พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่เดิมเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเพาะปลูกทำการเกษตร โดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำปากพนังเป็นแม่น้ำสายสำคัญของลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งถือเป็นแหล่งปลูกข้าวชั้นดีของภาคใต้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองทุกๆ ด้าน จนเป็นที่รู้จักในชื่อ “เมืองแห่งอู่ข้าว อู่น้ำ”

ลุ่มน้ำปากพนังครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,200,000 ไร่ หนึ่งในปัญหาหลักของลุ่มน้ำปากพนักคือพื้นที่มีปัญหาดินเปรี้ยวจัด ที่มีพื้นที่กว่า 300,000 ไร่ ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มระหว่างสันทรายชายหาดเก่าทั้งสองสัน โดยน้ำทะเลมีอิทธิพลทำให้เกิดการตกค้างของแร่ไพไรต์ในดิน และเมื่อออกซิเดชันกับอากาศ จึงเกิดเป็นลักษณะของสารประกอบจาโรไซต์ ทำให้ดินเป็นดินเปรี้ยวจัด ส่งผลกระทบทางด้านผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่ กรมพัฒนาที่ดินได้เล็งเห็นถึงปัญหาของเกษตรกรจึงได้เข้ามาช่วยปรับปรุงบำรุงดินบริเวณลุ่มน้ำปากพนัง โดยดำเนินการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การเก็บตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ รวมทั้งการปรับปรุงดินโดยใช้ปูน เพื่อให้เกษตรกรทำประโยชน์ได้อีกครั้งหนึ่ง

โดยนายกฤษณะ รามสูตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถานีพัฒนาที่ดินนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า “งานที่ทางสถานีพัฒนาที่ดินนครศรีธรรมราชได้เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีหลายโครงการ ซึ่งในพื้นที่ดินเปรี้ยวนั้นจะมีอยู่สองกิจกรรมหลัก ๆ คือกิจกรรมการปรับปรุงพื้นที่ดินเปรี้ยวเพื่อปลูกข้าว โดยมีการไถนาและหว่านหินปูนฝุ่นก่อนจะทำการไถกลบ โดยทางสถานีพัฒนาที่ดินนครศรีธรรมราชจะเข้ามาดำเนินการทุก ๆ 3-4 ปี เพื่อให้ผลผลิตข้าวของเกษตรกรเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ได้ 300 ถึง 400 กิโลกรัมต่อไร่ กลายเป็น 700 ถึง 800 กิโลกรัมต่อไร่ และอีกหนึ่งกิจกรรม คือกิจกรรมปรับปรุงพื้นที่ดินเปรี้ยวเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการขุดคูยกร่องเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ดินเปรี้ยวของลุ่มน้ำปากพนังไปแล้ว กว่า 36,000 ไร่ ซึ่งผลผลิตที่ได้ไม่ต่ำกว่า 3.5 ตันต่อไร่ต่อปี หรือสูงสุดอยู่ที่ 6 ตันต่อไร่ต่อปี”

​​​​​​​ ​​​​​​​

การเข้ามาปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวในเขตลุ่มน้ำปากพนังของสถานีพัฒนาที่ดินนครศรีธรรมราช ช่วยให้พี่น้องเกษตรกร มีพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าวที่ดีขึ้น มีการปลูกปาล์มน้ำมัน ซี่งจากเดิมที่พี่น้องเกษตรกรปล่อยพื้นที่ให้รกร้างเนื่องจากปัญหาดินเปรี้ยว ไม่สามารถปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ได้ทำให้พื้นที่ตรงนี้กลับกลายมาเป็นพื้นที่ที่สร้างคุณค่า สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรและส่งต่อความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ให้กับคนในรุ่นหลังต่อไป