นางสาววิจิตรา แสงทอง ประธานแปลงใหญ่ข้าว หมู่ 6 ตำบลนาโก อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (กลุ่มข้าวเกษตรอินทรีย์เป็นสุข) เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ข้าวว่า พื้นที่ของเราเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเหนียว GI (Geographical Indication ) สามารถปลูกข้าวได้ดีที่สุดและมีคุณภาพ รวมถึงการปลูกข้าวพันธุ์อื่น ๆ เช่นข้าวหอมมะลิซึ่งส่งเข้าประกวดได้อันดับหนึ่งจากกรมการค้าภายใน เมื่อปี 2565 หลังจากนั้นจึงชวนเกษตรกรในพื้นที่มารวมกลุ่ม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากพอในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งที่ผ่านมาพ่อค้าคนกลางจะกำหนดราคาให้เรา ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการลงหุ้น กำไรจากการขายข้าวส่วนหนึ่งจะหักเข้าส่วนกลาง อีกส่วนหนึ่งก็นำมาแบ่งเป็นหุ้นให้กับเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรจะได้เงินปันผลตามหุ้นที่เขาลง  

 

การรวมกลุ่มเราเริ่มตั้งแต่ปี 2556 ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนก่อน มีจำนวนสมาชิกเพียง 15 ราย เริ่มทดลองปลูกข้าวเป็นข้าวออร์แกนิกข้าวพันธุ์สินเหล็ก กับข้าวหอมนิล เพื่อให้สมาชิกได้ทานเองเพราะอยากจะช่วยเหลือคุณหมอที่รักษาโรคเรื้อรัง เนื่องจากในพื้นที่มีผู้ป่วยเบาหวานเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้เกษตรกรมีสุขภาพดี เลยชวนกันมาปลูกและหาตลาดให้กับเกษตรกรได้มีพื้นที่ขาย  


จุดอ่อนของเกษตรกร คือ ปลูกแล้วไม่มีที่ขาย เราก็เลยมาแก้โจทย์ว่าถ้าเรามีพื้นที่ขาย จะต้องทำให้ดีและมีคุณภาพ ซึ่งนั่นก็เป็นกุญแจสำคัญก็เลยหาตลาด ตอนนั้นคุณหมอก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ได้ส่งเสริมให้ปลูกและรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร กิโลกรัมละ  25 บาท ทำให้เกษตรกรตื่นตัวที่จะปลูกข้าวและมารวมกลุ่มกันเพิ่มสมาชิกขึ้นทุกปี 

“จาก 15 คน เป็น 30 คน ปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 300 ราย ตอนนี้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้เรื่องการปลูกข้าว เรื่องการทำระบบ นอกจากนี้มีการทำแบบอินทรีย์  ซึ่งไม่เพียงแต่กิจกรรมรวบรวมข้าวเท่านั้น แต่จะทำเป็นศูนย์ข้าวชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ และสอนให้เกษตรกรได้เรียนรู้เรื่องการตัดพันธุ์ปน ทำเมล็ดพันธุ์ให้ได้คุณภาพเพื่อเก็บไว้ใช้เอง”  


ประธานแปลงใหญ่ข้าว หมู่ 6 กล่าวถึงโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ว่า เป็นโครงการที่ดีมาก ๆ เพราะว่าถ้าเรามีโครงการที่ช่วยสนับสนุนเกษตรกร และสามารถต่อยอดสินค้าที่มีอยู่ให้เป็นสินค้ามูลค่าสูงได้ อย่างเช่นทำน้อยได้มาก ให้เกษตรกรได้เรียนรู้ถึงการทำเกษตรแบบใหม่ เป็นเกษตรนักธุรกิจ ซึ่งทางกลุ่มได้พัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ทุก ๆ ปี กับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไซน์ปาร์ค ขอนแก่น อุทยานวิทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรมการข้าว หรือ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกาฬสินธุ์ และหน่วยงานภาคีในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มาช่วยส่งเสริมการพัฒนาการแปรรูป 


