข็งตั้งแต่ปี 2564 ผ่านกลยุทธ์เจาะตรงในสถานศึกษาเพื่อสร้างเกราะอันแข็งแกร่งให้กับสุขภาพจิตของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเหล่านักเรียนศาสนาอิสลามที่ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่หอพักตลอดช่วงการศึกษา
จวบถึงปี 2567 ได้เสริมสรรพกำลังร่วมกับ สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สมส.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณและการประสานจัดหาภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่องโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เดินหน้าเปิดพื้นที่นำร่องเพิ่มเติมใน จ.ปัตตานี เพิ่มกลุ่มพื้นที่ใหม่ และขยายผลต่อจากกลุ่มพื้นที่เดิม โดยแบ่งออกเป็น 3 จังหวัด 4 พื้นที่ ได้แก่ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาใน จ.ปัตตานี และโรงเรียนประถมศึกษาใน จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา
โดยมีกลยุทธ์สำคัญคือการสร้างโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ต้นธารของการสร้างองค์ความรู้ให้แก่เหล่าบุคลากร ทั้งผู้บริหาร คุณครู และนักเรียน ผ่านกระบวนการพัฒนาแกนนำครูและนักเรียน ให้เกิดการตระหนักถึงสถานการณ์และความเข้าใจต่อเรื่องสุขภาพจิต สร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งในการรับมือกับปัญหาชีวิต ตลอดจนร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเปิดกว้าง เป็นสะพานใจแห่งความไว้วางใจ ที่จะเชื่อมต่อไปยังครอบครัวและชุมชนในการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและเข้มแข็งต่อไป เพื่อเป็นอีกหนึ่งต้นแบบสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
รอฮานี ดาโอ๊ะ ประธานองค์กรหัวใจดวงใหม่ NM Neo-Mind คีย์แมนคนสำคัญในการร่วมผลักดันและดำเนินงานในกลุ่มพื้นที่ จ.ปัตตานี มาตลอด 3 ปี เล่าถึงความน่าสนใจของโครงการปีนี้ว่า ถือเป็นการทำงานร่วมกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งยังไม่เคยมีหน่วยงานไหนเข้ามาจับต้องอย่างจริงจัง ครั้งนี้จึงเป็นต้นทุนสำคัญในการเริ่มสร้างความรู้และทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิต โดยการเจาะไปยังพื้นที่ 2 โรงเรียนแล้วทำงานในเชิงลึกมากขึ้น พร้อมวางแผนสร้างแกนนำและพี่เลี้ยงไว้คอยให้คำปรึกษา เพื่อให้ครูและเด็กร่วมเฝ้าสังเกตสุขภาพจิตตัวเองและผู้อื่นและให้ความช่วยเหลือกันและกันได้ในพื้นที่ ซึ่งตรงนี้จะเกิดขึ้นได้ผู้บริหารโรงเรียนต้องให้การสนับสนุนและครูต้องมีใจทำงานในเรื่องนี้
รอฮานี เล่าต่อถึงจุดร่วมของปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียนพบว่า อาการซึมเศร้าของนักเรียนและวัยรุ่นส่วนใหญ่มักถูกมองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ และครูหรือผู้ปกครองเองอาจยังมีองค์ความรู้ไม่มากนักจึงทำให้แยกแยะไม่ออกว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่านักเรียนมีอาการแพนิคหรือซึมเศร้า ซึ่งสาเหตุมาจากปัญหาสะสมหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งการเรียน ความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา การบูลลีในโรงเรียน การเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย ตลอดจนความยากจน ปัญหาปากท้อง และความพร้อมของครอบครัว ในขณะที่ครูเองก็ต้องรับมือกับความเครียดจากความทับซ้อนทางบทบาทความเป็นครู รวมถึงต้องเผชิญกับความกดดันจากทางโรงเรียนที่ต้องพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้ได้รับการยอมรับจากสังคมไปพร้อมกัน
