กลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ตามรอยพ่อกาฬสินธุ์ รวมพลังเป็นนาแปลงใหญ่ พัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์ พร้อมตื่นตัวยกระดับสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง
นายพงษ์ศักดิ์ ศรีจำพลัง ประธานนาแปลงใหญ่ หมู่ 6 ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (ผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ตามรอยพ่อ) เปิดเผยถึงการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ข้าวว่า เมื่อก่อนสมาชิกกลุ่มต่างคนต่างทำนา ส่วนพันธุ์ข้าวที่นำมาปลูกก็จะหากันเอง ในแต่ละปีจะเอาพันธุ์ข้าวแบบเดิม ๆ พันธุ์ข้าวจึงไม่มีการพัฒนา และใช้งบประมาณจำนวนมากในการทำข้าวนาปี ประกอบกับราคาข้าวมีราคาต่ำลงทุกปี โดนกดราคาจากพ่อค้าที่มารับซื้อข้าว เพราะไม่มีอำนาจในการต่อรอง พ่อค้าให้ราคาเท่าไหร่ก็ต้องขายราคาเท่านั้น ทำให้เงินที่ลงทุนไป ไม่มีผลกำไร ประสบปัญหาขาดทุนทุกปี
ทั้งนี้ ในนามผู้นำชุมชนจึงคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะมีอำนาจในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งตอนนั้นทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ มีนโยบายพัฒนาสินค้าให้สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ผลผลิตที่ดี และได้เข้ามาแนะนำให้จัดตั้งกลุ่ม จึงมีการรวมกลุ่มพัฒนาพันธุ์ข้าว ในปี 2560 ตอนแรกจะเป็นการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยเพื่อพัฒนาข้าวอินทรีย์ หลังจากมีการรวมกลุ่มกันได้แล้วจึงมีการต่อยอดยกระดับเป็นกลุ่มนาแปลงใหญ่ โดยนำ 4 กลุ่มย่อยมารวมเป็น 1 กลุ่มใหญ่ บนพื้นที่ 250 ไร่ ในปี 2561
หลังจากมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อันดับแรกตั้งเป็นกลุ่มผลิตข้าว โดยทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ได้เข้ามาให้องค์ความรู้ เพื่อยกระดับพัฒนาสินค้าให้มีราคาขึ้นและยกระดับมาตราฐานจากข้าว GI มีการตรวจสอบที่มีมาตรฐาน ทำให้กลุ่มได้ยกระดับเป็นข้าวอินทรีย์ทำให้ข้าวมีราคา สำหรับข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเหนียว กข. 6 และมะลิ 105 เป็นหลัก จะมีข้าวเหนียวดอ รวมถึงข้าวกล้องด้วย
นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนเครื่องจักร รถเกี่ยวข้าว รถแท็กเตอร์ รถดำนา เครื่องมือในการเพิ่มผลผลิตทำให้กลุ่มมีการผลิตข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการนำข้าวพันธุ์ดีมาแปรรูปเป็นข้าวสารส่งขายตามตลาด ซึ่งมีออร์เดอร์เข้ามาเยอะมาก จนผลิตไม่ทัน ปัจจุบันส่งขายให้กับโรงพยาบาล ต่อไปพัฒนาเป็นขนมขบเคี้ยวที่ผลิตจากข้าวเหนียว ซึ่งเราได้รับการอบรมจากศูนย์มหาวิทยาลัยจังหวัดกาฬสินธุ์ หรือนำมาแปรรูปเป็นขนมจีน
“จากที่กรมการข้าวให้คำแนะนำ องค์ความรู้ยกระดับพัฒนาสินค้ามาตรฐาน และยกระดับข้าวจากที่ใช้ปุ๋ยเคมี มาเป็นข้าวอินทรีย์ ที่มีมาตรฐานจนได้รับรางวัลระดับประเทศ และจากที่ไม่เป็นกลุ่มกระจัดกระจาย ตอนนี้เป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง ถือว่ายกระดับได้ดีและมีรายได้เพิ่มขึ้น จากขายข้าวรายปีผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งถูกกดราคา ทำให้ขายข้าวได้ราคาดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ปีแรกรายได้อาจจะประมาณ 1 เท่าตัว แต่พอปี 2-3 จะทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัวอย่างแน่นอน นอกนี้ยังมีการปันหุ้นให้กับสมาชิกอีกด้วย”
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวถึงโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ว่า ถือเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ ปกติรายได้ของชุมชนไม่ค่อยเยอะเนื่องจากขาดทุนทุกปี สิ้นปีก็รับเงินปันผลขึ้นอยู่กับระเบียบว่าการแบ่งปันเงินหุ้นจะได้เท่าไหร่ คิดว่าโครงการฯ จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจากการประชุมสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ สมาชิกมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ทุกคน