ขณะนี้มีอยู่ 2 ตัว คือ น้ำข้าวหมัก หรือ อามาซาเกะ (เครื่องดื่มจากข้าวที่เกิดจากการหมักข้าวกับโคจิ เชื้อราชนิดหนึ่ง (Aspergillus Oryzae) ที่คนญี่ปุ่นนำมาใช้หมักข้าวหรือถั่ว เพื่อให้เชื้อราชนิดนี้เข้าไปทำปฏิกิริยาสร้างเอนไซม์และแบคทีเรียดีให้กับคนกิน เราจะทำจากข้าวในพื้นถิ่น ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวที่เราปลูกในพื้นที่ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เน้นเพื่อสุขภาพ สามารถดื่มได้ทุกเพศทุกวัย เน้นในเรื่องของปรับสมดุลของลำไส้ ตอนนี้กำลังทำเป็นผง ชงดื่มช่วยยืดอายุการเก็บผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อการส่งออกในอนาคต โดยให้เกษตรกรมาเรียนรู้การทำน้ำข้าวหมัก และมาทำงานในโรงงานที่มีเครื่องจักรและมีการพัฒนาร่วมกับอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ขณะนี้ได้ประสานงานกับอาจารย์ที่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการแปรรูปจากประเทศญี่ปุ่นไว้เบื้องต้นแล้ว  


“ถ้าหากได้เครื่องจักร จะเป็นเรื่องดีมาก ๆ สำหรับเกษตรกร สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่มีราคาสูง ข้าว 1 กิโลกรัม สามารถทำน้ำข้าวหมักออกมาได้ 10 เท่าตัว เช่น ข้าว 300 กรัม ได้น้ำข้าวหมัก 10 ขวด ขายในราคา 59 บาท ซึ่งได้ทดลองขายแล้วและได้รับการตอบรับดีมาก แต่ปัญหาคือการยืดอายุผลิตภัณฑ์”
ขณะเดียวกันที่กลุ่มได้มีการต่อยอดทำขนมข้าวพองอบกรอบ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณและเครื่องจักร จากกาฬสินธุ์กรีนมาร์เก็ต ซึ่งเรามีเครื่องทำแผ่นและพัฒนาเป็นหน้าต่าง ๆ จำหน่ายในตลาด สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้าวหัก 1 กิโลกรัม ราคา 10 บาท ผลิตข้าวพองกรอบได้ 450 แผ่น  ใส่หน้าต่าง ๆ เช่นหมูหยอง ขายแผ่นละ 2 บาท  ถ้ายังไม่ทำหน้าขายแผ่นละ 50 สตางค์ เท่ากับว่าข้าวหัก 1 กิโลกรัม ราคา 10 บาท ขายได้ราคา 900 บาท  


ในฐานะประธานกลุ่มเห็นด้วยกับโครงการสินค้าเกษตรมูลค่าสูงมาก ๆ ว่า ถ้ามีโครงการดี ๆ แบบนี้ ช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องทำนาในพื้นที่มาก ซึ่งดูแลไม่ไหว เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย สามารถทำน้อยได้มาก เหมือนประเทศญี่ปุ่น ตอนนี้เกษตรกรที่มาอยู่กับเราเกือบ 15 ชีวิต ทำงานอยู่ในโรงงานของเรามาทำขนม เรียนรู้การทำระบบในโรงงาน

“กรมการข้าวเปรียบเสมือนพี่เลี้ยง ถ้าขาดพี่เลี้ยงคงชกไม่ชนะ เพราะให้โอกาสในการเรียนรู้ศึกษาเรื่องวิชาการและให้ได้ออกบูธทดลองขายสินค้า ให้งบประมาณพัฒนาเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เทียบกับว่ากรมการข้าวเป็นพี่เลี้ยงที่ดีมาก ๆ แม้กระทั่งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวก็เช่นกัน เราทำงานไปด้วยกันเกือบทุกวัน เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน และยินดีร่วมงานกับทุกหน่วยงานภาคี ยินดีที่จะรับฟังข้อเสนอแนะ ยินดีที่จะเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันเพื่อให้เกษตรกรไทยเรามีรายได้ที่ดีขึ้นและยั่งยืน” ประธานแปลงใหญ่ข้าว หมู่ 6 ตำบลนาโก กล่าว