สอดคล้องกับ ขนิษฐา มานะการ นักวิชาการอุดมศึกษา สมส. อีกกำลังสำคัญในการเดินหน้าโครงการครั้งนี้ เล่าถึงการลงพื้นที่โรงเรียนและพูดคุยกับครูทำให้พบกับอีกปัจจัยของปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่ คือครูมีความเครียดสูงมากจากภาระนอกเหนือหน้าที่อื่นที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น การอยู่เวรรักษาความปลอดภัย การทำอาหาร การเงิน พัสดุ งานเอกสาร ทำให้เกิดภาวะเบิร์นเอาท์ หมดไฟทำงาน ทำให้มองว่าถ้าหากครูยังมีความเครียดสะสมมากขนาดนี้ การไปดูแลสอนเด็กนักเรียนจะมีศักยภาพได้อย่างไร
“สมส.จึงวางแนวทางการขับเคลื่อนสุขภาพจิตโดยผสานไปกับงานพัฒนาคุณภาพโรงเรียน มีการนำองค์ความรู้อย่างการใช้จิตตปัญญา การมีชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC (Professional Learning Community) รวมถึงการใช้ระบบสารสนเทศ Q-Info ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. หน่วยงานพันธมิตรสำคัญที่ร่วมกับ ม.อ. พัฒนาโรงเรียนเพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของครูและบุคลากรด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ปัญหาสุขภาพจิตของครูและนักเรียน และช่วยสร้างเครือข่ายให้กับโรงเรียนได้ร่วมประสานงานกับคนหน่วยเล็กๆ ในชุมชน เช่น วิทยากรด้านสุขภาพจิตที่อยู่ในพื้นที่ เป็นต้น” ขนิษฐา อธิบายเพิ่ม
ด้าน ผศ.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า ผู้อำนวยการ สมส. เสริมต่อถึงแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพจิตว่า สิ่งที่เป็นตัวเชื่อมให้เกิดการขับเคลื่อนทุกอย่างต้องเริ่มจากครู เมื่อครูมีความสุขในการทำงาน นักเรียนจะมีความสุขในการเรียนรู้ นอกจากนี้ เราสามารถเชื่อมเรื่องสุขภาพจิตเข้าสู่การเรียนรู้ในทุกศาสตร์ ทั้งด้านศาสนา การเรียนสามัญ รวมถึงชีวิตจริง เมื่อนักเรียนรู้จักวิเคราะห์มากขึ้นก็จะขับเคลื่อนไปสู่ครอบครัว จากเดิมครอบครัวไม่กล้าคุยกับลูก กลายเป็นลูกกล้าคุยกับพ่อแม่ก่อน เมื่อทั้งครอบครัวได้เปิดใจต่อกันก็จะส่งต่อไปยังชุมชนและสังคม
นอกจากความร่วมมือของ 2 องค์กรในข้างต้น ความร่วมมือต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ฉายภาพให้เห็นชัดเจนว่าการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นไปด้วยความเข้าใจในบริบทของพื้นที่ โดยเฉพาะบทบาทด้านศาสนาที่สามารถบูรณาการเรื่องสุขภาพจิตเข้ากับหลักคำสอน และใช้เป็นเครื่องมือในการเยียวยา สร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ รวมถึงการอบรมและให้ความรู้แก่ผู้นำศาสนา ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลเป็นที่เคารพนับถือในชุมชน ผู้นำศาสนาสามารถเป็นกระบอกเสียงและพร้อมให้คำแนะนำแก่สมาชิกในชุมชนได้
อย่างไรก็ดี การสื่อสารและการให้บริการด้านสุขภาพจิต จำเป็นต้องคำนึงถึงการใช้ภาษาและวัฒนธรรมโดยรอบเพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ตลอดจนการเปิดใจยอมรับซึ่งกันในทุกมิติของสังคมชุมชน โดยไม่ถูกกีดกันอัตลักษณ์ในความหลากหลาย
โดยตัวแทนครูจาก โรงเรียนประสานวิทยามูลนิธิ จ.ปัตตานี หนึ่งในพื้นที่นำร่อง เล่าประสบการณ์ที่พบจากการทำโครงการว่า คำว่าเรื่องไม่เป็นเรื่องจริงๆ แล้วมีเรื่องซ่อนอยู่เสมอ หลังจากเข้าอบรมกับทีม NM Neo-Mind ทางโรงเรียนจึงจัดตั้ง “คลินิกฟรุ้งฟริ้ง” ศูนย์พักใจให้เด็กสามารถเข้าหาครูแกนนำที่พร้อมรับฟังด้วยความเข้าใจและไม่ตัดสิน คลินิกฟรุ้งฟริ้งกลายเป็นพื้นที่ช่วยเยียวยาสุขภาพจิตเบื้องต้นเสมือนทายาใจให้นักเรียน และหากพบว่าเด็กมีอาการหนักจะแจ้งประสานกับทีมจิตแพทย์ในพื้นที่ เช่น ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 หรือโรงพยาบาลทันที
