วันที่ 9 ก.ย. 2567 เวลา 11.45 น.ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีข้อสังเกต หรือติดใจอะไรหรือไม่ ว่า เรื่องนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากดูจากเอกสารคำแถลงเปรียบเทียบกับรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีรอบที่แล้ว อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่โดยรวมมีข้อความที่พูดถึงประเด็นในลักษณะที่กว้าง ดังนั้นเพื่อความชัดเจน เราจะมีข้อซักถามเพิ่มเติมในที่ประชุมรัฐสภาในวันแถลงนโยบาย หากจะลงในรายละเอียดมากกว่านั้น ตนขอยืนยันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ต้องทำ 2 ทางคู่ขนานกันไป คือ 1.การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ซึ่งต้องยอมรับว่าโรดแมปของรัฐบาลที่วางไว้ว่า จะต้องมีการทำประชามติ 3 ครั้งนั้น แต่การจัดทำรอบแรกยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้ว อาจจะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้พร้อมกับกฎหมายลูกทันการเลือกตั้งปี 70

นายพริษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนตั้งคำถามคือ ประเด็นแรก มีการวางโรดแมปไว้อย่างไร ประเด็นที่สองหากจะเดินหน้าทำประชามติรอบแรกอย่างไร โดยการถามประชาชนว่า ‘ควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่’ และจะยังยืนยันคำถามตามที่คณะกรรมการที่นายภูมิธรรม เวชชชัยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเสนอมาหรือไม่ ซึ่งเรามองเห็นว่าเป็นการทำสร้างคำถาม 2 คำถามในคำถามเดียวกัน ที่อาจสร้างความสับสนในการลงคะแนนได้ เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลของนายเศรษฐามีการทบทวนคำถามดังกล่าวแล้ว และต้องรอดูว่าท่าทีของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร จะยืนยันตามคำถามเดิมหรือจะมีการปรับข้อความที่เปิดกว้างและชัดเจนมากขึ้น ประเด็นที่สาม ต้องดูว่ารัฐบาลจะเสนอหรือสนับสนุนให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% หรือไม่ เนื่องจากประเด็นนี้ไม่มีการระบุในเอกสารแถลงนโยบาย แต่หากอ้างอิงกันที่ผ่านมาจะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยเคยมีการเสนอในลักษณะนี้ แต่ไม่เคยได้คำยืนยันในนามคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลเลย

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า  2.การแก้ไขรายมาตรา เราไม่ได้บอกว่าต้องแก้ไขแทนที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องใช้เวลา 1-2 ปีขึ้นไป จึงมองว่าหากมีมาตราหรือประเด็นไหนในรัฐธรรมนูญปี 60 ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ก็ควรมีการเสนอแก้ไขรายมาตรา ทั้งนี้ พรรคประชาชนได้มีการเสนอไปแล้ว 3 ร่าง ซึ่งล้วนมีวัตถุประสงค์ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ทั้งการยกเลิกมาตรา 279 ป้องกันการเกิดรัฐประหาร และยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 25 ก.ย.นี้ และจากที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้มีการหารือกันว่า หากฝ่ายไหนต้องการจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นอื่นๆ ก็สามารถยื่นเข้ามาได้

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ ที่จะเกิดการประวิงเวลา จนไม่สามารถตั้ง ส.ส.ร. เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ นายพริษฐ์ กล่าวว่า หากมองในมุมกว้าง ตนไม่ได้ติดขัดใดๆ แต่ที่พรรคประชาชนยืนยันมาโดยตลอดคือปีศาจอยู่ในรายละเอียด คำถามคือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใครจะเป็นคนร่าง และมาจาก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% หรือไม่ แล้วท้ายที่สุดรัฐบาลวางโรดแมปไว้อย่างไร ให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ทันการเลือกตั้งปี 70 รวมถึงมีการสนับสนุนการแก้ไขรายตราที่มีปัญหาเร่งด่วนด้วยหรือไม่ส่วนคำตอบสุดท้ายที่พรรคประชาชนอย่างไรจากรัฐบาลคือ อยากได้โรดแมปที่ชัดเจนว่าจากวันนี้จนถึงวันที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการกำหนดระยะเวลาไว้อย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลนายเศรษฐาเคยสัญญาไว้ จะมีการทบทวนคำถามประชามติรอบแรกหรือไม่ และจะให้มี ส.ส.รที่มาจากการเลือกตั้ง 100% หรือไม่ รวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา คงต้องลงรายละเอียดในแต่ละประเด็น แต่วันที่ 25 ก.ย.นี้ จะได้เห็น. ยืนและท่าทีของสมาชิก ทั้ง สส.ฝ่ายรัฐบาลและ สว.ชุดใหม่ ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่ามีการทบทวนนำอำนาจหน้าที่และของศาลรัฐธรรมมนูญและองค์กรอิสระที่มีการขยายขอบเขตให้กว้างมากขึ้น หากเทียบกับรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ นายพริษฐ์ กล่าวว่า แน่นอนว่าอำนาจที่ถูกขยายมามีหลายส่วน เช่น การยุบพรรคที่อยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และอำนาจจริยธรรมที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ในรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันจากทุกฝ่าย แต่ฝ่ายไหนจะเสนอร่างแก้ไขกฎหมายอย่างไร และจะทันกรอบวันที่ 25 ก.ย.หรือไม่ คงต้องรอดูกันอีกที

เมื่อถามว่าพรรคประชาชนจะมีการเสนอร่างอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้น โฆษกพรรคประชาชา กล่าวว่า คงต้องมีการหารือกันภายในพรรคก่อน แต่หากจะมีการเสนอให้ทันในวันที่ 25 ก.ย.นี้ คงต้องมีการดำเนินการในระยะเวลาอันสั้นนี้ เพื่อให้ผ่านเข้าสู่ขั้นตอนการบรรจุลงระเบียบวาระทัน เราเชื่อมั่นว่า เราอยากเห็นการพูดคุย เรื่องการแก้ไขรายมาตราคู่ขนาน กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากขึ้น หากใครมีประเด็นที่อยากจะแก้ ซึ่งอาจไม่ทันวันที่ 25 ก.ย.นี้ ก็หวังว่าคงจะมีวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมในวันอื่น