วันที่ 7 ก.ย.67 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า  นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้จำคุก 8 ปี

รัฐสภาโหวตด้วยเสียง 482:165 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

- 23 สิงหาคม 2566 00.20 น

ย้ายตัวนายทักษิณ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง ออกซิเจนวัดที่ปลายนิ้วต่ำ พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหาจารุ แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจยืนยันว่านายทักษิณป่วยจริง และบอกว่า นายทักษิณ พูดยังพูดไม่ไหว

- 31สิงหาคม 2566

ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ นายทักษิณ ชินวัตรให้เหลือ 1 ปี

 

- 23 ตุลาคม 2566

นายทักษิณได้รับการผ่าตัด ที่แผนกศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลตำรวจ

 

- 18 กุมภาพันธ์ 2567

นายทักษิณ ได้รับการพักโทษ ได้กลับบ้านจันทร์ส่องหล้า หลังจากที่พักอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจมาโดยตลอด

 

- 29 พฤษภาคม 2567

อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร กรณีถูกดำเนินคดีตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

 

- 10 มิถุนายน 2567

นายทักษิณยื่นต่ออัยการ ขอความเป็นธรรมกรณี ถูกดำเนินคดีตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

 

- 18 มิถุนายน 2567

อัยการส่งตัวนายทักษิณยื่นฟ้องต่อศาลอาญา แต่ได้รับการประกันตัว หลักทรัพย์ 5 แสนบาท และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

 

- 20 กรกฎาคม 2567

นายทักษิณ ชินวัตร เดินไปพบปะกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล และนักการเมืองอื่นๆ เล่นกอล์ฟ และร่วมงานเลี้ยง ที่ Rancho Charnvee Resort ของลูกสาวคุณอนุทิน สื่อมวลชนตั้งชื่อปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า "ปฏิญญา เขาใหญ่"

 

- 7 สิงหาคม 2567

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล กรณีล้มล้างและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหาร 11 คน

 

- 14 สิงหาคม 2567

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(4) ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมาตรา 160(5) มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรกง ตามคำร้องของ 40 สว.

 

- 14 สิงหาคม 2567 ช่วงเย็น

แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมุ่งหน้าสู่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อประชุมตกลงเรื่องการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี แทนนายเศรษฐา ทวีสิน ข่าวแพร่สะพัดว่า จะเป็น นายชัยเกษม นิติศิริ

 

- 15 สิงหาคม 2567

พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดร่วมกันแถลงว่าจะเสนอชื่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

 

- 16 สิงหาคม 2567

สภาผู้แทนราษฎรมีมติด้วยคะแนน 319:145 ให้ นางาสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

 

- 17 สิงหาคม 2567

นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชทานอภัยโทษพร้อมกับนักโทษรายอื่นๆ ทำให้พ้นโทษทันทีก่อนกำหนดเดิม

 

- 18 สิงหาคม 2567

พิธีรับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นางสาวแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี

 

- 23 สิงหาคม 2567

นายทักษิณแสดงปาฐกถา ในงาน Dinner Talk : Vision Thailand จัดโดยสำนักข่าวเนชั่น มีนักการเมืองและนักธุรกิจ กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ไปร่วมงานกันอย่างคับคั่ง นายทักษิณแสดงปาฐกถา ที่มีเนื้อหาประหนึ่งว่าเป็นนโยบายรัฐบาลชุดใหม่

 

- 25 สิงหาคม 2567

มีบุคคลที่สงวนนาม ไปยื่นร้องต่อกกต.ให้ยุบพรรคเพื่อไทย สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่านายกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยยอมให้บุคคลครอบงำ ในการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ต่อมามีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นร้อง น.ส.แพทองธาร กรณีลาออกจากกรรมการบริษัท 20 บริษัท ว่าทำได้ภายในวันเดียวจริงหรือไม่ และล่าสุดยังยื่นคำร้องว่า นายทักษิณชินวัตรเป็นผู้ครอบครองนายกรัฐมนตรี และยังมีบุคคลที่สงวนนาม ยื่นคำร้องในประเด็นอื่นๆอีก เช่นกรณีตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรคไปร่วมประชุมที่บ้านจันทร์ส่องหล้า อันถือเป็นการที่พรรคการเมืองยอมให้บุคคลครอบงำ รวมทั้งหมดในปัจจุบันมีกว่า 10 คำร้อง

