หากกล่าวถึง “ปัญหาอาชญากรรม” ใน “สหรัฐอเมริกา” ตามสายตาของชาวโลกทั่วไป ก็ต้องถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเกิดอาชญากรรมจากการใช้อาวุธปืนกันแทบจะรายวัน
ถึงขนาดถูกยกให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีรายได้สูง ที่มีเหตุยิงกันตายมากที่สุด ระดับแถวหน้าของโลก
เรียกว่า เกิดเหตุอาวุธปืนยิงกันไม่แพ้สมรภูมิในสงครามกันเลยทีเดียว
ไม่เมืองโน้น ก็รัฐนี้ มีเหตุสาดกระสุนยิงกันอยู่เรื่อย แม้กระทั่งในโรงเรียน สถานการศึกษา ซึ่งน่าจะเป็นสถานที่ปลอดภัย หลายเหตุกราดยิง กระหน่ำยิงในสหรัฐฯ ก็ตกเป็นไปเป้ากระสุนปืนกันเสียนี่
แถมมิหนำซ้ำ เหตุยิงกันในแต่ละครั้ง ก็ทำให้มีผู้คนตาย-เจ็บจำนวนมิใช่น้อย
ส่วนผู้ก่อเหตุลั่นไก ก็มีหลากหลายช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ หรือวัยรุ่น วัยโจ๋ โดยมือปืนบางรายอายุอานามเพียง 14 – 15 ปี ก็มีเรื่องมีราวให้ยิงกันแล้ว
ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุกราดยิงที่โรงเรียนมัธยมศึกษา “อาปาลาชี” ในเมืองวินเดอร์ เขตบาร์โรว์เคาน์ตี รัฐจอร์เจีย ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย ในจำนวนนี้ เป็นเด็กนักเรียน 2 ราย และครู 2 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 9 ราย
โดยผู้ลงมือก่อเหตุเป็นเด็กนักเรียนชายมัธยมฯ ในโรงเรียนดังกล่าว อายุเพียง 14 ปี เท่านั้น ทราบชื่อในเวลาต่อมา คือ ด.ช.โคลท์ เกรย์
จากการสืบสวน สอบสวน อาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุเป็นปืนแบบ “เล็กยาวเออาร์ (AR-style)” คือ เป็นปืนยาวแบบไรเฟิล ไม่ใช่ปืนแบบปืนพกสั้น ซึ่งสามารถนำไปใช้อาวุธในการยิงจู่โจมได้ แตกต่างจากอาวุธปืนพกสั้นที่มีอานุภาพทำลายล้างด้อยกว่า
ที่มาที่ไปของอาวุธปืน ซึ่งเป็นทูตมรณะสังหาร ก็มาจากนายโคลิน เกรย์ ผู้เป็นบิดาของ ด.ช.โคลท์ เกรย์ นั่นเอง ซื้อปืนกระบอกนี้ให้เป็น “ของขวัญวันคริสต์มาส” เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว
ส่งผลให้พ่อ-ลูก ถูกดำเนินคดีในข้อหาฆาตกรรม และรู้เห็นเป็นใจ หรือส่งเสริมการก่อให้เกิดการฆาตกรรม และน่าจะถูกจำคุกไปตามระเบียบ
จากเหตุกราดยิงครั้งล่าสุดข้างต้น ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นสู่เวทีการเมืองของสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวทีการชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 (พ.ศ. 2567) ว่า สองผู้สมัครรับเลือกตั้งคนสำคัญ อย่างนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในฐานะผู้สมัครฯ จากพรรครีพับลิกัน จะมีนโยบาย หรือมีมาตรการอย่างไร ในการรับมือกับเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นอย่างแทบชนิดรายวันในสหรัฐฯ รวมถึงแนวทางการใช้เครื่องมือทางกฎหมายในการควบคุมอาวุธปืน อันเป็นอาวุธหลักที่ประหัตถ์ประหารชีวิตชาวอเมริกันกันแทบจะทุกวันนี้เช่นนี้ หากว่าผู้สมัครฯ ทั้งสองได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้
โดยรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ได้ถือโอกาสนี้ ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ย่านโธรว์แบ็คบริวเวอรี เมืองนอร์ทแฮมป์ตัน รัฐนิวแฮมป์เชียร์ แบบหลังเกิดเหตุกราดยิงที่รัฐจอร์เจียไม่กี่ชั่วโมงว่า พวกเราต้องหยุดเหตุการณ์ไม่ให้ลุกลามให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด สำหรับ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากอาวุธปืนในประเทศของพวกเรา และเหตุการณ์ความรุนแรงจากอาวุธปืนนี้ควรจบสิ้นไปได้แล้ว ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ
พร้อมกันนี้ ทั้งรองประธานาธิบดีแฮร์ริส และบรรดาทีมงานรณรงค์หาเสียงของพรรคเดโมแครต กล่าวเน้นย้ำว่า ทั้งรองประธานาธิบดีแฮร์ริส และพรรคเดโมแครต ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนในระดับต้นๆ นับตั้งแต่เริ่มแรกที่ได้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งแล้ว
รองประธานาธิบดีแฮร์ริส ยังกล่าวด้วยว่า หากเธอได้รับชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้นั้น ทางพรรคเดโมแครต ก็จะได้ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการระมัดระวังภัยจากอาวุธปืน ซึ่งในร่างกฎหมายนี้ ก็มียังมีเนื้อหารวมถึงการบังคับใช้ในการตรวจสอบประวัติผู้ซื้ออาวุธปืนในทุกกรณี และจะมีการห้ามจำหน่ายอาวุธปืนที่สามารถใช้ยิงแบบจู่โจม อย่างปืนไรเฟิลเออาร์ อันเป็นอาวุธปืนที่สร้างความสะเทือนขวัญชาวอเมริกันที่รัฐจอร์เจียครั้งล่าสุดด้วย
อย่างไรก็ดี รองประธานาธิบดีแฮร์ริส ระบุโดยเน้นย้ำว่า การดำเนินมาตรการระมัดระวังภัยจากอาวุธปืนข้างต้น จะต้องเป็นรูปแบบสมเหตุสมผล และไม่ได้หมายความว่า เป็นความพยายามที่จะยึดอาวุธปืนจากประชาชน
ขณะที่ ทางฟากของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้สมัครฯ จากพรรครีพับลิกันคู่แข่งนั้น ก็ได้ถือโอกาสเหตุกราดยิงดังกล่าว แสดงความเสียใจ และแสดงความเห็นใจต่อเหยื่อกระสุนข้างต้นเช่นกัน พร้อมเรียกมือปืนที่ก่อเหตุว่า เป็นสัตว์ร้ายบ้าคลั่ง
ส่วนจุดยืนเกี่ยวกับอาวุธปืนนั้น ซึ่งแม้ว่าอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เพิ่งถูกลอบยิงขณะปราศรัยหาเสียง จนได้รับบาดเจ็บที่ใบหูเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ไม่เปลี่ยนจุดยืนเกี่ยวกับแนวนโยบายว่าด้วยเรื่องสิทธิการเข้าถึงอาวุธปืนของชาวอเมริกันเท่าใดนัก ซึ่งยังเป็นเฉกเช่นเดียวกับก่อนที่เขาถูกลอบยิง โดยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุด้วยว่า การยึดอาวุธปืนของชาวอเมริกันไม่สามารถทำได้ เพราะเขาจะได้ไว้ใช้เพื่อการป้องกันตนเอง
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงแนวนโยบายของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ต่อเรื่องอาวุธปืนข้างต้นนั้น ก็ดูจะ “ได้ใจ” จากลุ่มชาวอเมริกันที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมอยู่มิใช่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่รัฐที่เป็นรัฐสมรภูมิ หรือแบทเทิลสเตท ที่ยังต้องการสิทธิในการถือครองอาวุธปืนอยู่
ดูเหมือนว่า ทางทีมงานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรครีพับลิกัน เห็นว่า เรื่องปัญหาความรุนแรงจากอาวุธปืน ไม่ใช่ประเด็นหลักในการตัดสินใจกาบัตรเลือกตั้งของกลุ่มชาวอเมริกันสายอนุรักษ์นิยมสักเท่าใดนัก และพวกเขาก็ไม่อยากจะถูกจำกัดสิทธิถือครอง และการซื้อหาอาวุธปืน โดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน หรือ 3 ล้านเสียงนั้น มองเรื่องปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและปัญหาจากผู้อพยพเข้าเมือง เป็นประเด็นหลักมากกว่า