วันที่ 9 ก.ย.67 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นหลักฐานต่อ กกต. ขอให้พิจารณายุบพรรคการเมือง 4 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย , พรรคภูมิใจไทย , พรรครวมไทยสร้างชาติ , พรรคชาติไทยพัฒนา จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคของ 4 พรรค รวมถึงบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยเข้ามาพูดคุยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ซึ่งเป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21, 28, 29 โดยขอให้ กกต.สั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92

นายนพรุจ กล่าวว่า การที่นายทักษิณ เรียกแกนนำรักษาการรัฐบาลในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่ง เข้ามาพูดคุยในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อผลักดันให้นายชัยเกษม นิติศิริ เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 เท่าที่ประเมินดูนั้นนายทักษิณ คงกระทำการโดยเข้าใจว่าเป็นบิดาของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ระหว่างทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศจีน วันที่12-15 สิงหาคม จึงเรียกบรรดารัฐมนตรี หรือรักษาการรัฐมนตรีในขณะนั้น

ทั้งนี้นายทักษิณ เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นบิดาของนางสาวแพทองธาร ดังนั้นการกระทำการใดๆของนายทักษิณ ประหนึ่งเสมือนเป็นการกระทำของพ่อกับลูก แต่การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 ที่ระบุว่าพรรคจะต้องไม่ยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้ามาควบคุม ครอบงำสั่งการ ทำให้พรรคไม่สามารถดำเนินการได้โดยอิสระ ซึ่งนายทักษิณ ถือว่าเป็นบุคคลภายนอกไม่สามารถที่จะเข้าไปแทรกแซงหรือกระทำการใดๆ แต่ไม่ทราบว่าท่านไม่เข้าใจประเด็นนี้หรือไม่ จึงได้กระทำการดังกล่าว ซึ่งสงสัยว่าท่านกระทำในฐานะเป็นเจ้าของพรรค หรือเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค จึงมายื่นให้กกต. พิจารณาตรวจสอบในเรื่องนี้

“ระยะเวลาดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลก็ดี จะต้องมาพบนายทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าทุกครั้ง เมื่อครั้งที่นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีการเข้าพบปะมาหาในเหตุการณ์ต่างๆต่อเนื่องมา บ่งบอกชัดว่าการกระทำของนายทักษิณ ส่อไปในทางครอบงำ สั่งการ ควบคุม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าเขาเป็นเจ้าของพรรค ซึ่งมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง

รวมทั้งการเป็นบิดาของนางสาวแพทองธาร ย่อมมีอิทธิพลเหนือนางสาวแพทองธาร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมถึงเป็นอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยมาก่อน โดยทุกครั้งที่มีการจัดตั้งรัฐบาล หรือมีการออกนโยบายต่างๆที่พรรคเพื่อไทยดำเนินการอยู่นายทักษิณ เป็นผู้แสดงความคิดเห็นก่อนพรรคเสมอ เสมือนเป็นมติก่อนที่พรรคจะลงมติ” นายนพรุจ กล่าว

นายนพรุจ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้มีบุคคลขอสงวนนามมายื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย กรณีนายทักษิณ เข้าครอบงำพรรคชี้นำผู้บริหารทำให้ขาดความอิสระ ซึ่งตนได้แนบหลักฐานนี้มาด้วย จากการตรวจสอบข้อมูลมีความละเอียดครบถ้วนที่บ่งบอกว่านายทักษิณ ครอบงำพรรค นอกจากนี้การกระทำของนายทักษิณในขณะนั้นซึ่งเป็นนักโทษการเมืองที่ได้รับการพักโทษ ซึ่งตามระเบียบของกรมคุมประพฤติ กำหนดห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวการเมือง ซึ่งตนเคยเป็นนักโทษการเมืองที่ได้รับการพักโทษมาเช่นเดียวกัน ตนได้อ่านระเบียบของกรมคุมประพฤติมาทั้งหมด แต่นายทักษิณ ทำการฝ่าฝืนระเบียบ ซึ่งกรมคุมประพฤติจะต้องเป็นผู้ชี้แจงในประเด็นนี้

สำหรับในส่วนที่ขอให้ กกต.พิจารณายุบพรรคเพิ่มเติมอีก 2 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาชาติ และพรรคพลังประชารัฐ พบว่า หัวหน้าพรรคทั้ง 2 พรรคไม่ได้เดินทางเข้าพบ แต่ตามมาตรา 21 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุในวรรคท้ายว่า “เป็นที่ประจักษ์ว่ากรณีหัวหน้าพรรคไม่ได้ไปพบปะบุคคลภายนอก จะต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรมอบให้เลขาธิการพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งคนใดไป” ซึ่งในประเด็นนี้ตนเองไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือประกอบ เบื้องต้นจึงยังไม่เข้าข่าย แต่ถ้าเจ้าพนักงานพบหลักฐานหนังสือมอบอำนาจใดๆก็จะเข้าข่ายด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าพนักงาน กกต.ที่จะไปเสาะแสวงหา