หัวเว่ย ประเทศไทย ประกาศผลผู้ชนะ 8 คนจากโครงการ Seeds for the Future 2024 ซึ่งเป็นโครงการ CSR ระดับโลกที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง มุ่งพัฒนาทักษะ ICT และส่งเสริมการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม
พิธีปิดโครงการที่จังหวัดชลบุรี ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลและพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ในประเทศไทย ปีนี้นับเป็นปีแรกที่หัวเว่ย ประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมการเข้าค่ายเพื่อฝึกอบรมนอกสถานที่ ไม่เพียงแค่ให้ความรู้ทางด้านทักษะดิจิทัล แต่ยังจำลองสถานการณ์จริงสำหรับการแข่งขัน TECH4Good ที่นักศึกษาจะได้พบในระดับภูมิภาคที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการสร้างศักยภาพทางด้านวางแผนกลยุทธ์ นอกจากนี้การจัดกิจกรรมเข้าค่ายยังทำให้เห็นถึงบุคลิกภาพ และทัศนคติในการอยู่ร่วมกับคนหมู่มากในสังคมอีกด้วย
โครงการในปีนี้ เป็นการโชว์ศักยภาพและความสามารถของนักศึกษามหาวิทยาลัย 16 คน ที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้สมัครทั้งสิ้น 63 คน นักศึกษาเหล่านี้ได้แสดงทักษะด้าน ICT ที่ยอดเยี่ยม จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ และความหลงใหลในนวัตกรรมและเทคโนโลยีระหว่างการฝึกอบรม 1 วันที่สำนักงานใหญ่หัวเว่ย ประเทศไทย และกิจกรรมค่าย Seeds Boot Camp 2 วันที่ชลบุรี โครงการในปีนี้ยังมีแคมเปญ “Tech4Good” ซึ่งกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมพัฒนาโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
ผู้ชนะเลิศทั้ง 8 คน ได้แก่ นายศุภพล วงค์สวัสดิ์ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, นางสาวธวัลรัตน์ พิริยเลิศศักดิ์ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายยศวัต อุดมศักดิ์ไพบูลย์ และนางสาวนิชาภา ลี้สกุล จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนายพันธุ์ธัช สังข์แก้ว, นางสาวเขมพร กังวาลวัฒนศิริ, นายอาทินันท์ ตั้งเจียมศรี และนางสาวฐิติรัตน์ เจริญสวรรค์ จากวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พวกเขาจะเป็นตัวแทน Seeds ประเทศไทยในการแข่งขันระดับภูมิภาคที่ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 22-27 กันยายน 2567 นอกจากการแข่งขันแล้ว พวกเขายังจะได้ประสบการณ์ตรงจากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่มีคุณค่า
นายเอดิสัน สวี่ คณะกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราภูมิใจอย่างยิ่งกับนักนวัตกรรมรุ่นเยาว์เหล่านี้ ความหลงใหลและความทุ่มเทของพวกเขาคือพลังขับเคลื่อนอนาคตดิจิทัลของประเทศไทย หัวเว่ยยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเติบโตของผู้มีทักษะ ICT และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลของประเทศ”
นายธัชณวัฒน์ พิริยธนพัทธ์ ผู้จัดการทีม - สถาบันสตาร์ทอัพ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินของโครงการ กล่าวถึง ประโยชน์ของโครงการ Seeds for the Future ของหัวเว่ยต่อการพัฒนาทักษะดิจิทัลของประเทศไทยว่า “นักนวัตกรรมรุ่นเยาว์เหล่านี้ คือ กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลของประเทศ และช่วยประกันความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเศรษฐกิจดิจิทัลโลก สำหรับโครงการ Seeds for the Future 2024 ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ดีจากหัวเว่ย ในปีนี้ทางโครงการได้เพิ่มความเข้มข้นในการฝึกอบรมทางด้านทักษะการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อนำโครงการที่ผู้เข้าร่วมแข่งขันพัฒนาไปต่อยอดเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาทักษะในอีกรูปแบบใหม่”
นางสาวนิชาภา ลี้สกุล หนึ่งในผู้ชนะจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า โครงการ Seeds for the Future 2024 ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเกี่ยวกับเทคโนโลยีคลาวด์, 5G, IoT และ AI ทีมของเธอพัฒนาโครงการ Smart Rescue ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยทีมกู้ภัยในการตรวจคัดกรองและจัดหมวดหมู่ผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยในการจัดลำดับความสำคัญของผู้ป่วยและให้การรักษาที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ทีมของเราไม่ได้สร้างเทคโนโลยีใหม่ แต่ได้รวมเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน เราหวังว่าแนวคิดของเราจะได้ถูกนำไปใช้จริงในอนาคต” เธอกล่าว
นายพันธุ์ธัช สังข์แก้ว ผู้ชนะอีกคนจากวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการนี้มอบความรู้และข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเกี่ยวกับจุดแข็งและจุดอ่อนของเขา ประสบการณ์นี้จะช่วยเพิ่มทักษะดิจิทัลและความรู้ของเขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาคที่ประเทศจีนและการศึกษาในอนาคต ทีมของเขาพัฒนากล่องตรวจสอบวันหมดอายุของวัตถุดิบและส่งการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ไปยังสมาร์ทโฟน
ทั้งนี้จากโครงการต่างๆเช่น Seeds for the Future หัวเว่ยยังคงเสริมสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ความมุ่งมั่นของบริษัทในการสนับสนุนการเติบโตของมืออาชีพด้าน ICT สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเติบโตของประเทศไทย รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น
โดยนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในประเทศไทย ในปี 2551 โครงการ Seeds for the Future ได้มอบโอกาสให้กับนักเรียนนักศึกษาประมาณ 3,500 คน ในการเสริมสร้างความรู้ทางเทคโนโลยีและมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานจริง โครงการนี้ครอบคลุม 141 ประเทศทั่วโลก, มีผู้เข้าร่วมกว่า 18,000 คน และได้รับการสนับสนุนจากผู้นำรัฐและรัฐบาลมากกว่า 370 คน นอกจากนี้ หัวเว่ยยังให้โอกาสในการฝึกงานแก่นักเรียนไทยเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จริงและเทรนด์ในอุตสาหกรรม ICT อีกด้วย