ขณะที่ โรงเรียนจงรักสัตย์วิทยา จ.ปัตตานี เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างจิตวิทยาเชิงบวก P-E-R-M-A Model ทางโรงเรียนได้จุดประกายโครงการ “ล้มแล้ว ลุกได้ หากมีพลังบวก” เปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้สร้างสรรค์กิจกรรม โดยประยุกต์เข้ากับวิชาความรู้ เช่น ดาราศาสตร์ ศาสนา และศิลปะ จนเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะประจำปีที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในการช่วยสร้างความภูมิใจ สร้างคุณค่าในตัวเอง และการยอมรับจากสังคม โดยในอนาคตจะสร้างเครือข่ายที่พร้อมส่งต่อองค์ความรู้สู่โรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป
ด้าน โรงเรียนวัดนาหมอบุญ จ.นครศรีธรรมราช ได้รับความร่วมมือจาก จิรา ไพรัช ผู้อำนวยการโรงเรียน ผุดโปรเจ็กต์ กระบวนการจิตตปัญญา และ กระบวนการ PLC สร้างทีมงานบัดดี้ให้กับครูในการร่วมงานและช่วยเสริมแรงทางบวกแก่กัน หวังให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน มีพื้นที่สีเขียวที่สะอาดร่มรื่น มีมุมศิลปะ ห้องสมุด มุมเกมกระดานสร้างสัมพันธ์ และมุมกีฬา มีกิจกรรมจริยวัตรแห่งความดีงาม ตลอดจนการแสดงออกซึ่งความรักต่อกันภายในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมพลังให้เด็กแข็งแรงและอารมณ์ดี
ไม่ต่างจาก โรงเรียนบ้านปากบาง จ.สงขลา ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนอย่าง ศกลวรรณ สุขมี และ นาซอรี หวะหลำ ครูสอนศาสนา ที่เล่าถึงกระบวนการขับเคลื่อนสุขภาพจิตผ่านกลไกที่เชื่อมโยงกับการสอน โดยใช้โครงงานวิจัยด้านจิตเวช ระบบสารสนเทศ และการเชื่อมกับฐานชุมชน ด้วยหลักสูตร หัตถศิลป์ศึกษา เครื่องมือช่วยสร้างความไว้วางใจและความศรัทธาต่อกัน เมื่อชุมชนเป็นนักพัฒนาร่วมไปกับโรงเรียน การเปลี่ยนแปลงจึงเห็นได้ชัดเจนมาก ขณะที่กลไกด้านศาสนาที่ให้ความสำคัญกับจิตใจก็เป็นคีย์สำคัญ เพราะสอดคล้องกับเรื่องสุขภาพจิตโดยตรง ซึ่งผู้นำศาสนายังเข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางประสานแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อีกด้วย
พงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการโครงการ มสช. กล่าวถึงภาพรวมและการขยายผล โครงการขับเคลื่อนเชิงนโยบายภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น ว่า ตลอดการทำงานร่วม 6-7 เดือนที่ผ่านมาในปีนี้ ทำให้เราเห็นกลไกสำคัญจากการสะท้อนถึงคุณครูที่เชื่อมโยงกับนักเรียนและครอบครัว รวมถึงกลุ่มโรงเรียนสอนศาสนาที่ทำงานร่วมกับศูนย์ส่งเสริมสุขภาพจิต ซึ่งการถอดบทเรียนการทำงานของทุกแห่งจะนำไปสู่การขยายผลเชิงนโยบายระดับชาติ ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณในการสนับสนุนต่อไป
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา หนึ่งในภาคีหลักทิ้งท้ายถึงความพิเศษในงาน “เวทีสานพลังเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น” (Community Mental Health Forum) ในวันที่ 12 กันยายนที่จะถึงนี้ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจัดโดย มสช. และ สสส. ร่ามกับกรมสุขภาพจิต รพ.ศรีธัญญา และมูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ ว่า จะมีการพูดถึงภาพรวมของโครงการขับเคลื่อนเชิงนโยบายภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่นที่ผ่านมา และทำให้เห็นภาพใหญ่ร่วมกับกรมสุขภาพจิตเพื่อเดินหน้าประเด็นนี้ไปด้วยกันในอนาคต
“นวัตกรรมที่ได้เริ่มต้นด้วยกัน ตอนนี้มีการพิสูจน์แล้วว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมา พวกเราจะส่งไม้ต่อนี้ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป้าหมายในปีหน้า 2568 คาดว่าจะส่งมอบนวัตกรนักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชนเป็นของขวัญให้กับประชาชน หวังว่าทางภาครัฐและนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะมาช่วยคิกออฟให้เรา เพื่อให้งานด้านสุขภาพจิตครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” ผอ.รพ.ศรีธัญญา ระบุ