 

- 29 สิงหาคม 2567

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ตั้งโต๊ะแถลงว่า น้อยใจที่รับใช้พรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด แต่ถูกปฏิบัติเหมือนกับพรรคการเมืองทั่วไปที่มี ส.ส.เพียง 1 คน จึงแสดงหลักฐานว่าตนเองได้เคยขึ้นไปพบนายทักษิณ บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ถึง 2 ครั้ง แต่ยังไม่พูดชัดๆว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่

คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ มีมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ให้เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย โดยจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ 1 ตำแหน่ง และรัฐมนตรีช่วยว่าการ 1 ตำแหน่ง

 

- 4 กันยายน 2567

มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าแต่งตั้ง ครม.ชุด แพทองธาร ชินวัตร หลังจากที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติกันอย่างเข้มข้น เป็นผลให้มีบุคคล 2 คน ยอมสละสิทธิไม่รับตำแหน่ง 2 คน คนหนึ่งให้น้องเป็นแทน คนหนึ่งให้ลูกสาวเป็นแทน

 

พฤติกรรมต่างๆของนักการเมืองที่แสดงออกในช่วงเวลาที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า โดยรวม นักการเมืองบ้านเรายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเลย มีแต่จะแย่ลงและแย่ลง ยังคงเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ชาติ แต่ปากก็อ้างว่าทำเพื่อประชาชน คิดแต่จะเป็นรัฐมนตรีโดยไม่คำนีงว่าตัวเองมีสติปัญญาความสามารถแค่ไหน มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ยังดีที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ต้องการให้คนที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตและไม่มีจริยธรรม เข้ามาเป็นรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยทำให้การพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีมีบรรทัดฐานอ้างอิงได้ง่ายขึ้น ทำให้การจะเลือกใครเข้ามาเป็นรัฐมนตรีต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติกันมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

การที่มีผู้ที่จะได้เป็นรัฐมนตรีแต่ต้องถอนตัว หรือไม่เสนอชื่อ เพราะปัญหาเรื่องคุณสมบัติ คิดแต่เพียงว่าตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นสมบัติของตน จะยกให้ใครก็ได้ ยกให้น้องก็ได้ ยกให้ลูกก็ได้ ยกให้พ่อก็ยังได้ แทนที่จะหาคนที่มีสติปัญญาความสามารถเหมาะสมมาช่วยประเทศชาติ กลับยกให้ลูก ให้น้อง แต่นี่ไม่ใช่เป็นครั้งแรก เพราะการกระทำแบบนี้มีมาหลายรัฐบาลแล้ว เป็นการตอกย้ำว่า นักการเมืองเหล่านี้ เห็นแก่ประโยชน์ตัวเองมากกว่าประโยชน์ชาติ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีแต่จะเลวร้ายลงทุกวัน

แม้จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะรัฐมตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีในราชกิจจานุเบกษา มีข้อความดังนี้

" พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2567 แล้วนั้น

บัดนี้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน สืบต่อไปแล้ว ........ "

ข้อความเหล่านี้ย่อมมีนัยยะว่า นางสาวแพทองธารจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบบุคคลที่ตัวเองได้เลือกสรรให้เป็นรัฐมนตรี อย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเป็นอื่นได้

วันนี้บุคคลต่างๆ ต่างก็เปิดหน้าให้เราได้เห็นกันแล้วว่า ใครเป็นใคร เชื่อว่า ขบวนการปัดกวาดบ้านเมืองให้สะอาดเรียบร้อย บัดนี้ได้เริ่มทำงานแล้วครับ

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr